ภาพของ “เสือดาว” ที่กำลังเดินอยู่บนถนน เส้นทางลงจากแคมป์บ้านกร่าง ภายในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 13 สร้างความตื่นเต้นให้กับกลุ่มผู้สื่อข่าวที่ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางปรับปรุงถนนขึ้นพะเนินทุ่ง เมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา
เสือดาวตัวนี้ เป็นเสือดาวที่มีรูปร่างสมบูรณ์แข็งแรง ขนาดโตเต็มวัย ลำตัวมีสีลายจุดสีน้ำตาล อมเหลืองทอง อย่างสวยงาม เดินอยู่ริมทางอย่างไม่ตื่นตระหนก ซึ่งนายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ระบุว่า เสือดาวมักจะออกมาหากินในช่วงเวลาโพล้เพล้ หรือช่วงหัวค่ำ ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีรถนักท่องเที่ยววิ่งผ่านไปมา ช่วงนี้เริ่มออกมาปรากฏตัวให้เห็นบ่อยครั้ง
ตื่นเต้นมากที่มีโอกาสเจอตัวเสือดาวตัวนี้อย่างใกล้ชิด แค่ 300 เมตร เสือตัวนี้มีท่าทีเชื่อง และคุ้นชิน ไม่ขู่คำราม อยู่ตรงนั้นประมาณ 15 นาที สร้างความตาตื่นใจมาก
เสือดาว หรือ เสือดำ เป็นเสือชนิดเดียวกัน ลูกเสือที่เกิดใหม่ในครอกเดียวกัน อาจมีลูกเสือได้ทั้งสองชนิดคือเสือดาวและเสือดำ โดยที่เสือดำจะมีสีขนปกคลุมตามร่างกายด้วยสีดำ ซึ่งมีลายจุดเช่นเดียวกับเสือดาว เพียงแต่กลมกลืนกับสีขนทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด
ส่วนเสือดาว ลำตัวสีน้ำตาลอมเหลืองหรือมีสีเหลือง มีลายจุดสีดำเรียกว่า "ลายขยุ้มตีนหมา" แต้มบริเวณลำตัวเป็นจำนวนมาก โดยลายจุดจะเรียงตัวกันเป็นกลุ่ม ๆ โดยจะปรากฏเฉพาะที่บริเวณด้านหลังและด้านข้างของลำตัว แตกต่างจากบริเวณส่วนหัว ขา เท้า บริเวณใต้ท้องที่จะมีจุดสีดำปรากฏอยู่เช่นเดียวกับขนใต้ท้องที่มีสีขาวหรือสีเทา ขนาดความยาวหัวถึงลำตัว 107–129 เซนติเมตร หางมีความยาว 79.2–99.1 เซนติเมตร ใบหูมีความยาว 6.5–7.4 เซนติเมตร และหนัก 45–65 กิโลกรัม
เสือดาว-เสือดำป่าไทย 130 ตัว
ข้อมูลจากนักวิจัยด้านสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ระบุว่า จากการสำรวจวิจัยพบเสือโคร่งในป่าตะวันตก 80-90 ตัว จากทั้งหมดประมาณ 150 ตัวทั่วประเทศ และเป็นเสือดาว 100-130 ตัว ในจำนวนนี้เป็นเสือดำเพียง 15 ตัวเท่านั้น โดยกลุ่มป่าตะวันตก รวมทั้งแก่งกระจานมีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศสูงทั้งพืชและสัตว์ ทำให้เสือหากินและเพิ่มจำนวนประชากรได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังจำนวนที่น้อยมากและยังเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์
ทำให้เสือดาว เสือดำ มีแนวโน้มว่าใกล้สูญพันธุ์ สถานภาพในธรรมชาติ IUCN ยังอยู่ในบัญชี 1 และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535
ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นักวิจัยเสือ ระบุว่า ถ้าดูจากภาพถ่ายที่ปรากฎในโซเชียล เสือดาวแก่งกระจานตัวนี้ ถือว่ามีการปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่โดยเฉพาะถนนที่เป็นเส้นทางขึ้นไปท่องเที่ยว เพราะปกติเสือดาว จะเจอตัวได้ยาก ไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นตัวง่ายๆ และยืนแช่อยู่นาน เดินไปมา เพราะพฤติกรรมจะหลบคน หรือสิ่งที่มารบกวนมากกว่า เพราะเพียงแค่เขานอนหมอบนิ่งๆก็มองไม่เห็นแล้ว
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ ห้วหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กล่าวว่า พบว่าเสือดาว เสือดำ จะมีพฤติกรรมต่างกับเสือโคร่ง คือเวลาเขาไปไหนมาไหนจะมาร์กพื้นที่โดยใช้ตีนด้านหลังตะกุยไปมาตามทาง หยุดคุ้ย และฉี่ใส่ เป็นการสื่อสารให้เสือที่จะเข้าในพื้นที่ เป็นการแสดงอาณาเขตบริเวณนั้นให้รู้ว่าจุดนั้นมีเจ้าของแล้ว
“ทั้งนี้จากการศึกษาเสือโคร่งในป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง โดยติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ทำให้พบมีเสือดาว เสือดำปรากฎในกล้องดักถ่ายภาพประมาณ 130 ตัว และหักลบเสือดำป่าทุ่งใหญ่ที่ตายไป 1 ตัว สัดส่วนที่เราเจอ 1 ใน 3 ของเสือดาว จะมีภาพเสือดำ 2 ตัว เราศึกษานิเวศวิทยา และดูเรื่องการใช้พื้นที่ ”
วิจัยเสือดาวเชิงลึกเพื่อจำแนกชื่อแต่ละตัว
นายสมโภชน์ กล่าวว่า เสือดาวก็จะมีจุดที่ตัวมัน แต่เสือดำจะมีจุดๆ บางๆที่ตัว ต้องเข้าไปดูใกล้ๆถึงจะมองเห็น ในอนาคตนักวิจัยวางแผนที่ทำรหัสให้กับเสือดาว เสือดำทั้ง 129 ตัว และตั้งชื่อเสือทุกตัวแบบเดียวกับที่ตั้งชื่อเสือโคร่งทุกตัวในป่าห้วยขาแข้ง เพื่อใช้ในการติดตามวิจัยต่อกลุ่มครอบครัวของเสือดาวในป่าไทย และเรามีแผนที่จะศึกษาการปฎิสัมพันธ์ระหว่างเสือโคร่งกับเสือดาว ในพื้นที่เดียวกันว่ามีการแก่งแย่งพื้นที่กันหรือไม่
โดยการจำแนกเสือดาว เสือดำ แต่ละตัวจะต้องดูลายของแต่ละตัวที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการบางส่วนไว้แล้ว ต้องทำรหัส ตั้งชื่อ และศึกษานิเวศของกลุ่มเสือดาว เสือดำ
นอกจากนี้กรมอุทยานฯ ยังสนับสนุนงบประมาณ เพื่อติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเพิ่มเติมใน 3 พื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก แก่งกระจาน ดงพญาเย็น-เขาใหญ่ เพื่อใช้ในการศึกษาสัตว์ป่าด้วย เพราะในหลายพื้นที่ช่วยให้เรารู้ว่ามีสัตว์ป่าหากิน และใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้มากน้อยแค่ไหน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
12 พ.ย.นี้นัดสรุปความชัดเจนเดินหน้า-หยุดถนนพะเนินทุ่ง