วันนี้ (24 เม.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครง การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองทัพเรือ จัดงานแถลงข่าวเรื่อง “ครั้งแรกของโลก…นักวิทย์ไทยเพาะปะการังชนิดโต๊ะแบบพุ่มด้วยสเปิร์มแช่เยือกแข็ง”
รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ กลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ในการนำสเปิร์มของปะการังโต๊ะแบบพุ่ม Acropora humilis มาผ่านกรรมวิธีการแช่เยือกแข็งในไนโตรเจนเหลว และนำกลับมาผสมใหม่กับไข่ปะการัง
ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกในปะการังโต๊ะชนิดนี้ และได้มีการตีพิมพ์ลงในวารสารวิจัยระดับนานาชาติแล้ว
ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวเป็นการทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยชาวไต้หวันด้วย ความสำเร็จของการนำสเปิร์มของปะการังมาผ่านกรรมวิธีการแช่เยือกแข็งนั้น จะช่วยทำให้สามารถเก็บรักษาสเปิร์มได้นานขึ้น และสามารถนำมาผสมกับไข่ปะการังได้ใหม่ในช่วงเวลาและฤดูกาลที่ต้องการและเหมาะสมต่อไป
การนำเทคนิคใหม่มาใช้โดยการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็งนั้น จะทำให้ผสมพันธุ์ปะการังได้ปีละหลายครั้ง ป้องกันการสูญพันธุ์ของปะการัง หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ทำให้ปะการังหลายชนิดไม่สามารถปล่อยเซลล์สืบพันธุ์ และผสมกันตามธรรมชาติเองได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง หาดูยาก วันแรม 5-6 ค่ำ “ปะการังปล่อยไข่-สเปิร์ม”ปีละครั้ง
ดังนั้นการผสมเทียม รวมทั้งการนำเทคนิคการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็งมาใช้ จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ โดยปกติอัตรารอดของปะการังที่มาจากการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ ตามธรรมชาติมีค่าประมาณ ร้อยละ 0.01 หรือต่ำกว่า ขณะที่ในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศด้วยวิธีการผสมเทียมดังกว่า มีอัตราการปฏิสนธิของปะการังสูงกว่าร้อยละ 98 และมีอัตรารอดขณะทำการอนุบาลในระบบเลี้ยงจนมีอายุประมาณ 2 ปี ที่ร้อยละ 40–50
สำหรับกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ได้มีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาเทคนิคการเพาะพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศ โดยนำไข่และสเปิร์มของปะการังมาผสมในระบบเพาะฟัก (การผสมเทียม ) ประสบความสำเร็จในปี 2549 และหาแนวทางในการอนุรักษ์ และฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรมภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมของโลกนำตัวอ่อนปะการังที่ผลิตได้จากการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีดังกล่าวในแต่ละปีมาศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการอนุบาลตัวอ่อนปะการังภายในระบบเลี้ยงก่อนที่จะนำกลับคืนถิ่นสู่ทะเล
สำหรับโครงการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศแบบผสมเทียม และการเก็บสเปิร์มโดยการแช่เยือกแข็ง ของกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง มี รศ.ดร.วรณพ วิยกาญจน์ หัวหน้าภาควิชาวิทยา ศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ เป็นผู้รับผิดชอบและดำเนินการโครงการ โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจาก หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ภายใต้ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จนถึงปัจจุบัน โครงการฯ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการจากหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่สำคัญ โครงการฯ สามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของนิสิตและผู้ช่วยวิจัยทุกคนจากกลุ่มการวิจัยชีววิทยาแนวปะการัง ทั้งที่สำเร็จการศึกษาแล้ว รวมถึงผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษาทุกระดับ ทั้งปริญญาตรี โท และ เอก ร่วม 50 ชีวิต และปัจจุบัน กลุ่มการวิจัยฯ ได้ให้ความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในการนำวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการฟื้นฟูแนวปะการังในประเทศไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทช.เกาะติดฤดูปะการัง "ปล่อยไข่และสเปิร์ม"