วันนี้ (8 มี.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในแต่ละเดือน กรมบัญชีกลางจะต้องโอนเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 ล้านบาท คิดเป็นปีละประมาณ 40,000 ล้านบาท ไม่รวมมาตรการสวัสดิการรอบพิเศษ รองรับผู้ถือบัตรกว่า 14.5 ล้านคน ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง จึงลงนามความร่วมมือกับคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อออกแบบและพัฒนาโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยจะใช้หลักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม มาวิเคราะห์ข้อมูลผู้ลงทะเบียน เพื่อปรับปรุงแบบลงทะเบียน ตลอดจนข้อเสนอในการทบทวนมาตรการสวัสดิการในบัตร คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 3-4 เดือน ซึ่งทันกำหนดเปิดลงทะเบียนรอบใหม่ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า สศค.จะนำผลการศึกษาดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาทบทวนมาตรการสวัสดิการในบัตร โดยเฉพาะวงเงินค่าใช้จ่ายในบัตร สำหรับร้านธงฟ้าประชารัฐ เดือนละ 200-300 บาท ว่าเพียงพอหรือไม่ และตั้งเป้าหมายออกแพกเกจสวัสดิการตามรายพื้นที่ หรือรายภูมิภาค เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ถือบัตรมากที่สุด พร้อมวางแผนจะปรับเกณฑ์คุณสมบัติผู้ลงทะเบียน โดยใช้ข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น เช่น การนำรายได้ครอบครัวมาคำนวณ รวมทั้งพฤติกรรมการใช้จ่ายและจำนวนบัตรเครดิตประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งรัฐบาลใหม่ไม่สามารถยกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากพระราชบัญญัติกองทุนประชารัฐฯ ผ่านความเห็นชอบแล้ว แต่หากรัฐบาลต้องการปรับเพิ่มวงเงินส่วนใด มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับ และกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลาง จะทยอยยุติการจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการ แต่ละมาตรการตามเวลาที่กำหนด โดยส่วนลดค่าน้ำ ค่าไฟ จะจ่ายถึงเดือนเมษายนนี้ เป็นงวดสุดท้าย แต่ผู้ลงทะเบียนรอบ 2 จะได้รับเงินส่วนนี้ รวมทั้งค่าเช่าบ้านสำหรับผู้สูงอายุถึงเดือนกันยายน 2562 เป็นงวดสุดท้าย ตามข้อจำกัดงบประมาณ