ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พณ.ติวเกษตรกรรับอาลีบาบา เตรียมขายลำไย-มังคุดผ่าน Tmall

เศรษฐกิจ
23 เม.ย. 61
19:32
1,113
Logo Thai PBS
พณ.ติวเกษตรกรรับอาลีบาบา เตรียมขายลำไย-มังคุดผ่าน Tmall
กระทรวงพาณิชย์ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่พัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการ รองรับความร่วมมือกับอาลีบาบา หลังขึ้นทะเบียนสวนทุเรียนแล้วกว่า 100 สวน ขยายผลเตรียมเปิดพรีออเดอร์ลำไยและมังคุดบนเว็บไซต์ทีมอลล์

ราคาทุเรียนเกรด A ณ ราคาหน้าสวนขณะนี้ ปรับเพิ่มขึ้น จากกิโลกรัมละ 60-70 บาท เป็นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 79 บาท หลังเริ่มขายบนเว็บไซต์ Tmall.com ทำให้นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ราคาทุเรียนที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นไปตามกลไกตลาด ที่เกษตรกรบางส่วนสามารถเพิ่มช่องทางจำหน่ายออนไลน์ แต่ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกว่าราคาทุเรียนในประเทศจะปรับเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถซื้อได้ เนื่องจากปริมาณคำสั่งซื้อทุเรียนล็อตแรกจำนวน 80,000 ลูกนั้น ถือเป็นสัดส่วนที่ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับสัดส่วนการซื้อขายปกติ ซึ่งประมาณการผลผลิตทุเรียนปีนี้จะมีมากกว่า 760,000 ลูก

พร้อมระบุว่าในโลกอีคอมเมิร์ซ ไม่สามารถมีรายใดผูกขาดสินค้าและความร่วมมือกับอาลีบาบา สร้างหน้าร้านบนเว็บไซต์ Tmall.com กลับช่วยกระตุ้นให้เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องปรับตัว ซึ่งขณะนี้มีสวนที่ขึ้นทะเบียนขายสินค้าในทีมอลล์แล้วไม่น้อยกว่า 100 สวน พร้อมเตรียมแผนนำผลไม้ชนิดอื่นๆ ลงขายบนเว็บไซต์ทั้งลำไยและมังคุด ซึ่งเป็นผลไม้ไทยที่ชาวจีนนิยมเช่นกัน

 

ทั้งนี้ เกษตรกรรายย่อยสามารถรวมกลุ่ม หรือจัดตั้งบริษัทเพื่อขายทุเรียนกับทีมอลล์ได้โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือ ล้งเหมือนอดีต ก่อนกำชับให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าลงพื้นที่ช่วยพัฒนาเกษตรกรที่สนใจจะจัดตั้งเป็นนิติบุคคล

นายโชติชัย บัวดิษฐ์ ประธานชมรมสวนท่องเที่ยวเชิงเกษตร จ.ระยอง เป็นห่วงว่าอาจเกิดปัญหาการกดราคารับซื้อ หรือการผูกขาด ไม่ต่างจากปัจจุบัน จึงแนะนำให้ชาวสวนอย่าชะล่าใจดีใจกับข่าวคำสั่งซื้อล็อตแรกของอาลีบาบา แต่ควรหาตลาดรับซื้อที่หลากหลาย

ขณะที่นายสุวิทย์ แสงอากาศ ประธานกลุ่มทุเรียนแปลงใหญ่ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง สนับสนุนให้เกษตรกรปรับตัวรับการขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด

ด้านนายสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เป็นห่วงว่า กระแสความตื่นตัวขายผลไม้ไทยบนโลกออนไลน์ อาจทำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพื่อเร่งป้อนความต้องการของตลาดและอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรของไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง