ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไขข้อข้องใจ วางแผน "แหกคุก" มีความผิดหรือไม่

อาชญากรรม
20 มิ.ย. 63
08:29
4,605
Logo Thai PBS
ไขข้อข้องใจ วางแผน "แหกคุก" มีความผิดหรือไม่
"ปรเมศวร์" ชี้ คิดแหกคุกยังไม่เป็นคดีความ จะผิดต่อเมื่อพบความพยายามดำเนินการหลบหนี กฎหมายอาญากำหนดโทษสูง กรณีแหกคุกโดยใช้กำลังปทุษร้าย คุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม รองอธิบดีอัยการสำนักงานชี้ขาดคดีอัยการสูงสุด ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์กรณีมีรายงานข่าวการวางแผนหลบหนีของ พ.ต.ท.บรรยิน ตั้งภากรณ์ ผู้ต้องหาคดีอุ้มฆ่าพี่ชายผู้พิพากษาและคดีปลอมแปลงเอกสารโอนหุ้นนายชูวงษ์ แซ่ตั๊ง ว่า การคิดวางแผนหลบหนียังไม่ใช่การกระทำจึงยังเป็นคดีความ แต่หากเห็นว่าผู้ต้องหาพยายามหลบหนี เช่น ตัดโซ่หรือจัดอุปกรณ์ที่ใช้หลบหนี คือ การเริ่มลงมือกระทำ จะเกิดความผิดซึ่งมีบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ และกฎหมายอาญา

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบบทบัญญัติในกฎหมายที่เกี่ยวข้องพบการกำหนดโทษกรณีผู้ต้องหาหลบหนี ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ผู้ใดหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังตามอำนาจของศาล ของพนักงานอัยการ ของพนักงานสอบสวน หรือของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวมาในวรรคแรกได้กระทำโดยแหกที่คุมขัง โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง

ส่วน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับการกำหนดโทษของผู้ต้องหาที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำ กำหนดไว้ใน “หมวด 7 วินัยและบทลงโทษ”

มาตรา 68 ผู้ต้องขังผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานเรือนจํา ข้อบังคับเรือนจํา หรือระเบียบกรมราชทัณฑ์ ให้ถือว่าผู้ต้องขังผู้นั้นกระทําผิดวินัย

มาตรา 69 เมื่อผู้ต้องขังกระทําผิดวินัย จะถูกลงโทษสถานหนึ่งสถานใด ดังนี้

(1) ภาคทัณฑ์

(2) งดการเลื่อนชั้นโดยมีกําหนดเวลา

(3) ลดชั้น

(4) ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อไม่เกิน 3 เดือน เว้นแต่เป็นกรณีการติดต่อกับทนายความตามที่กฎหมายกําหนด หรือเป็นการติดต่อของผู้ต้องขังหญิงกับบุตรผู้เยาว์

(5) ลดหรืองดประโยชน์และรางวัลทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือบางอย่าง

(6) ขังเดี่ยวไม่เกิน 1 เดือน

(7) ตัดจํานวนวันที่ได้รบการลดวันต้องโทษ

ในกรณีและเงื่อนไขอย่างใดจะลงโทษดังระบุไว้ในวรรคหนึ่ง การดําเนินการพิจารณาลงโทษ การลงโทษ การเพิกถอน เปลี่ยนแปลง งด หรือรอการลงโทษ และการอุทธรณ์ รวมทั้งผู้มีอํานาจ ในการดําเนินการดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง