วันนี้ (17 ส.ค.61) ศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต รายงานสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยมีอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม (Upper Rule Curve) และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุ มี 4 แห่ง ดังนี้
เตือน 5 อำเภอเพชรบุรี รับมือน้ำท่วมเพิ่มขึ้น
เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ เวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำ 741 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 739 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 104% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 27.29 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 20.77) ปริมาณน้ำระบายออกวันละ 19.82 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 16.02) น้ำล้นทางระบายน้ำ (Spillway) สูง 68 ซม. สูงกว่าเมื่อวาน 3 ซม. แนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเพิ่มขึ้น และจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศ จะมีฝนตกมากขึ้นส่งผลให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นมากในช่วงสัปดาห์นี้ ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี เวลา 06.00 น. บริเวณ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 0.73 ม. (เท่ากับเมื่อวาน) ปริมาณน้ำไหลผ่าน 184.65 ลบ.ม.ต่อวินาที (เมื่อวาน 184.65 ลบ.ม.ต่อวินาที) ทำให้พื้นที่ริมสองฝั่งลำน้ำในบริเวณ อ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด อ.เมือง และ อ.บ้านแหลม ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนการบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำโดยการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีให้เต็มศักยภาพลำน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อน โดยประสานจังหวัดและพื้นที่เพื่อแจ้งเตือน
เร่งพร่องน้ำ รองรับฝนตกเหนือเขื่อน
เขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ เวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำ 532 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 533 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 102% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 4.45 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 4.07 ล้าน ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 5.32 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 5.32 ล้าน ลบ.ม.)
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง บริเวณบ้านนาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม บ้านพอกใหญ่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณฝนที่ตกเหนือเขื่อนโดยประสานจังหวัดและพื้นที่ให้ติดตามสถานการณ์น้ำใน จ.สกลนคร จ.บึงกาฬ จ.นครพนม ซึ่งลำน้ำอูนและลำน้ำสงครามไหลผ่าน
เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ เวลา 00.00 น. มีปริมาณน้ำ 7,817 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 7,802 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 88% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 100.02 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 132.05 ล้าน ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 41.40 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 41.42 ล้าน ลบ.ม.)
สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ไม่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำ ส่วนการบริหารจัดการน้ำได้เพิ่มการระบายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนที่เพิ่มขึ้น โดยให้เท่ากับความสามารถรับน้ำของแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแม่กลอง โดยแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลำน้ำแควน้อยทราบถึงแผนการระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำ
เขื่อนขุนด่านปราการชล จ.นครนายก สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ เวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำ 193 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 189 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 86% ปริมาณน้ำไหลเข้าวันละ 6.70 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 9.84 ล้าน ลบ.ม.) มีปริมาณน้ำไหลออกวันละ 3.87 ล้าน ลบ.ม. (เมื่อวาน 3.11 ล้าน ลบ.ม.) น้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นสูง 30 ซม.
การบริหารจัดการน้ำ ต้องเร่งพร่องน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำท้ายน้ำ เพื่อรองรับปริมาณน้ำจากอิทธิพลของฝนที่ตกเหนือเขื่อน โดยติดตามสถานการณ์ด้านท้ายน้ำ และปรับแผนการระบายให้มีผลกระทบด้านท้ายน้ำน้อยที่สุด
ทั้งนี้ พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังจากการเร่งระบายน้ำ ได้แก่ อ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนรัชชประภา เขื่อนขุนด่านปราการชล และเขื่อนน้ำอูน รวมถึงอ่างขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีปริมาณน้ำ 100% โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนที่มีน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้น (Spillway) ระดับน้ำจะขึ้นต่อเนื่องไปอีก 3-4 วัน ตามปริมาณฝนที่ตก ส่งผลกระทบกับระดับน้ำในแม่น้ำเพชรบุรี ด้านท้ายเขื่อนแก่งกระจาน 5 อำเภอ และแม่น้ำนครนายก ด้านท้ายเขื่อนขุนด่านปราการชล อ.เมือง จ.นครนายก โดยต้องประสานแจ้งจังหวัด และหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ให้ทราบ