ปัจจุบันนักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยยังไม่กล้าฟันธงว่า จริง ๆ แล้ว "โดนัลด์ ทรัมป์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องการอะไรจากการประกาศทำสงครามการค้ากับทุกประเทศทั่วโลก จะเป็นเพียงกลยุทธ์ในการเจรจาการค้า เป็นความพยายามในการทวงคืนสิ่งที่ทรัมป์เรียกว่าความยุติธรรม หรือว่ามีแผนการที่ใหญ่กว่านั้น และจีนคือเป้าหมายที่ผู้นำสหรัฐฯ จ้องเล่นงานจริงหรือไม่
กระทรวงพาณิชย์จีน ออกแถลงการณ์คัดค้านคำขู่ของผู้นำสหรัฐฯ ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มอีก 50% พร้อมทั้งประกาศว่าจะดำเนินมาตรการตอบโต้ เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของจีน หากสหรัฐฯ ยกระดับการทำสงครามกำแพงภาษี ซึ่งจีนระบุว่าการคุกคามของผู้นำสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นอีกครั้งถึงนิสัยการชอบขู่กรรโชก หรือแบล็กเมล์
ขณะที่โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน ย้ำว่า จะไม่มีผู้ชนะในสงครามการค้า พร้อมทั้งระบุว่ากลยุทธ์ในการกดดันและข่มขู่ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการเจรจากับจีน นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการกำแพงภาษีที่ทำกับจีนฝ่ายเดียวทั้งหมด หยุดกดขี่จีนทางเศรษฐกิจและการค้า รวมทั้งหันมาแก้ปัญหาผ่านการเจรจาอย่างเท่าเทียมบนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน
ท่าทีล่าสุดของจีนมีขึ้นหลังจากทรัมป์ออกมาประกาศว่า จะไม่ระงับการบังคับใช้กำแพงภาษีตามที่สื่อบางสำนักรายงานก่อนหน้านี้ พร้อมทั้งขู่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มอีก 50% ด้วย ซึ่งจะทำให้สินค้าจากจีนถูกเก็บภาษีสูงถึง 104% หากจีนไม่ยอมหยุดใช้มาตรการตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกัน 34%
มองย้อนไปในสงครามการค้ายกแรก สหรัฐฯ เริ่มเปิดศึกกับจีนในเดือน ก.ค.2018 หรือ 1 ปีครึ่ง หลังจากทรัมป์นั่งเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก ก่อนที่ทั้งสองประเทศจะเริ่มเปิดการเจรจาและลงนามข้อตกลงการค้าเฟส 1 ในวันที่ 15 ม.ค.2020 โดยตลอดระยะเวลาประมาณ 17 เดือนของสงครามการค้า สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีนทั้งหมด 6 ระลอก ตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 25% ในสินค้าหลายประเภท
แต่ว่าระลอกที่ 6 ในเดือน ธ.ค.2019 ถูกยกเลิก หลังจากการเจรจาระหว่างสองประเทศกำลังไปได้สวย ซึ่งสงครามกำแพงภาษีที่เกิดขึ้นกระทบกับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่สินค้าอเมริกันที่โดนมาตรการตอบโต้จากจีน มีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แม้ว่าการตอบโต้ทางภาษีกันไปมาระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะเคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้วในสงครามการค้ายกแรก ซึ่งจีนเองก็ตอบโต้สหรัฐฯ ในทุกระลอก แต่มาตรการตอบโต้ที่จีนเลือกใช้ในสงครามรอบนี้แตกต่างกันพอสมควร โดยเฉพาะมาตรการล่าสุด อย่างการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ทุกชนิด 34% ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป หรือ 1 วัน หลังจากสหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงสุด 54%
นักวิเคราะห์หลายคน มองว่า นับตั้งแต่การเดินเกมขึ้นภาษีนำเข้าในศึกยกแรก จนกระทั่งถึงมาตรการตอบโต้ในช่วงแรก ๆ ของศึกยก 2 จีนยังคงก้าวเดินอย่างระมัดระวังและเลือกโจมตีเป้าหมายเฉพาะจุด อย่างภาคเกษตรกรรมในรัฐที่เป็นฐานเสียงของรีพับลิกันและทรัมป์ เพื่อเปิดทางให้ทั้งสองประเทศยังพอเจรจาพูดคุยกันได้
แต่การประกาศเดินหน้าต่อสู้จนถึงที่สุดโดยไม่ยอมถอยของจีน สวนทางกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ที่ยอมอ่อนข้อให้กับสหรัฐฯ ได้สร้างความกังวลว่ามหาอำนาจโลก 2 ประเทศ จะหาทางลงให้กันได้อย่างไร และสถานการณ์ตึงเครียดนี้จะยกระดับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่ หลังจากจีนระบุว่าการข่มขู่คุกคามไม่ใช่วิธีที่ได้ผลที่จะทำกับจีน ในขณะที่ทรัมป์ประกาศยกเลิกการหารือใด ๆ กับจีนเกี่ยวกับกำแพงภาษี
หนึ่งในเป้าหมายของการตั้งกำแพงภาษีของทรัมป์ คือ การเพิ่มเงินในกระเป๋าของรัฐบาล แต่ในความเป็นจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น ยกตัวอย่างสงครามการค้ายกแรก โดยนับตั้งแต่สองชาติเริ่มเปิดศึกในปี 2018 จนถึงปลายปี 2019 สหรัฐฯ มีรายได้จากการเก็บภาษีสินค้าจีนประมาณ 66,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่มาตรการตอบโต้ของจีนส่งผลให้เกษตรกรอเมริกันสูญเสียลูกค้ารายใหญ่ จนทำให้ทรัมป์ต้องอนุมัติเงินช่วยเหลือ 28,000 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2018-2019 ขณะที่ในปี 2020 รัฐบาลต้องประกาศอุ้มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและวิกฤตโควิด-19 อีก 2 ระลอก ในเดือน เม.ย. และ ก.ย. ดังนั้นเงินสนับสนุนเกษตรกรของสหรัฐฯ รวมทั้งหมดอยู่ที่ 61,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 92% ของรายรับที่สหรัฐฯ ได้จากภาษีนำเข้าสินค้าจีน ซึ่งเทียบกันแล้ว สหรัฐฯ แทบไม่ได้เม็ดเงินอะไรติดไม้ติดมือกลับมาเลย
นอกจากนี้ งานวิจัยหลายชิ้น รวมถึงผลการศึกษาของ Center on China's Economy and Institutions ของมหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐฯ เกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าในปี 2018 ชี้ว่า ภาษีที่สหรัฐฯ เก็บจากการนำเข้าสินค้าจากจีน ถูกผลักให้เป็นต้นทุนสินค้าที่ผู้บริโภคชาวอเมริกันต้องแบกรับเองทั้งหมด
ขณะที่ผู้ส่งออกสินค้าจีน ก็ได้รับผลกระทบหนักจากการสูญเสียตลาดในสหรัฐฯ เช่นกัน ซึ่งการหาตลาดใหม่เพื่อระบายสินค้าก็ไม่ได้ง่าย ส่งผลให้จีนส่งออกลดลงและมีรายได้ลดลงตามมาด้วย
สงครามการค้ายกที่แล้ว จีนหาทางหลบหลีกมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยอาศัยประเทศกำลังพัฒนาชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานการผลิตแทน รวมทั้งยังใช้เป็นตลาดรับซื้อสินค้าด้วย แต่สงครามการค้ายกนี้ที่ทั้งโลกต่างก็โดนกระสุนภาษีกันไปถ้วนหน้า คือการบีบให้จีนเหลือเพียงทางเลือกเดียวใช่หรือไม่
ไม่ว่าทรัมป์จะทำเพื่อหยุดการขูดรีดอเมริกา หรือตั้งป้อมล้อมกรอบเพื่อโจมตีจีน แต่ที่แน่ ๆ และเกิดขึ้นแล้ว คือประเทศเล็ก ๆ กำลังถูกบดขยี้จากมาตรการภาษีอย่างจัง
วิเคราะห์ : ทิพย์ตะวัน ธีรนัยพงศ์
อ่านข่าว : ถอดถอน "ทรัมป์" บันทึกหน้าใหม่หรือบทเรียนที่อเมริกาไม่เรียนรู้ ?