วงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ศูนย์ AOC 1441 รายงานเคสตัวอย่างอาชญากรรมออนไลน์ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวง ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 คดี รวม 16,508,983 บาท
คดีที่ 1 คดีหลอกลวงให้กู้เงิน มูลค่าความเสียหาย 4,721,345 บาท
มิจฉาชีพโทรแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน ชักชวนให้กู้เงิน จากนั้นทำการเพิ่มเพื่อนทาง Line เพื่อส่งรายละเอียด โดยต้องโอนค่าธรรมเนียมละเตรียมเอกสาร อ้างว่าไม่สามารถโอนเงินได้ ให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าไปบัญชีอื่นอีก โดยให้โอนเงินไปเรื่อย ๆ ภายหลังไม่ได้เงินคืนและติดต่อไม่ได้อีก
คดีที่ 2 คดีหลอกลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าเสียหายกว่า 1.4 ล้านบาท
ผู้เสียหายถูกชักชวนให้เทรดหุ้นผ่านช่องทาง Facebook อ้างได้กำไรและถอนเงินได้ในช่วงแรก ผู้เสียหายโอนเงินเป็นจำนวนมากขึ้น แต่ภายหลังไม่สามารถถอนเงินและไม่สามารถติดต่อได้
คดีที่ 3 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล มูลค่าความเสียหาย 3,171,325 บาท
โดยผู้เสียหายโพสต์ขายเสื้อผ้าบน Facebook ถูกมิจฉาชีพติดต่อมาอ้างจะช่วยเพิ่มยอดขาย โดยให้โอนเงินเพื่อเปิดระบบ เปิดการมองเห็นของร้าน และค่าใช้จ่ายทำกิจกรรมหลายครั้ง ช่วงแรกได้รับเงินคืน แต่ภายหลังถอนเงินไม่ได้และติดต่อไม่ได้
คดีที่ 4 คดีหลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มูลค่าความเสียหาย 4,180,860 บาท
โดยผู้เสียหายพบโฆษณาเทรดหุ้นทองคำบน Facebook จึงทักสอบถามและถูกชักชวนติดตั้งแอปพลิเคชันเทรด ช่วงแรกถอนเงินได้จึงโอนเพิ่ม แต่ภายหลังถอนเงินไม่ได้และติดต่อไม่สามารถติดต่อมิจฉาชีพได้
คดีที่ 5 คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ มูลค่าความเสียหาย 2,951,303 บาท
โดยผู้เสียหายพบโฆษณาชวนหารายได้พิเศษเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า ทาง TikTok ทางติดต่อมิจฉาชีพทาง Line ให้กรอกข้อมูลส่วนตัวและเลือกสินค้าที่จะลงขาย จากนั้นให้โอนเงินเข้าไปเป็นค่าสำรองจ่ายสินค้า ภายหลังพบว่ามียอดเงินเข้าไปในร้านค้า แต่ไม่มียอดเงินเข้าในบัญชีผู้เสียหาย
สถิติการร้องเรียนผ่านศูนย์ AOC 1441 6 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ถึง วันที่ 18 เมษายน 2568
- สายโทรเข้า 1441 จำนวน 1,640,258 สาย เฉลี่ยต่อวัน 3,066 สาย
- ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 607,838 บัญชี เฉลี่ยต่อวัน 1,233 บัญชี
- ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท ได้แก่
(1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 193,192 บัญชี คิด เป็นร้อยละ 31.78
(2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 143,977 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 23.69
(3) หลอกลวงลงทุน 89,090 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 14.65
(4) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 70,808 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.65
(5) หลอกลวงให้กู้เงิน 43,865 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 7.22 (และคดีอื่น ๆ 66,906 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 11.01)
ทางตัวแทนกระทรวงดีอีย้ำว่าหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ จะไม่มีการโทรติดต่อโดยตรง หรือติดต่อผ่านทางโซเชียลมีเดีย และจะไม่มีการให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบบัญชีแต่อย่างใด ดังนั้นหากมีการติดต่อเข้ามา ให้ประเมินว่าเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ ด้านการลงทุนในธุรกิจที่ไม่มีการรับรองโดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นการเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง ขอให้ผู้เสียหายตรวจสอบและติดต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสอบถามรายละเอียดให้แน่ชัด
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดหลัก 4 ไม่ คือ 1. ไม่กดลิงก์ 2.ไม่เชื่อ 3.ไม่รีบ และ 4.ไม่โอน ก่อนที่จะทำธุรกรรมใด ๆ อย่ากดเข้าลิงก์เว็บไซต์ หรือดาวน์โหลด และอัปโหลดแพลตฟอร์ม ที่มีการส่งต่อจากช่องทางที่ไม่แน่ใจ หากประชาชนโดนหลอกออนไลน์ โทรแจ้งดำเนินการ แจ้งเบาะแส ข่าวปลอม และอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ โทรสายด่วน 1111 (24 ชม.)
ทั้งนี้หากพบหรือสงสัยว่าภาพหรือข่าวที่ได้รับเชื่อถือได้หรือไม่ สามารถส่งเรื่องราวต่าง ๆ มาแจ้งทีมงาน Thai PBS Verify ได้ทาง Inbox Facebook : https://m.me/ThaiPBSVerify หรือ Email : Verify@thaipbs.or.th