"ปั่นป่วน"และ "สะเทือน" ทั่วทุกมุมโลก หลัง "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศสงครามการค้ากับนานาประเทศ กระทบไทยไม่น้อยหลังถูกตั้งกำแพงภาษี เรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% จากนโยบาย "อเมริกา ต้องมาก่อน (America First)" สร้างความวิตกกังวลให้กับวงการธุรกิจและนักทุน ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ยกเว้น แม้แต่อเมริกาชนที่ออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุการขึ้นภาษีไม่ได้กระทบแค่ประเทศคู่ค้า แต่ยังส่งผลต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเมื่อสินค้าขยับปรับราคาทุกประเภท

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศที่ได้ดุลดารค้าสหรัฐฯ
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศที่ได้ดุลดารค้าสหรัฐฯ
สำหรับประเทศไทย ถือว่าเกิดความคาดหมายที่ถูกทรัมป์เรียกเก็บภาษีสูงถึง 36% จากเดิมที่คาดการณ์ว่า ไทยอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีเพียง 5-10% เท่านั้น โดยไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯกว่า 3.22 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯในปี2566 ซึ่งสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯมาก ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ยาง สินค้าเกษตร และอาหาร เป็นต้น
แน่นอน ! การประกาศเก็บภาษีไทย ส่งผลสะเทือนทั่วทั้งตลาดเงิน ตลาดทอง รวมถึงตลาดหุ้นที่วันนี้ (8 เม.ย.2568) เปิดตลาดมาในช่วงเช้า ดัชนีตลาดหุ้น ไทยร่วงถึง 46.94%หรือ -4.17% หรือร่วงลง 1,078.27 จุด มูลค่าซื้อขาย 4,631.29 ล้านบาท และปิดภาคบ่าย ร่วงลงมาที่ 50.62 จุด หรือลบ 4.50% หรือร่วงลง 1,074.59 จุด มูลค่าซื้อขายทั้งวันที่ 66,714.48 ล้านบาท จนทำให้โบรกเกอร์ต้องออกมาปรับเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยลง

สงครามการค้า ตัวการ "ฉุด" ตลาดหุ้น-ทอง ร่วง
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ไทยพีบีเอสออนไลน์” ถึงแนวโน้นตลาดหุ้นไทยในขณะนี้ว่า ปัจจัยที่ฉุดให้ตลาดหุ้นไทยร่วง เกิดจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีประเทศคู่ค้า และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกปรับขึ้นภาษี อาจจะมีผลกระทบมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว เศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการส่งออก
อย่างไรก็ตาม หากดูภาพของจีดีพีอาจจะรู้สึกว่า การส่งออกลบนำเข้า คิดเป็น 5%ของจีดีพี เท่านั้น แต่ถ้าดูเป็นภาพของการส่งออกรวม คือ 70% ของจีดีพี และสิ่งที่ซ่อนอยู่หลังตัวเลขนี้ คือ กิจกรรมการผลิตของอุตสาหกรรมและการจ้างงาน ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหดหายไปแสดงว่า กิจกรรมการผลิตและการจ้างงานจะมีสัดส่วนที่หดตัวลง

ส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็น 18% ของการส่งออกร่วมสถานการณ์ที่ผันผวนในขณะนี้ และตอบยากมากว่า ภาพการส่งออกไทยจะเป็นอย่างไร เพราะว่า ตัวแปรจะทบกันไปหมด การส่งออกของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลง จากภาษีที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันการที่ไทยทำข้อตกลงนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯมากขึ้น และต้องไปลดการซื้อของประเทศอื่นลง ซึ่งประเทศอื่นก็ทำเช่นนั้นกับไทยเช่นกัน จึงตอบยากว่า ปีนี้ภาพของการค้าโลกซึ่งปีที่ผ่านมามีการเติบโตแต่ปีนี้จะชะลอตัวลงหรือติดลบในระดับไหน
รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี กล่าวว่า สำหรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบแน่นอน คือ กลุ่มที่เกี่ยวกับการส่งออก เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อาหาร ที่มีรายได้จากสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง รวมถึงกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เนื่องจากทุกคนเจอการเปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทำให้ทุกอย่างชะงักงันไปหมด ผู้ที่เคยคิดจะย้ายฐานกำลังการผลิต จะลดความเสี่ยงจากจีนและลดเป้ามายจากสหรัฐฯได้ ต้องคิดใหม่ทั้งหมดเพราะตอนนี้สหรัฐฯเล่นแม้กระทั่งการสวมสิทธิของสินค้าเพื่อส่งไปยังสหรัฐฯ และถ้าเป็นเช่นนี้ โรงงานจีนที่จะย้ายฐานการผลิตก็อาจจะทำเช่นนั้นไม่ได้

ภาพของการลงทุนต่างๆ จะชะลอออกไปทั้งหมด หรือแม้แต่ผู้ที่ทำระบบคราวด์และดาต้าเซ็นเตอร์ก็ประกาศชะลอการลงทุนเช่น ไมโครซอฟ ขณะเดียวกันโรงงานต่างๆที่เคยย้ายฐานการผลิตคิดจะกระจายความเสี่ยงหรือลดความเสี่ยงได้ กลายเป็นว่าอาจจะไม่ใช่ ทำให้นิคมอุตสาหกรรมอาจจะชะลอเช่นกัน เพราะไม่มีทางรู้เลยว่า ถ้ามีตกลงซื้อขายที่ดินยังไม่ได้เซ็นสัญญาในขั้นสุดท้าย โอกาสที่จะไม่เกิดการซื้อขาย-ไม่โอน มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้
แนะนักลงทุนปรับพอร์ต-กระจายความเสี่ยง
ในส่วนของตลาดหุ้นไทย มองว่า ส่วนใหญ่ถ้าสถานการณ์เกิดความนิ่งหรือเจอจุดที่แย่ที่สุดหรือยัง วันนี้อาจจะรู้สึกว่าการประกาศตัวเลขขึ้นภาษีของทรัมป์น่าจะเป็นตัวเลขที่สูงสุด และจากนี้ไป หากมีการไปเจราจาต่อรองอาจจะเป็นตัวเลขที่ลดลงหรือไม่ได้สูงตามที่ประกาศไว้ ปัญหาของสหรัฐฯ เมื่อประกาศพร้อมกันทั่วโลกเป็นไปได้ว่า ทรัมป์อาจจะไม่ได้ต้องการให้ประเทศต่างๆเจอภาษีสูงอย่างที่ประกาศไว้ แต่ยังเปิดข่องให้มีการเจรจาได้ หรืออาจจะรอประ เทศต่างโดนภาษีไป1-2เดือนแล้วตัวเลขส่งออกมีการชะลอตัว แล้วร้อนใจที่จะมาเจรจา

ตัวเลขที่เห็นอาจจะเป็นตัวเลขที่สูง ซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นปัจจัยลบให้กับเศรษฐกิจไทย ขณะเดียวกันแบงก์ชาติอาจจะต้องเข้ามาดูแลความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคิดว่า สิ่งที่เราจะเห็นของสถานการณ์นี้ คือ ทิศทางการปรับจีดีพีของศูนย์วิจัยต่างๆที่เราจะได้เห็นจากเดิมมีการคาดการณ์จีดีพี2.8-2.9% แต่ตัวเลขใหม่น่าจะอยู่2%บวกลบ และอาจจะต่ำกว่านี้ ถ้ามีภาพของการชะลอของการค้าโลกเพิ่มขึ้นมา
ดังนั้น การที่จีดีพีไทยปรับตัวแรง จะไปกระทบกับธนาคารพาณิชย์ เพราะว่าสินเชื่อของธนาคารขึ้นกับจีดีพี ซึ่งเมื่อจีพีปรับลดลงสินเชื่อก็ลงแรงกว่าจีดีพี ขณะเดียวกันสถานการณ์เศรษฐกิจที่จะทำให้กนง.ปรับดอกเบี้ยนโยบายก็จะไปกระทบกลุ่มธนาคารพาณิชย์โดยตรง เพราะเวลาปรับลดดอกเบี้ยก็จะทำให้สวนต่างของดอกเบี้ยของธนาคารหดตัวลงมาด้วย ดังนั้นที่ธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) ตลาดเริ่มรับรู้ว่าจะปรับจีดีพีและการปรับดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นกนง.ลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ส่วนการปรับตัวของนักลงทุนควรทยอยปรับพอร์ตลงทุน แต่ปัญหา คือ ต้องไปดูว่าพอร์ตมีอะไรอยู่บ้าง ถ้าเป็นหุ้นที่อิงเศรษฐกิจโลก หรือ อิงการส่งออกที่เป็นปัจจัยภายนอกมีความไม่แน่นอน ก็อาจจะได้รับผลกระทบที่มาก หรือถ้าเป็นหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศ หรือ มีลักษณะของความปลอดภัยไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจก็จะมีผลกระทบที่น้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม ภาพของหุ้นไทยมีความไม่แน่นอน จากนโยบายของภาครัฐ เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้าจะเป็นกลุ่มที่แข็งแกร่ง แต่ความไม่แน่นอนของการที่รัฐ บาลมีแนวคิดที่จะมาเจรจาการปรับลดค่าต่าง ๆ กับกลุ่มผู้ประกอบการ กลายทำให้กลุ่มโรงไฟฟ้ามีความไม่แน่นอนกับนโยบายของรัฐ เป็นต้น
นักลงทุนอาจจะมีเงินสดและทยอยเข้าซื้อ ปรับพอร์ตการลงทุน ลดสัดส่วนการถือหุ้น หรือปรับหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากการค้าออก เพราะเราก็ยังไม่สามารถตอบได้ว่าสถานการณ์จะผ่านจุดที่แย่ที่สุดไปหรือยัง หรือเมื่อไหร่ และอาจะเน้นหุ้นที่ให้ปันผลตอบแทนที่สูง ระหว่างที่รอทุกอย่างคลี่คลาย ขณะเดียวกันต้องทำใจยอมรับว่าความไม่แน่นอนตรงนี้ด้วย

สงครามการค้าป่วนตลาดหุ้นทั่วโลกไม่เว้นไทย
ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ วิเคราะห์อีกว่า ความปั่นป่วนและแรงเทขายครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นทั่วโลกจะยังคงหนุนค่าเงินดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินของประเทศ กําลังพัฒนาในเอเชียรวมถึงเงินบาท และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะผันผวนสูงขึ้น โดยแผนเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) สำหรับคู่ค้า 60 รายของสหรัฐฯ ซึ่งกําหนดอัตราภาษีครอบจักรวาล 10% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมา และอัตราภาษีที่สูงแตกต่างกันไปเป็นรายประเทศ ซึ่งประเทศไทยถูกเรียกเก็บภาษี ถึง 36% โดยทุกประเทศที่มีการเรียกเก็บภาษีจะมีผลวันที่ 9 เม.ย.นี้
การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้ สั่นคลอนการเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯเตือนว่า Reciprocal Tariff อาจเพิ่มขึ้นอีกหากประเทศต่างๆตอบโต้ เพิ่มความเสี่ยงที่สงครามการค้าโลกจะขยายวง

ในทางกลับกัน ทรัมป์ระบุว่าเปิดกว้างสําหรับการเจรจาต่อรองกับทุกประเทศ และยินดีที่จะลดภาษีหากคู่ค้าลดภาษีนําเข้าสินค้าสหรัฐฯและกำจัดอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร แม้ท่าทีล่าสุดของทรัมป์ทำลายความหวังเกี่ยวกับการผ่อนปรนมาตรการภาษีในระยะสั้น ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าติดตามสัปดาห์นี้ ได้แก่ เงินเฟ้อเดือนมีนาคมของสหรัฐฯรวมถึงรายงานประชุมเฟด
สำหรับปัจจัยในประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 0.84% และหลุดกรอบเป้าหมายธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่ากลุ่มสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าเกษตรที่ไทยเตรียมนำเข้าจากสหรัฐฯอาจทำให้ราคาในประเทศลดลง เรามองว่ามีโอกาสสูงขึ้นมากที่ทางการจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงขณะที่ไทยเผชิญช็อคทางเศรษฐกิจจาก Reciprocal Tariff ที่รุนแรงเกินคาด

KKP ปรับลดเป้าดัชนี SET ปีนี้ เหลือ 1,230 จุด
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยกำลังเผชิญแรงกดดันจากปัจจัยมหภาคหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้า นโยบายการเงินที่ยังคงตึงตัว และแรงกดดันจากมาตรการภาษีระหว่างประเทศ ส่งผลให้ปรับลดเป้าหมายดัชนี SET ปี 2025 ลงเหลือ 1,230 จุด จากเดิม 1,460 จุด ซึ่งสะท้อนอัพไซด์เพียง 5% จากระดับปัจจุบัน นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังมีความเสี่ยงที่ดัชนีจะปรับระดับลงไปทดสอบ 1,000 จุด ซึ่งอาจกระตุ้นให้ภาครัฐต้องออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ (policy panic)
ตลาดหุ้นถูกปัจจัยมหภาคกดดันต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยถ้าไม่นับการท่องเที่ยว อยู่ในภาวะถดถอยติดต่อกัน 9 ไตรมาส EPS และ GDP ยังโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยการเติบโตระยะยาวตั้งแต่ช่วงโควิด นโยบายการเงินที่ตึงตัวและประสิทธิผลของนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลงซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นตลาดที่มีผลตอบแทนแย่ลงในปีนี้

ทั้งนี้ เกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าดัชนี SET อาจร่วงลงไปที่ 1,000 จุด จากความเสี่ยงของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (growth shock) ในไตรมาส 2/2568 เช่น การท่องเที่ยวที่อ่อนแอ การส่งออกที่ถูกท้าทายจากแรงกดดันจากมาตรการภาษี ภาคการบริโภคที่อ่อนแอ และการลงทุนที่ซบเซา
ในขณะที่แรงหนุนเดียวที่อาจช่วยพยุงตลาดได้คือ การที่นักลงทุนกลับเข้าซื้อเมื่อมูลค่าตลาด (valuation) อยู่ในระดับที่ถูกเกินไปหากเทียบกับมูลค่าพื้นฐานซึ่งประเมินว่าอยู่ที่ระดับ P/E 10-11 เท่า หรือที่ดัชนี SET 1,000 จุด หรือการที่ผู้กำหนดนโยบายออกมาตรการกระตุ้นอย่างเร่งด่วนและเร็วกว่าที่คาด

คาดการณ์ว่า กนง.จะผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมช่วงกลางปี ซึ่งอาจช่วยให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรขยายตัว (yield curve steepening) และหนุนดัชนี SET ได้
อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 เม.ย.นี้จะเป็นวันสำคัญสำหรับการประชุม กนง. ซึ่งอาจมีนโยบายเร่งด่วนออกมา หากเกิดขึ้นจริง อาจเกิดแรงหมุนเวียนจากหุ้นปลอดภัยไปสู่หุ้นกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับประโยชน์ เช่น หุ้นที่มีภาระหนี้สูง (AWC, ERW, IRPC, GPSC) ซึ่งจะได้รับประโยชน์เป็นกลุ่มแรกกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก อุตสาหกรรมที่อิงกับการบริโภค (รวมถึงสื่อ) สินเชื่อนอกระบบ และอสังหาริมทรัพย์

ตลาดหุ้นต่างประเทศ
ตลาดหุ้นต่างประเทศ
ไตรมาส 2 ตลาดหุ้นผันผวน-เสี่ยงสูง
ทั้งนี้ เกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า ดัชนี SET ยังมีโอกาสปรับตัวลงต่อ เนื่องจาก P/E ปัจจุบันที่ 12.2 เท่า ยังคงสูงกว่าระดับ 10-11 เท่าที่จะถือว่าถูกจริงดังนั้นคาดว่าความผันผวนจะยังสูง โดยเฉพาะในไตรมาส 2/2568 ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เช่น การเจรจาภาษี ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่อาจกดดันให้ภาครัฐออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนักลงทุนควรติดตามปัจจัยมหภาคอย่างใกล้ชิด และปรับกลยุทธ์ตามภาวะตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในปีนี้
ขณะที่กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) วิเคราะห์ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 34.40-35.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 34.20 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 33.85-34.44 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 10 สัปดาห์

ขณะที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ ขณะที่ตลาดหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ ท่ามกลางความวิตกว่านโยบายภาษีศุลกากรที่แข็งกร้าวเกินคาดของประธานาธิบดีทรัมป์จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการค้าโลก
โดยเฉพาะหลังจากจีนประกาศตอบโต้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯดิ่งลงและสัญญาดอกเบี้ยล่วงหน้าบ่งชี้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) อาจต้องเร่งลดดอกเบี้ยในปีนี้แม้อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นและตัวเลขจ้างงานยังดีเกินคาดก็ตาม การย้ายกระแสเงินทุนสู่แหล่งพักเงินที่ปลอดภัยหนุนเงินเยนสู่ระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 6,971 ล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 14,989 ล้านบาท

"ตลาดทองคำ" โดนสอย ร่วงแรงต่อเนื่อง
ขณะที่ตลาดทองคำเองก็ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนถึงสงครามการค้าที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้น “ฮั่วเซ่งเฮง” วิเคราะห์ว่า นักงทุนมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับสงครามการค้าที่ยังคงไร้ข้อยุติ โบรกเกอร์หลายเจ้าจึงออกมาปรับเพิ่มเป้าหมายราคาทองคำในปีนี้ขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่า ราคาทองคำในตลาดนิวยอร์กปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
โดยมีสาเหตุหลักมาจากความตึงเครียดในสงครามการค้า จีนได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ถึง 34% เพื่อตอบโต้การปรับขึ้นภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยมาตรการดังกล่าวจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.นี้

แม้ว่าราคาทองคำจะผันผวนในช่วงนี้ แต่หากมองภาพรวมตั้งแต่ต้นปี ราคาทองคำที่เร่งตัวขึ้นได้รับแรงหนุนจากการซื้อทองคำของธนาคารกลางและความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลก และเป้าหมายของราคาทองในปีนี้ ซึ่งสถาบันการเงินหลายสำนักเริ่มทยอยกันออกมาปรับเป้าขึ้น
ประธานเฟด ห่วงนโยบายภาษี "ทรัมป์"ทำเงินเฟ้อ
นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ อาจกระทบเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงก่อนหน้า ทั้งในด้านเงินเฟ้อและการเติบโตที่ชะลอตัว จากข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นเกินคาดที่ 228,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราว่างงานขยับขึ้นเป็น 4.2% ตลาดคาดว่าเฟดอาจชะลอการลดดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลกดดันราคาทองคำ เนื่องจากทองคำไม่มีดอกเบี้ยตอบแทน

โดยตั้งแต่ในปี2565 ที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ธนาคารกลางทั่วโลกจึงเริ่มลดการถือครองเงินสกุลดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศลง เพื่อลดความเสี่ยงจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ปริมาณการเข้าซื้อทองคำโดยธนาคารกลางทั่วโลกจึงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปี2567 ธนาคารกลางทั่วโลกได้ซื้อทองคำรวม 1,045 ตัน และคาดว่าในปีนี้ความต้องการทองคำจากธนาคารกลางจะยังคงเพิ่มขึ้น เนื่องจากความเสี่ยงของการด้อยค่าของเงินดอลลาร์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ราคาทองที่ปรับขึ้นแรงและเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงปลายปีที่แล้ว ทำให้โบรกเกอร์ออกมาปรับเพิ่มเป้าหมายราคาทองคำในปีนี้ขึ้น โดยโกลด์แมน แซคส์ คาดว่าราคาทองคำจะแตะ 3,300ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ จากเดิมที่คาดไว้ที่ 3,100ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เนื่องจากการไหลเข้าของกองทุน ETF ที่แข็งแกร่งและความต้องการจากธนาคารกลางที่ยังคงสูง ส่วน Bank of America คาดว่าราคาทองคำอาจแตะ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ฮั่วเซ่งเฮง คาดทองคำทะลุ 3,360 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์
ขณะที่ฮั่วเซ่งเฮง คาดการณ์ราคาทองคำในปีนี้จะอยู่ที่ 3,360 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ โดยอ้างอิงจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจเข้าสู่ช่วงของการถดถอย ส่งผลทำให้ราคาทองคำมีแนวโน้มปรับขึ้น เนื่องจาก เฟด อาจต้องทำการลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถดถอย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความต้องการของทองคำขึ้น เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย และยังสามารถป้องกันความเสี่ยงได้ดี
แค่ทรัมป์ ขยับประกาศจะเก็บภาษี ทั่วโลกยังสะเทือนขนาดนี้ คงต้องติดตามในวันพรุ่งนี้ ( 9 เม.ย.2568)ว่าจะมีผลต่อสินค้าที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯและจะสร้างความเสียหายในแง่ของมูลค่ากับผู้ผลิตและเศรษฐกิจไทยอย่างไร นับจากนี้ต้องรอดูว่า "ทีมไทยแลนด์" ที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นมา จะทำหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรีในตัวแทนประเทศไทย ในการเจรจาเพื่อรักษาประโยชน์ของชาติให้ได้มากกว่าเสียอย่างไร
อ่านข่าว:
เปิดขั้นตอน “ทรัมป์” เก็บภาษีไทย 9 เม.ย.ขึ้น 36% เว้นสินค้าที่ลงเรือแล้ว
ไทยสะเทือน “ทรัมป์”ขึ้นภาษี ทุบเศรษฐกิจพัง 3.59 แสนล้าน GDP เหลือ 1.93%
ทรัมป์ ขึ้นภาษี ไทยสูญ 8 พันล้าน เอกชนจี้ "เพิ่มนำเข้า-เจรจา FTA"
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ตลาดหุ้นโลก
- ตลาดหุ้นไทย
- ตลาดหุ้นเอเชีย
- ตลาดทอง
- ตลาดทองโลก
- ตลาดทองคำ
- ค่าเงินบาทอ่อน
- ค่าเงินบาท
- เงินบาทผันผวน
- ทรัมป์
- ทรัมป์เก็บภาษีไทย 36 %
- ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี
- ทรัมป์ขึ้นภาษี
- นโยบายทัมป์
- ทรัมป์ trump tariff
- ทรัมป์2.0
- สงครามการค้าโลก
- สงครามการค้าจีนสรัฐ
- สงครามการค้ารอบใหม่
- Trade war
- เทรดวอร์
- ศูนย์วิจัยกรุงศรีฯ
- ศูนย์วิจัยเกียรตินาคินภัทร
- บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี
- รายงานเศรษฐกิจ
- รายงานพิเศษวันนี้
- ข่าวเศรษฐกิจวันนี้
- ข่าวเศรษฐกิจล่าสุด
- ข่าววันนี้
- เจาะข่าวจริงกับไทยพีบีเอส
- เจาะข่าวจริงกับไทยพีบีเอส