วันนี้ (9 พ.ย.2562) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้รับแจ้งจากเว็บไซด์ ThaiWhales.org ว่า พบบาดแผลฉกรรจ์ที่ขอบปากทั้ง 2 ข้างของ "แม่ทองดี" วาฬบรูด้าที่พบในอ่าวไทยตอนบน
เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากภาพถ่าย (Photo ID) พบเป็นแม่ทองดี มีแผลลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ แผลมีขนาดใหญ่ที่ขอบปากทั้ง 2 ข้างและใกล้ตา ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ โดยสันนิษฐานว่าสาเหตุของแผลครั้งนี้มาจากการพันรัดของเชือก หรือเอ็นขนาดเล็ก

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายสุรศักดิ์ ทองสุกดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทช. ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ได้รับแจ้งจาก ThaiWhales ว่าพบวาฬมีบาดแผลขนาดใหญ่ที่ขอบปากทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเป็นจุดที่ใกล้กับตา แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าบาดแผลจะเข้าไปถึงตาหรือไม่ คาดว่าบาดแผลนี้อาจเกิดจากเครื่องมือประมง
ส่วนการติดตามดูอาการของแม่ทองดี อาจต้องรอฟังข่าวจากคนที่พบเห็นและแจ้งเข้ามา เนื่องจากว่าเมื่อวาฬได้รับบาดเจ็บจะระวังตัวมากขึ้น ประกอบกับคลื่นลมในทะเลช่วงนี้มีกำลังแรงจากมรสุมที่พัดปกคลุมอ่าวไทย จึงอาจทำให้วาฬเคลื่อนย้ายไปหาอาหารในพื้นที่อื่นและทำให้การติดตามดูอาการเป็นไปได้ยากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม วาฬมีความสามารถในการฟื้นตัวสูง ซึ่งก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการสมานแผล

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวชมวาฬ และชาวประมง ช่วยกันสอดส่องดูแล หากพบวาฬบรูด้าชื่อแม่ทองดี ให้สังเกตพฤติกรรมและถ่ายภาพติดตามบาดแผล พร้อมวันที่และพิกัดที่พบ ส่งข้อมูลได้ที่เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และขอให้ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติในการท่องเที่ยวชมวาฬอย่างเคร่งครัด
ข้อมูลจากเว็บไซด์ ThaiWhales.org ระบุว่า "แม่ทองดี" สำรวจพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 ก.ย.2555 มีลักษณะเด่นคือ ครีบหลังโค้ง เว้า ปลายแหลม มีจุดสังเกตที่ลายขอบปากด้านขวา แม่ทองดีมีลูก 2 ตัว ตัวแรกคือเจ้าท่องสมุทร ตัวที่ 2 คือเจ้าทองเอก ตั้งชื่อโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน โดย ThaiWhales สำรวจพบเมื่อวันที่ 13 ก.ย.2560
ทั้งนี้ โดยทั่วไปการระบุตัววาฬมีจุดสังเกตที่ครีบหลังเป็นสำคัญ เพราะเป็นส่วนที่โผล่พ้นน้ำทุกครั้งที่หายใจ ส่วนตำหนิหรือร่องรอยบนตัวมีทั้งที่ถาวรและที่จางหายไปได้