แชร์

Copied!

นักชอปต้องรู้ ! เทคนิคตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ไม่ให้ถูกหลอก

21 เม.ย. 6814:26 น.
นักชอปต้องรู้ ! เทคนิคตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ไม่ให้ถูกหลอก

สารบัญประกอบ

    การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยม เพราะความสะดวกสบายและความหลากหลายของสินค้า อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจำหน่ายสินค้าลอกเลียนแบบยังคงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรตระหนักและระมัดระวัง เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงและได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน มาดูเทคนิคการตรวจสอบเบื้องต้นในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสินค้าปลอมแปลง ซึ่งจะช่วยให้ซื้อขายได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยยิ่งขึ้น

    จากรายงาน DIGITAL 2024 OCTOBER GLOBAL STATSHOT REPORT โดย We Are Social และ Meltwater ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคนไทยว่า
    66.6% ของคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปมีการซื้อของออนไลน์ ซึ่งถือเป็น สัดส่วนสูงที่สุดในโลก แซงหน้าประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคดิจิทัลอย่าง เกาหลีใต้ (64.3%) และ จีน (63.1%)

    ขณะที่พฤติกรรมการ ใช้จ่ายออนไลน์ของคนไทย ก็กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้เงินในการช้อปปิ้งออนไลน์ ตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่นบาท โดยเฉพาะในกลุ่ม Millennials (อายุประมาณ 27–42 ปี) และ Gen X (อายุประมาณ 43–58 ปี) ซึ่งพบว่ามี การใช้จ่ายออนไลน์สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นสัญญาณว่า ผู้บริโภคไทยมีความพร้อมและความมั่นใจในการจับจ่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากยิ่งขึ้น

     

    นักช็อปต้องรู้ ! เทคนิคตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ไม่ให้ถูกหลอก

    ปัญหาของปลอมในแพลตฟอร์มออนไลน์

    ของปลอมในออนไลน์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในหมวดสินค้ายอดนิยม เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม, เสื้อผ้าแฟชั่น, นาฬิกาหรู, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, และเครื่องสำอาง ซึ่งมีการลอกเลียนแบบหรือของไม่มีคุณภาพมาจำหน่ายในราคาถูกกว่าปกติเพื่อจูงใจผู้บริโภค

    ในหลายกรณี ผู้ซื้อสั่งสินค้าไปแต่กลับไม่ได้รับของ หรือได้รับสินค้าที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่โฆษณา เช่น กระเป๋าหนังแต่ทำมาจากพลาสติก, เครื่องสำอางที่มีสารต้องห้าม, หรือเสื้อผ้าที่ตัดเย็บผิดรูปผิดทรง ทำให้ผู้บริโภคสูญเสียทั้งเงินและความไว้วางใจในการซื้อของออนไลน์

    ปัญหานี้เกิดขึ้น แม้แต่ในแพลตฟอร์มที่มีชื่อเสียงและระบบตรวจสอบ ซึ่งแม้จะมีนโยบายป้องกันสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์และระบบรีวิวจากผู้ซื้อ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมผู้ขายได้ทั้งหมด เนื่องจากจำนวนผู้ขายมีมากและหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา

    นอกจากนี้ การซื้อขายผ่าน โซเชียลมีเดีย ซึ่งมักเป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น เพราะไม่มีระบบกลางในการตรวจสอบสินค้าอย่างเข้มงวด และผู้ซื้อไม่สามารถเช็กความน่าเชื่อถือของร้านค้าได้ง่ายเหมือนแพลตฟอร์มหลัก

    เทคนิคตรวจสอบร้านค้าออนไลน์เบื้องต้น

    การซื้อของออนไลน์แม้จะสะดวกและรวดเร็ว แต่ก็แฝงความเสี่ยงไว้ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อมีร้านค้าออนไลน์ที่ไม่น่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เราสามารถใช้ เทคนิคง่าย ๆ เหล่านี้ในการตรวจสอบร้านค้าเบื้องต้น ก่อนตัดสินใจซื้อ

    1. ตรวจสอบการจดทะเบียนพาณิชย์

    ร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือควรมีการจดทะเบียนพาณิชย์ถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะมีการแสดง หมายเลขทะเบียนพาณิชย์อย่างชัดเจน บนเว็บไซต์หรือหน้าเพจขายของ บางร้านยังได้รับเครื่องหมายรับรองอย่าง DBD Registered จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการยืนยันตัวตนของร้านค้า สามารถตรวจสอบสถานะการจดทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

    2. ตรวจสอบรีวิวและคะแนนร้านค้า

    การอ่านความคิดเห็นหรือรีวิวจากผู้ซื้อรายอื่น ๆ เป็นวิธีที่ดีในการประเมินความน่าเชื่อถือของร้านค้า ควรพิจารณาทั้งรีวิวในเชิงบวกและเชิงลบเพื่อให้เห็นภาพรวม ระวังรีวิวปลอมที่มักจะมีลักษณะชมเกินจริง ใช้คำซ้ำ ๆ หรือมีแต่คะแนนเต็ม 5 ดาวโดยไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ร้านค้าที่มีรีวิวจากลูกค้าจริง มีรูปถ่ายสินค้า และมีการตอบกลับจากผู้ขายจะน่าเชื่อถือมากกว่า

    3. ตรวจสอบชื่อบัญชีธนาคาร

    ก่อนโอนเงินทุกครั้ง ควรตรวจสอบชื่อบัญชีธนาคารของร้านค้าว่ามีประวัติการโกงหรือไม่ โดยสามารถใช้เว็บไซต์ตรวจสอบชื่อบัญชี เช่น blacklistseller.com เพื่อตรวจสอบรายชื่อผู้ขายที่เคยมีปัญหาหรือถูกร้องเรียนมาก่อน หากพบว่ามีผู้เสียหายหรือมีชื่อร้านอยู่ในระบบ “บัญชีดำ” ควรหลีกเลี่ยงร้านค้านั้นทันที

    4. สังเกตราคาสินค้า

    หากสินค้ามีราคาถูกเกินจริง หรือราคาห่างจากตลาดทั่วไปมากเกินไป โดยเฉพาะกับสินค้าราคาแพงอย่างแบรนด์เนม นาฬิกาหรู หรือเครื่องสำอางนำเข้า นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนว่าสินค้านั้นอาจเป็นของปลอม หรืออาจไม่ได้รับสินค้าเลย ควรเปรียบเทียบราคากับหลายร้านก่อนตัดสินใจ และใช้วิจารณญาณหากเจอโปรโมชั่นที่ดูดีเกินจริง

    5. ตรวจสอบข้อมูลติดต่อของร้านค้า

    ร้านค้าที่มีความน่าเชื่อถือมักจะให้ข้อมูลการติดต่ออย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ อีเมล ที่อยู่ของร้านค้า หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าสามารถติดต่อสอบถามหรือร้องเรียนได้ในกรณีที่มีปัญหา หากร้านค้าใดไม่มีข้อมูลเหล่านี้ หรือให้ข้อมูลที่คลุมเครือ ไม่ตรงกับความจริง หรือหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูล ควรระวังไว้เป็นพิเศษ เพราะอาจเป็นร้านค้าที่เปิดขึ้นมาชั่วคราวเพื่อหลอกลวง

    นักช็อปต้องรู้ ! เทคนิคตรวจสอบร้านค้าออนไลน์ไม่ให้ถูกหลอก

    การดำเนินการเมื่อพบว่าถูกหลอก

    หากพบว่าตนเอง ถูกหลอกลวงจากการชอปออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินแล้วไม่ได้รับสินค้า ได้ของปลอม หรือได้รับสินค้าที่ไม่ตรงกับที่ตกลงไว้ ควรดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้เพื่อรักษาสิทธิของตนเองและป้องกันความเสียหายเพิ่มเติม

    1. รวบรวมหลักฐานให้ครบถ้วน ได้แก่

    • สลิปโอนเงิน หรือหลักฐานการชำระเงิน
    • ภาพหน้าจอของประกาศขายหรือโพสต์สินค้า
    • ข้อความสนทนา ระหว่างคุณกับผู้ขาย ทั้งในแชต หรืออีเมล
    • ข้อมูลบัญชีธนาคารหรือเบอร์โทรศัพท์ของผู้ขาย
    • ภาพถ่ายหรือวิดีโอของสินค้าที่ได้รับ (หากได้รับแล้วแต่ไม่ตรงกับที่โฆษณา)

    2. แจ้งความที่สถานีตำรวจ

    เมื่อมีหลักฐานครบถ้วน ให้เดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์และลงบันทึกประจำวัน โดยควรระบุรายละเอียดให้ชัดเจน เช่น วันที่เกิดเหตุ วิธีการหลอกลวง ชื่อบัญชีผู้รับเงิน ฯลฯ

    ในบางกรณี ตำรวจอาจส่งเรื่องต่อให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเรื่องอาชญากรรมบนโลกออนไลน์โดยเฉพาะ

    3. แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    นอกจากตำรวจแล้ว ยังสามารถร้องเรียนผ่านหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อให้ช่วยตรวจสอบและติดตามคดีได้ เช่น
    สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โทร 1166 หรือเว็บไซต์ www.ocpb.go.th ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ของกระทรวงดิจิทัลฯ (ETDA) ที่เว็บไซต์ www.1212.go.th หรือโทรสายด่วน 1212

    เว็บไซต์ blacklistseller.com ซึ่งเป็นฐานข้อมูลสำหรับเตือนภัยร้านค้าหลอกลวง โดยคุณสามารถแจ้งรายชื่อผู้ขายที่มีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลเพื่อเตือนผู้อื่น

    4. แจ้งแพลตฟอร์มที่สั่งซื้อสินค้า

    หากคุณซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มให้แจ้งไปยังฝ่ายบริการลูกค้าของแพลตฟอร์มนั้น ๆ เพื่อ รายงานปัญหาและขอความช่วยเหลือในการระงับบัญชีผู้ขาย หรือขอเงินคืนผ่านระบบหากเป็นไปได้

    รู้เท่าทันก่อนชอปออนไลน์ ช่วยป้องกันการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ อย่าลืมตรวจสอบรีวิว ข้อมูลร้านค้า ราคา และใช้วิจารณญาณก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อไม่ให้หลงกลของปลอมบนโลกออนไลน์

    สารบัญประกอบ