การประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ได้สร้างความตื่นตระหนกและทำให้ประชาชนหลายพันคนออกมาชุมนุมบนท้องถนน อย่างไรก็ตามภาพการชุมนุมที่ถูกแชร์ในหลายประเทศนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการประท้วงกฎอัยการศึก แต่เป็นภาพการชุมนุมต่อต้านประธานาธิบดียุนเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ที่ถ่ายโดยช่างภาพของ European Pressphoto Agency (EPA)
"ขณะนี้ชาวเกาหลีใต้ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านการประกาศกฎอัยการศึก" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในปากีสถานเขียนคำบรรยายโพสต์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567
โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพของการชุมนุมขนาดใหญ่บนท้องถนนในเวลากลางคืน ซึ่งปรากฏเต็นท์ รถยนต์ และเจ้าหน้าที่สวมแจ็กเก็ตสีเหลืองในภาพด้วย

ภาพดังกล่าวถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันในหลายประเทศ เช่น ไทย เมียนมา อินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ หลังปธน.ยุน ประกาศกฎอัยการศึกซึ่งสร้างความตื่นตระหนกและความกังวลต่อชาวเกาหลีใต้และพันธมิตรสำคัญของประเทศ
ประชาชนจำนวนมากออกมาชุมนุมต่อต้านหลังปธน.ยุน ประกาศกฎอัยการศึกเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปี ก่อนที่สมาชิกรัฐสภาจะลงมติยกเลิกกฎอัยการศึกได้สำเร็จภายในคืนเดียวกัน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)
อย่างไรก็ตาม ภาพที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์เป็นภาพก่อนที่จะมีการประกาศกฎอัยการศึกหลายวัน
การค้นหาภาพย้อนกลับบนกูเกิลพบภาพเดียวกันนี้ในเวอร์ชั่นคุณภาพสูงกว่าถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของเอเจนซีข่าวอันซา ลาตินา (Ansa Latina) ของอิตาลีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายภาพระบุว่าภาพดังกล่าวถูกบันทึกเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 โดยจอน ฮอน-กยุน ช่างภาพของ European Pressphoto Agency (EPA) ระหว่างการชุมนุมในกรุงโซลเพื่อเรียกร้องให้ปธน.ยุน ลาออกจากตำแหน่ง
การค้นหาด้วยคำสำคัญบนเว็บไซต์ EPA พบภาพถ่ายเดียวกันนี้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 (ลิงก์บันทึก)
คำบรรยายภาพบางส่วนระบุว่า "สมาชิกของกลุ่มพลเมือง 'Complex group of Citizens' รวมตัวชุมนุมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ลาออกจากตำแหน่ง ณ กรุงโซล เกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2024"
"ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอล แห่งเกาหลีใต้ลาออก ท่ามกลางประเด็นถกเถียงต่าง ๆ เกี่ยวกับภรรยาของเขา รวมถึงการปั่นหุ้น การติดสินบน และการแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ EPA-EFE/จอน ฮอน-กยุน"
ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์ EPA (ขวา):สำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า การชุมนุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายนนั้นถูกจัดขึ้นโดยพรรคประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของเกาหลีใต้ และมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมราว 100,000 คน (ลิงก์บันทึก)
รายงานข่าวดังกล่าวระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ชุมนุมออกมาวิจารณ์การบริหารประเทศของปธน.ยุนว่าไม่มีประสิทธิภาพ และยังเรียกร้องให้มีการสอบสวนพิเศษคิม กอน-ฮี ภรรยาของปธน.ยุน ซึ่งกำลังเผชิญกับข้อกล่าวหาเกี่ยวกับกับการปั่นหุ้น การติดสินบน และการแทรกแซงทางการเมือง
ผลกระทบของการใช้ภาพเก่า
ด้าน ผศ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงผลกระทบของการนำภาพเก่ามาใช้ในบริบทที่ผิด หรือ Missing context มาใช้ แม้ว่าจะไม่ใช่ภาพปลอม แต่เป็นการนำมาใส่ในบริบทที่ผิด ถือว่ามีวัตถุประสงค์ได้หลายอย่าง เช่น ต้องการยอดไลก์ ยอดแชร์ หรือ หวังผลจากการได้ค่าตอบแทน ซึ่งจากการรายงานดังกล่าว ถือว่าสำนักข่าวต้นทางอาจจะยังไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ โดยเหตุการณ์ในลักษณะนี้ในอดีตก็เคยเกิดขึ้นบ่อย ๆ เช่น ข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมียนมา แต่มีการนำภาพจากที่อื่นมาใช้ หรือข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย แต่มีการนำภาพเหตุการณ์ของที่อื่นมาใช้ ซึ่งถือเป็นลักษณะเดียวกัน คือผิดกาละเทศะ และเป็นการนำมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

ทั้งนี้หากประชาชนทำไปโดยไม่รู้ โดยเฉพาะการแชร์ต่อ ๆ กัน ถ้าการแชร์นั้นเป็นการแชร์ภาพที่ผิดแต่ไม่มีวัตถุประสงค์ร้าย จะเรียกการกระทำนี้ว่า Misinformation แต่หากเป็นภาพที่ผิด และมีวัตถุประสงค์ในการบิดเบือน จะเรียกการกระทำนี้ว่า Disinformation ซึ่งการจะดูวัตถุประสงค์ของการใช้ภาพเก่านั้นจะต้องดูที่เจตนา และความผิดของภาพ ซึ่งการนำภาพเก่ามาใช้ไม่ถือว่าผิด แต่จะผิดหากเป็นการนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ไม่ดี ซึ่งการทำงานของสำนักข่าวควรมีการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารก่อนนำเสนอ หรือทำการ Fact check ก่อนการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะทุกครั้งก่อนการนำเสนอ เพื่อความเป็นมืออาชีพ ซึ่งการนำเสนอภาพในลักษณะนี้ออกไปสู่สาธารณะชน และทำให้ประชาชนแชร์ข้อมูลเหล่านั้นต่อ ก็จะยิ่งเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นต่อเนื่อง