แชร์

Copied!

ป้องกันตัวอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยจาก Deepfake

28 เม.ย. 6810:11 น.
ป้องกันตัวอย่างไร ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของภัยจาก Deepfake

สารบัญประกอบ

    เมื่อเทคโนโลยี AI พัฒนาไปไกลถึงขั้นขโมยใบหน้าของเราได้ ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวจึงกลายเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยี Deepfake ถูกนำไปใช้ในทางที่เป็นภัย

    ในประเทศเกาหลีใต้ เคยมีรายงานว่า มีการใช้ Deepfake สร้างภาพและวิดีโออนาจาร โดยนำใบหน้าจริงของผู้หญิงจำนวนมากไปตัดต่อกับภาพหรือคลิปที่ไม่เหมาะสม แล้วเผยแพร่ผ่านกลุ่มแชตลับใน Telegram ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 220,000 คน บางช่องแชตมุ่งเป้าไปที่ “เหยื่อเยาวชน” โดยตรง มีภาพของเด็กและเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะถูกเผยแพร่อย่างน่ากังวล

     

    กรณีนี้สะท้อนให้เห็นถึงด้านมืดของเทคโนโลยี Deepfake ที่อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างข่าวปลอม การคุกคาม ขู่กรรโชก ฉ้อโกง หรือแม้กระทั่งทำลายชื่อเสียงของบุคคลในที่สาธารณะได้ 

     

    Thai PBS Verify ชวนดูวิธีการป้องกันข้อมูลส่วนตัวเราเบื้องต้น ดังนี้

     

    1. ปกป้องข้อมูลส่วนตัวบนโซเชียลมีเดีย

    ข้อมูลส่วนตัวในโซเชียลมีเดีย เช่น รูปภาพ วิดีโอ ไฟล์เสียงหรือข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ทั้งของเราเองและเด็กเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ข้อมูลเหล่านี้เป็นแหล่งที่สามารถถูกนำไปใช้ในการสร้าง Deepfake ได้ง่าย ๆ

    • ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว : ควรตั้งค่าโปรไฟล์ของเราบนโซเชียลมีเดียให้สามารถเห็นได้เฉพาะผู้ที่เรารู้จัก หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

     

    2. ตรวจสอบสิทธิ์การใช้งานข้อมูล

    หลายแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มที่เราใช้ในชีวิตประจำวันมักมีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว เช่น รูปภาพ เสียง หรือแม้กระทั่งการเข้าถึงกล้องและไมโครโฟนของเรา ดังนั้นการตรวจสอบสิทธิ์การใช้งานข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

    • ตรวจสอบสิทธิ์แอปพลิเคชัน : เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ควรตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันนั้นขอสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลใดบ้าง และไม่ควรให้แอปพลิเคชันเข้าถึงข้อมูลที่ไม่จำเป็น เช่น การเข้าถึงกล้องหรือไมโครโฟน หากไม่ใช่ฟังก์ชันหลักของแอปพลิเคชัน
    • ปิดการใช้งานกล้องและไมโครโฟน : หากไม่ได้ใช้การถ่ายรูปหรือบันทึกเสียงในขณะนั้น ควรปิดกล้องและไมโครโฟนเพื่อป้องกันการดักจับข้อมูล

     

    3. การใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสและการยืนยันตัวตน

    การใช้เทคโนโลยีการเข้ารหัสและการยืนยันตัวตนเป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยป้องกันการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ดี

    • การเข้ารหัสข้อมูล : ใช้การเข้ารหัสเพื่อปกป้องข้อมูลส่วนตัวที่เก็บไว้ในเครื่องหรือบนคลาวด์ ไม่ให้ถูกเข้าถึงหรือดัดแปลงได้ง่าย
    • การยืนยันตัวตน : การใช้ระบบยืนยันตัวตนที่ปลอดภัย เช่น การยืนยันตัวตนด้วยสองขั้นตอน (Two-factor authentication) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว

     

     

    6. การปกป้องภาพถ่ายและวิดีโอ

    การป้องกันไม่ให้ภาพถ่าย หรือวิดีโอของเราไปอยู่ในมือคนที่มีเจตนาไม่ดี เป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญในการปกป้องตัวเองจาก Deepfake

     

    • ระวังการส่งภาพถ่ายส่วนตัวให้บุคคลที่ไม่รู้จัก : การส่งภาพถ่าย หรือ ข้อมูลส่วนตัว เช่น ภาพจากบัตรประชาชนที่ระบุอัตลักษณ์ตัวตนที่ชัดเจน ให้กับบุคคลที่ไม่รู้จักอาจนำไปสู่อันตรายจาก Deepfake ได้
    • ใช้เครื่องมือป้องกันลิขสิทธิ์ : สามารถใช้เครื่องมือป้องกันการดัดแปลงภาพหรือวิดีโอ เช่น การเพิ่มลายน้ำหรือลายเซ็นดิจิทัล

     

    ขั้นตอนการแจ้งความหากถูกละเมิดด้วย Deepfake หรือภาพปลอม

    1. รวบรวมหลักฐานให้ครบถ้วน
      เก็บภาพ วิดีโอที่ถูกตัดต่อ หรือข้อความที่เกี่ยวข้อง เวลาที่ถูกเผยแพร่ หากถูกเผยแพร่ในกลุ่มแชตหรือโซเชียล ให้เก็บประวัติการสนทนาและ URL ของโพสต์ไว้
    2. แจ้งความที่สถานีตำรวจหรือกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) และหน่วยงานเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง
      • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เพื่อขอให้ช่วยประสานงานลบข้อมูล
        หรือสายด่วนศูนย์รับเรื่องร้องเรียนภัยคุกคามทางไซเบอร์ 1212
      • กดรายงานเนื้อหาต่อแพลตฟอร์มที่มีการเผยแพร่ Facebook X หรือ TikTok เพื่อให้ลบเนื้อหาออก

     

    กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำ Deepfake ผิดกฎหมายในไทย

    • พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560  มาตรา 16 ว่าด้วย “ผู้ใดนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไป อาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อเติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทําให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”
    • ประมวลกฎหมายอาญา มาตราเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท การดูหมิ่น การเผยแพร่สื่ออนาจาร
    • พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) หากนำข้อมูลส่วนบุคคล (ใบหน้า ชื่อและเสียง) ไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอม
    • หากเหยื่อเป็น ผู้เยาว์ อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายคุ้มครองเด็ก

     

    ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
                  TDRI และ Thai Netizen Network 

                  “Deepfake” มุมมืด AI ล้อเล่น-หลอกลวง สู่ “อนาจาร”

                  กรมช่างอากาศ

    สารบัญประกอบ