วันนี้ (14 พ.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า แม้จะมีฝนตกช่วงนี้ แต่ฝนจะเริ่มลดลงในปลายเดือน พ.ค. และน้อยลงในเดือน มิ.ย. เนื่องจากการเปลี่ยนฤดูกาลและฝนจะมีน้อยที่สุดในเดือน ก.ค. ซึ่งจะเกิดภัยแล้งในฤดูฝนขึ้น
สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยคือภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้นลำน้ำชี ลำน้ำพุง ภาคตะวันออก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เพชรบุรี โดยจะมีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 10-20
ส่วนสถานการณ์การเพาะปลูก ในระหว่างนี้ชาวนาเริ่มปลูกข้าวกันบ้างแล้ว ที่เหลืออยู่ระหว่างรอการประกาศการเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ดังนั้นในช่วงที่ฝนตกน้อยเดือน มิ.ย.-ก.ค. เป็นฝนทิ้งช่วง ข้าวในนาที่เริ่มปลูกเหล่านี้เสี่ยงเสียหาย จึงจำเป็นต้องระบายน้ำจากเขื่อนมาช่วย
โดยน้ำที่จะสามารถระบายเพื่อช่วยเหลือได้จะมาจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิต์ ที่มีผลจากพายุฤดูร้อน มีน้ำเข้าเขื่อนมากถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร มากกว่าที่ระบายออกก่อนหน้านี้ที่ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังเป็นห่วงในลุ่มน้ำแม่กวง ที่มีปริมาณน้ำน้อยมาก ฝนจากพายุฤดูร้อนไม่เข้าเขื่อน จะส่งผลให้พื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน มีภาวะแล้งจัด ซึ่งต้องให้กรมฝนหลวงเข้าช่วยเหลือ
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปัญหาน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีต่ำกว่าปริมาณน้ำที่ใช้การได้กว่าร้อยละ 10 มีความจำเป็นต้องสูบน้ำก้นเขื่อนขึ้นมาใช้อีก ทำให้ไม่สามารถประกาศยกเลิกเขตพื้นที่ภัยแล้ง 7 จังหวัด และพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ 12 จังหวัดในขณะนี้ได้
ส่วนช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.จะมีพายุเข้าไทย ประมาณ 1-2 ลูก ซึ่งต้องเร่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในฤดูแล้งปีหน้า ที่คาดว่าจะรุนแรงมากกว่าปีนี้