แชร์

Copied!

ตรวจสอบพบ รีสอร์ททิพย์เกาะสีชัง ลวงลูกค้าต้อนรับสงกรานต์

11 เม.ย. 6817:42 น.
สังคมและสุขภาพ
#ข่าวจริง
ตรวจสอบพบ รีสอร์ททิพย์เกาะสีชัง ลวงลูกค้าต้อนรับสงกรานต์

จับตาเพจปลอม! Thai PBS Verify พบบัญชีเฟซบุ๊กสวมรอยภาพจริงของรีสอร์ทบนเกาะสีชัง หลอกจองห้องพักก่อนเทศกาลสงกรานต์ ด้านเจ้าของร้อง เหยื่อถูกหลอกโอนมัดจำก่อนเชิดเงินหนีนับร้อยคน

เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาที่หลายคนมองหาที่พักสำหรับการพักผ่อน แต่ล่าสุด Thai PBS Verify พบบัญชีเพจเฟซบุ๊ก จำนวน 3 บัญชี มีการโพสต์เนื้อหาแนะนำรีสอร์ทแห่งหนึ่งบนเกาะสีชัง โดยมียอดคนกดแสดงความรู้สึกหลักพัน และผู้ติดตามสูงสุดกว่า 5,000 คน ขณะที่บางส่วนถูกหลอกโอนเงินไปแล้ว

 

ภาพเพจเฟซบุ๊ก Sea House, Koh Sichang

เพจเฟซบุ๊ก Sea House, Koh Sichang  ซึ่งมีผู้เข้ามาแสดงความรู้สึกกว่า 1,000 ครั้ง รวมถึงมีผู้ติดตามกว่า 1,000 คน ซึ่งแนะนำตัวว่าเป็นโรงแรมและรีสอร์ท (ลิงก์บันทึก)

 

ภาพรายละเอียดการโพสต์ของเพจเฟซบุ๊ก Sea House, Koh Sichang


แต่เมื่อตรวจสอบความโปร่งใสของเพจพบว่า เพจดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเมื่อ 22 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อเพจเฟซบุ๊ก
ไฮด์เอาท์ เกาะกูด  และได้มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น Sea House, Koh Sichang เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2568 ที่ผ่านมา

 

ภาพเพจเฟซบุ๊ก Sea House, Koh Sichang

 


อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่า การโพสต์เนื้อหาและการโต้ตอบในเพจ จะมีจำนวนคนกดถูกใจ และคอมเมนต์ตอบโต้น้อย แต่เราก็ยังพบว่าเพจดังกล่าวมีความเคลื่อนไหว โดยล่าสุดพบผู้ที่สนใจคอมเมนต์เข้ามาสอบถามที่พักสำหรับวันที่ 13 เม.ย. 2568

 

ภาพเพจเฟซบุ๊ก Sea House, Koh Sichang

จากการตรวจสอบผ่านเครื่องมือของเฟซบุ๊ก พบว่าเพจดังกล่าวยังไม่ได้รับเครื่องหมายรับรองตัวตน Verified badge และตรวจสอบผ่านเครื่องมือตรวจสอบภาพของ Google Lens พบว่า ภาพบางส่วนไปตรงกับ เฟซบุ๊ก Ploy Thunwarat

ภาพที่ตรวจสอบผ่านเครื่องมือตรวจสอบภาพของ Google Lens

ขณะที่บัญชีเฟซบุ๊ก Ploy Thunwarat (ลิงก์บันทึก) ได้ระบุว่า 

“SC051 บ้านทะเล เกาะสีชัง  ขออนุญาตเตือนภัย โปรดระวังมิจฉาชีพเพจปลอม 

** เพจจริง ชื่อบัญชี ธันวรัตน์ อนันต์ เท่านั้นค่ะ 

** ถ้าเป็นชื่ออื่น คือ เพจปลอมนะคะ 

** ที่พักไม่มีบัญชีสำรองมีแค่บัญชีเดียวค่ะ 

** ช่องทางติดต่อ เบอร์โทรศัพท์ และ  Email ทางเพจปลอมใส่เหมือนเพจจริงทุกอย่าง 

แนะนำลูกค้า ตรวจสอบชื่อบัญชีก่อนโอนจองค่ะ 

** หากเพจแจ้งว่าห้องพักเต็มแล้ว ขออนุญาตแนะนำอย่าทักไปจองเพจอื่นน้าา เพราะนั่นคือมิจฉาชีพค่ะ 

สอบถามเพิ่มเติม 0936194239 ค่ะ 

สามารถวีดีโอคอลก่อนโอนจองได้ค่ะ”

 

ภาพเฟซบุ๊ก Ploy Thunwarat

 

ภาพเฟซบุ๊ก Ploy Thunwarat

 

ส่วนการตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์หน้าเพจเฟซบุ๊กด้วยเครื่องมือ Whoscall และ blacklistseller  พบว่าไม่ขึ้นข้อมูลเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าน่าจะสร้างเบอร์โทรศัพท์ใหม่ขึ้นมาสำหรับการเปิดเพจเฟซบุ๊ก เพราะฉะนั้นอาจจะต้องระมัดระวังในการตัดสินใจจองที่พัก

 

ภาพเพจเฟซบุ๊ก Sea House, Koh Sichang

 

ภาพจากการตรวจสอบ เบอร์ผ่าน Whoscall

 

ภาพจากการตรวจสอบเบอร์ผ่าน blacklistseller

หลังจากนั้นได้ทำการตรวจสอบไปยังเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก บ้านทะเล เกาะสีชัง จริง (ลิงก์บันทึก) กล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากเพจปลอม ที่นำรูปไปใช้ ตั้งแต่เดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งลูกค้าที่โดนเพจปลอมหลอกมีมากกว่า 100 ราย โดยส่วนใหญ่มักจะถูกหลอกให้โอนเงินค่าประกันราว 1,000 - 2,000 บาท ซึ่งทางส่วนตัวได้แจ้งรายงานเพจปลอมให้กับเฟซบุ๊กแล้ว แต่ก็ยังมีเพจปลอมเปิดใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ

ภาพข้อความที่มีการโอนเงินให้เพจปลอมในการจองที่พัก

 

 

ซึ่งทาง Thai PBS Verify ได้ทำการตรวจสอบชื่อบัญชีและเลขบัญชีธนาคาร จากเครื่องมือ blacklistseller พบว่า เลขบัญชีที่ใช้ในการหลอกนั้น เป็นบัญชีที่เคยถูกรายงานว่ามีการโกงถึง 6 ครั้ง (ลิงก์บันทึก)

 

ภาพตรวจสอบชื่อบัญชีและเลขบัญชีธนาคาร จากเครื่องมือ blacklistseller

 

นอกจากนี้ เรายังพบรีสอร์ทดังกล่าวถูกนำภาพไปใช้ในชื่อเดียวกันอีก 2 แห่ง คือเพจเฟซบุ๊ก บ้านทะเล เกาะสีชัง (ลิงก์บันทึก) ซึ่งมีผู้ติดตาม 4,500 คน และเพจเฟซบุ๊ก บ้านทะเล เกาะสีชัง (ลิงก์บันทึก) ซึ่งมีผู้ติดตาม 5,600 คน อีกด้วย

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก บ้านทะเล เกาะสีชัง

 

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก บ้านทะเล เกาะสีชัง

 

 

กระบวนการตรวจสอบ

✅ การค้นหาด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ

เครื่องมือค้นหาจะดึงรายการลิงก์ที่มีรูปภาพที่ถูกเผยแพร่ทางออนไลน์ขึ้นมา ซึ่งสามารถใช้เปรียบเทียบได้ว่า
ภาพดังกล่าวเคยถูกเผยแพร่ที่ใดมาก่อนหรือไม่

✅ การค้นหาด้วยคำสำคัญ

สามารถนำชื่อของเพจมาค้นหาในช่องทางค้นหาในเฟซบุ๊ก ซึ่งผลการค้นหาจะแสดงชื่อเพจดังกล่าว 

ว่ามีการสร้างไว้มากกว่าหนึ่งเพจหรือไม่

✅ การค้นหาเบอร์โทรศัพท์

ตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ผ่านเครื่องมือ whoscall และ  blacklistseller เพื่อตรวจสอบว่าเป็นเบอร์มิจฉาชีพหรือไม่

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

จากผลกระทบของเพจปลอมดังกล่าว พบว่าตั้งแต่เดือน พ.ย.2568 มีผู้เสียหายถูกหลอกไปแล้วเป็นจำนวนมาก โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่จะถูกหลอกให้โอนเงินค่ามัดจำตั้งแต่ 1,000-2,000 บาท หรือเท่ากับราคาของค่าห้อง และจำนวนระยะเวลาที่พัก ซึ่งเหยื่อจะทราบว่าถูกหลอก ก็ต่อเมื่อเดินทางมาถึงแล้วไม่สามารถเข้าพักได้จริง

ภาพข้อความผู้เสียหายจากการโอนเงินจองที่พักกับเพจเฟซบุ๊กปลอม

ภาพข้อความผู้เสียหายจากการโอนเงินจองที่พักกับเพจเฟซบุ๊กปลอม

ภาพข้อความผู้เสียหายจากการโอนเงินจองที่พักกับเพจเฟซบุ๊กปลอม

 

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

  • ข้อแนะนำเมื่อพบเพจที่น่าสงสัยสามารถตรวจสอบด้วยตนเองง่ายๆ ดังนี้

    ✅ ตรวจสอบแหล่งที่มา

    • ค้นหาชื่อเพจว่ามีเพจเฟซบุ๊กดังกล่าวมากกว่าหนึ่งแห่งหรือไม่ หรือสอบถามในกลุ่มแจ้งเตือนมิจฉาชีพ ว่ามีการร้องเรียนเกี่ยวกับเพจนี้หรือไม่
       
    • ดูความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊ก โดยเฉพาะวันที่สร้างเพจ หากเป็นเพจใหม่มาก หรือมีผู้ดูแลที่ไม่มีอยู่ในประเทศไทย หรือประเทศอื่น ๆ ร่วมอยู่ด้วย อาจเป็นสัญญาณของการหลอกลวง

    ✅ หลีกเลี่ยงการโอนเงินล่วงหน้า 

    • หากต้องโอนเงิน ให้ตรวจสอบชื่อบัญชีว่าตรงกับชื่อที่พักหรือไม่

    ✅ ดูรีวิวและความคิดเห็นจากลูกค้าคนอื่น

    • รีวิวควรมาจากบัญชีผู้ใช้จริง ไม่ใช่รีวิวจากบัญชีปลอมที่ไม่มีประวัติการใช้งาน
       
    • ถ้าไม่มีรีวิวเลย ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ

    ✅ แจ้งเตือนและให้ความรู้แก่ผู้อื่น

    • หากพบเพจที่น่าสงสัย ให้แจ้งเตือนเพื่อนและครอบครัว เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้เสียหายเพิ่มขึ้น
       
    • สามารถแจ้งเบาะแสมายัง Thai PBS Verify พร้อมกับรายงานเพจ เพื่อให้มีการปิดเพจดังกล่าว