วันนี้ (4 เม.ย.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังคณะทำงานเพื่อพิจารณาราคายาและเวชภัณฑ์ กระทรวงพาณิชย์ เปิดให้โรงพยาบาลเอกชน 353 แห่งและผู้ผลิต ผู้นำเข้ายาและเวชภัณฑ์ บริการทางการแพทย์ 339 ราย ยื่นข้อมูลราคาซื้อขายยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ จนถึงขณะนี้มีรายงานว่ามีผู้เข้ายื่นข้อมูลดังกล่าวเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะประธานคณะทำงานฯ ระบุว่า หากวันนี้ (4 เม.ย.) ยังไม่ส่งข้อมูลมาคงต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 18 อย่างเด็ดขาด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับขั้นตอนหลังจากได้รับข้อมูลจากโรงพยาบาลต่างๆ แล้ว คาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ คณะทำงานฯ จะมีการประชุมนำข้อมูลมาวิเคราะห์โครงสร้างของต้นทุนเพื่อออกมาตรการกำกับดูแล สร้างความโปร่งใสและเป็นธรรม ทั้งผู้ป่วย และโรงพยาบาลเอกชน โดยมาตรการดังกล่าวจะมีทั้งการแสดงราคายา เวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนได้รับทราบและต้องเห็นชัดเจน
นอกจากนี้ ราคาที่เผยแพร่จะต้องสอดคล้องกับต้นทุนราคาซื้อ-ขายที่ได้ส่งมาให้ โดยต้องไม่คิดราคา โดยนำเอาค่าใช้จ่ายอื่นๆ มารวมด้วย เช่น ค่าซื้อที่ดิน ค่าเภสัชกร ค่าเก็บสต็อก เป็นต้น
สำหรับสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงพยาบาลยังไม่ส่งข้อมูลซื้อ-ขายมาให้พิจารณา ส่วนหนึ่งอ้างว่าไม่สามารถแยกราคายาออกจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้ ซึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมกับผู้ป่วย รวมถึงการสั่งจ่ายยา แพทย์จะต้องสั่งจ่ายยาโดยระบุทั้งชื่อทางการค้าและชื่อทางวิทยาศาสตร์ด้วย เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาไปซื้อจากภายนอกโรงพยาบาลได้
และเมื่อคณะทำงานได้ข้อสรุปเรื่องมาตรการกำกับดูแลยาแล้ว ก็จะมีการเสนอให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลราคายา ยาและเวชภัณฑ์พิจารณาเห็นชอบ ก่อนเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) พิจารณาต่อไป
ซึ่งเมื่อ กกร.เห็นชอบก็จะออกประกาศให้โรงพยาบาลเอกชนต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นจะถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 หากขายยาราคาสูงเกินจริงจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ