วันนี้ (21 ก.ย.2561) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งทุกจังหวัดจัดระเบียบการให้อาหารนกในพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ วัด รวมทั้งพื้นที่ส่วนบุคคลที่ส่งผลกระทบต่อผู้พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง หลังได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนว่าหลายพื้นที่ปล่อยปละละเลย และมีการให้อาหารนกเป็นประจำ ส่งผลให้จำนวนนกเพิ่มขึ้น สร้างความรำคาญและเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค
ไทยพีบีเอสออนไลน์ พบข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค โดย รศ.สุพรรณ สุขอรุณ หัวหน้าภาควิชาจุลทรรศน์ศาสตร์คลินิก คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงการศึกษาการกระจายของเชื้อชนิดก่อโรคในมูลนกชนิดต่างๆ ได้แก่ นกพิราบ กา นกปากห่าง นกแก้ว ซึ่งเก็บรวบรวมมาจาก 13 แหล่งที่มีนกเหล่านี้ชุกชุมพบว่า ในมูลนกพิราบมีเชื้อ Cryptococcus neoformans ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ สูงถึงร้อยละ 9.09
จากการติดตามศึกษาวิจัยมูลนกต่างๆ พบว่ามีมากขึ้นในแหล่งชุมชน อาจเป็นผลมาจากการแหล่งอาหารในธรรมชาติน้อยลง ส่งผลให้นกเข้ามาอาศัยอยู่ใกล้มนุษย์มากขึ้น ขณะเดียวกันมนุษย์มีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อง่ายขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งอุบัติการณ์ของโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องมีมากขึ้นในปัจจุบัน
เช่นเดียวกับ สพ.ญ.ปราณี พาณิชย์พงษ์ ที่ให้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ระบุว่า การโปรยอาหารให้นกพิราบบินมากินตามสถานที่ต่างๆ ที่มีฝูงนกอาศัยอยู่ ถือเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งแต่กลับเป็นภัยเงียบที่คนส่วนใหญ่อาจนึกไม่ถึง
สำหรับการอยู่ใกล้ชิดนกพิราบอาจทำให้ได้รับเชื้อโรคคลามัยดิโอซีสหรือโรคไข้นกแก้วซึ่งเกิดจากเชื้อ Chalamydia psittaci หรือปัจจุบันเรียกเป็น Chlamydophila psittaci เป็นโรคที่ติดต่อระหว่างนกด้วยกัน และทำให้เกิดโรคได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด รวมถึงแมวและคน อีกโรคหนึ่งที่พบได้และทำให้คนเสียชีวิตมาแล้ว คือ โรคสมองอักเสบจากเชื้อราคริปโตคอคคัส (Cryptococcal meningitis) หรือ Cryptococcosis ซึ่งเกิดจากเชื้อคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์มาน (Cryptococcal neoformans) เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่เจริญเติบโตได้ง่ายและพบในมูลนกพิราบ
ระวังคนภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงติดเชื้อรา 1,000 เท่า
โรคนี้ติดต่อได้ในสัตว์ เช่น แมว สุนัข ปศุสัตว์ รวมถึงคน แต่การติดต่อระหว่างคนสู่คนเกิดขึ้นได้ยากมากอาจมีอาการป่วยอย่างเฉียบพลันหรืออาจเป็นแบบเรื้อรัง เกิดโรคที่ผิวหนังเป็นตุ่ม หนอง ผื่น แพ้ คัน อาจแสดงอาการสมองอักเสบ อาการอื่นๆ เช่น ตาอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ ข้ออักเสบ นอกจากนั้นยังมีรายงานการพบเชื้อไข้หวัดนก (H5N1) ในนกพิราบที่ตกลงมาตายอีกด้วย
สำหรับโรคอื่นๆ อย่างโรคปอดอักเสบ ท้องเสีย แพ้อาการหรือเครียด เนื่องจากหมัดจากนกพิราบ คนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวต่ำ และมักเกิดในต่างประเทศ ส่วนมากจะเกิดกับบุคคลที่มีอาชีพซึ่งเกี่ยวข้องและใกล้ชิดกับนกพิราบ โดยมีโอกาสสัมผัสกับแหล่งอาศัยและมูลนกได้ง่าย รวมถึงผู้ที่มีความบกพร่องทางภูมิคุ้มกันโรคในเด็กและผู้สูงอายุอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโรคมากกว่าคนปกติถึง 1,000 เท่า โดยเฉพาะโรคจากเชื้อราที่พบในมูลขับถ่ายของนกพิราบ หากต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดนกพิราบควรมีผ้าปิดจมูก และอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าหลังสัมผัสสัตว์ ทำความสะอาดเก็บกวาดมูลนกอย่าให้หมักหมมเพราะจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อรา
ขณะที่งานวิจัยแนวทางป้องกันการรบกวนจากนกพิราบของกลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ช่วยยืนยันว่า มูลของนกพิราบและฝุ่นที่เกิดจากการกระพือปีกก่อให้เกิดมลภาวะด้านกลิ่น และอาจเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน ไม่ว่าจะเป็นตัวไรนก พยาธิ ไวรัสตับอักเสบบี เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบเฉียบพลัน ปอดบวม ไข้กาฬหลังแอ่น โรคไข้หวัดนก โรคเชื้อราในปอดจากนก ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Cryptococcosis ซึ่งอาศัยอยู่ตามตัวนก และพบบ่อยที่สุดในนกพิราบ และสิ่งที่น่ากังวล คือ เชื้อราชนิดนี้มีความทนทานต่อยารักษาโรค
มูลนกพิราบเสี่ยงโรค-ทำลายบ้านเรือน
ทั้งนี้ คนทั่วไปสามารถติดเชื้อราชนิดนี้โดยตรงจากการสัมผัสนกพิราบ สิ่งคัดหลั่งจากนกที่เป็นโรค เช่น มูล น้ำมูก น้ำตา น้ำลายของนก ซึ่งแม้จะไม่ใช่ผู้เลี้ยงนกพิราบแต่การเข้าไปอยู่กลางฝูงนก ขณะโปรยอาหารและนกกระพือปีกบินถลาไป-มา เชื้ออาจจะเข้าสู่จมูก ทำให้เกิดโรคเชื้อราในปอด และระบบทางเดินหายใจของคนได้ โดยเฉพาะนกที่อาศัยทำรัง และบินวนเวียนอยู่ใกล้บริเวณที่อยู่อาศัย เสี่ยงต่อการติดเชื้อและแพร่เชื้อโรคได้ ซึ่งโรคส่วนใหญ่มักจะเป็นแล้วรักษาไม่หาย หรือบางโรคอาจตายโดยเฉียบพลันไม่อาจรักษาได้ทัน
นอกจากนำเชื้อโรคและสร้างความรำคาญแล้ว การถ่ายมูลของนกยังก่อให้เกิดความสกปรก ส่งกลิ่นเหม็น และทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้าง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ เนื่องจากในมูลนกส่วนที่เห็นเป็นสีขาวมีกรดยูริก ซึ่งสามารถกัดกร่อนโลหะ ทำให้เกิดสนิมได้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
หยุด! ให้อาหาร "นกพิราบ" ฝ่าฝืนคุก 3 ปี-ปรับ 2.5 หมื่น