แชร์

Copied!

รู้ไว้ก่อนตกเป็นเหยื่อ 5 เทคนิคฟิชชิ่งที่มิจฉาชีพใช้หลอกคุณให้คลิกลิงก์

19 เม.ย. 6810:00 น.
รู้ไว้ก่อนตกเป็นเหยื่อ 5 เทคนิคฟิชชิ่งที่มิจฉาชีพใช้หลอกคุณให้คลิกลิงก์

สารบัญประกอบ

    ออนไลน์ถือเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของคนยุคนี้ ตั้งแต่การทำงาน จับจ่ายใช้สอย ไปจนถึงธุรกรรมทางการเงิน ความสะดวกสบายเหล่านี้กลับซุกซ่อน "ภัยเงียบ" ที่คืบคลานเข้ามาอย่างแนบเนียน หนึ่งในกลลวงที่มิจฉาชีพนิยมใช้และพัฒนารูปแบบอยู่เสมอคือ "ฟิชชิ่ง" (Phishing) Thai PBS Verify จะพาคุณรู้ทันกลลวงนี้ก่อนตกเป็นเหยื่อ

    "ฟิชชิ่ง" (Phishing) กลยุทธ์สุดอันตรายที่มุ่งเป้าหมายไปที่การหลอกล่อให้เหยื่อ "คลิก" เข้าสู่กับดักดิจิทัล เพื่อโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวอันมีค่า ไม่ว่าจะเป็นรหัสผ่าน ข้อมูลบัตรเครดิต หรือรายละเอียดบัญชีธนาคาร

    ข้อมูลจาก บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) ในฐานะผู้พัฒนาและให้บริการระบบการชำระเงินและการโอนเงินระหว่างธนาคารของประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงทะเบียนหมายเลขพร้อมเพย์รวมทั้งสิ้น 81.06 ล้านเลขหมาย ในเดือนมีนาคม 2568 นั้น แบ่งเป็น ประชาชนทั้วไป จำนวน 80.69 ล้านเลขหมาย และภาคธุรกิจ จำนวน 0.37 ล้านเลขหมาย โดยมีการโอนเงินและชำระเงินรวมกว่า 2.10 พันล้านรายการ 

    จากข้อมูลดังกล่าว สะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า โลกออนไลน์กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การซื้อของ หรือแม้แต่การทำธุรกรรมทางการเงิน ความสะดวกสบายเหล่านี้ก็มาพร้อมกับ “ภัยเงียบ” ที่ซ่อนอยู่ หนึ่งในนั้นคือ กลโกงออนไลน์ ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยากต่อการตรวจจับ

    รู้ไว้ก่อนตกเป็นเหยื่อ 5 เทคนิคฟิชชิ่งที่มิจฉาชีพใช้หลอกคุณให้คลิกลิงก์
    ฟิชชิ่ง (Phishing) ทำงานอย่างไร ?

    ฟิชชิ่งคือการปลอมแปลงอีเมล เว็บไซต์ หรือข้อความแชต ให้ดูคล้ายกับแหล่งที่มาที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคาร หน่วยงานรัฐ หรือบริษัทชื่อดัง เมื่อเหยื่อคลิกลิงก์ จะถูกนำไปยังเว็บไซต์ปลอมซึ่งออกแบบมาให้เหมือนของจริงทุกประการ และขอให้กรอกข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ทันระวัง

    เช่น

    อีเมลจาก “ธนาคาร” แจ้งว่าบัญชีถูกระงับ พร้อมลิงก์ให้กดเข้าไปแก้ไข

    SMS จากบริษัทขนส่ง แจ้งพัสดุติดปัญหา พร้อมลิงก์ให้ตรวจสอบสถานะ

    แชทจาก "เพื่อน" ในโซเชียลมีเดีย ส่งลิงก์น่าสงสัยมาให้เปิด

    รู้ไว้ก่อนตกเป็นเหยื่อ 5 เทคนิคฟิชชิ่งที่มิจฉาชีพใช้หลอกคุณให้คลิกลิงก์

    รูปแบบฟิชชิ่งที่พบได้บ่อย

    1. ฟิชชิ่งผ่านอีเมลปลอม (Email Phishing)

    มิจฉาชีพมักส่งอีเมลที่เลียนแบบองค์กรจริง เช่น ธนาคาร, ไปรษณีย์, หรือบริษัทเทคโนโลยี โดยใส่ลิงก์หลอกให้กรอกข้อมูล หรือดาวน์โหลดไฟล์มัลแวร์ ข้อสังเกตคือลิงก์มักมี URL ที่ผิดปกติ เช่น bank-secure.info แทน bank.co.th

    2. ฟิชชิ่งผ่าน SMS (Smishing)

    วิธีนี้มาในรูปแบบของข้อความ SMS แจ้งเตือนปลอม เช่น “พัสดุของคุณถูกตีกลับ” หรือ “คุณมีสิทธิ์รับเงินคืน” โดยแนบลิงก์ที่อาจพาไปยังเว็บไซต์หลอกลวง เพื่อขอข้อมูลบัตรเครดิตหรือ OTP

    3. ฟิชชิ่งบนโซเชียลมีเดีย (Social Media Phishing)

    มิจฉาชีพจะปลอมบัญชีเป็นเพื่อนหรือบุคคลที่ไว้ใจได้ ส่งข้อความพร้อมลิงก์ เช่น “ดูนี่สิ! คลิปคุณหลุด!” เพื่อหลอกให้เหยื่อคลิกและกรอกข้อมูลบัญชี หรือดึงเข้าสู่เว็บปลอมที่ขโมยรหัสผ่าน

    4. ฟิชชิ่งจากโฆษณาหลอก (Malvertising)

    บางครั้งโฆษณาบนเว็บไซต์หรือแอป ฯ อาจมีลิงก์ที่แฝงมัลแวร์ หรือหลอกให้ดาวน์โหลดแอป ฯ ที่อ้างว่า “ล้างมือถือ” หรือ “เพิ่มความเร็ว” แต่กลับดูดข้อมูลแทน

    5. ฟิชชิ่งผ่านเว็บปลอมที่เหมือนของจริง (Website Spoofing)

    เว็บฟิชชิ่งหลายแห่งเลียนแบบหน้าตาเว็บไซต์จริงจนแทบแยกไม่ออก เช่น หน้าเข้าสู่ระบบของธนาคารหรืออีเมล แต่ URL จะคล้ายของจริง เช่น goog1e.com แทน google.com วิธีป้องกันคือ ตรวจสอบ URL ทุกครั้งก่อนกรอกข้อมูลสำคัญ

    รู้ไว้ก่อนตกเป็นเหยื่อ 5 เทคนิคฟิชชิ่งที่มิจฉาชีพใช้หลอกคุณให้คลิกลิงก์

    วิธีป้องกันตัวจากฟิชชิ่ง

    • อย่าคลิกลิงก์ในข้อความหรืออีเมลที่น่าสงสัยหลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอีเมลหรือข้อความที่คุณไม่ได้ขอ เช่น อีเมลแจ้งเตือนว่าคุณถูกรางวัล หรือข้อความแจ้งเตือนปัญหาบัญชี หากไม่แน่ใจ ให้เข้าเว็บไซต์นั้นด้วยตนเองโดยพิมพ์ URL ในเบราว์เซอร์ ไม่ใช่กดจากลิงก์โดยตรง
    • ตรวจสอบ URL ให้ละเอียดก่อนกรอกข้อมูลเว็บไซต์ปลอมมักใช้ชื่อโดเมนที่คล้ายกับของจริงเพื่อหลอกล่อ เช่น การสลับตัวอักษรในชื่อแบรนด์จาก "facebook.com" เป็น "faceb00k.com" โดยใช้เลขศูนย์แทนตัว O เพื่อหลอกให้ดูเหมือนเว็บไซต์จริง ทั้งที่เป็นของปลอม

      อีกหนึ่งสัญญาณที่ควรระวังคือ เว็บไซต์ที่ขึ้นต้นด้วย “http” แทนที่จะเป็น “https” ซึ่งตัว s ย่อมาจาก Secure แสดงว่าเว็บไซต์นั้นมีการเข้ารหัสข้อมูล เพิ่มความปลอดภัยระหว่างการใช้งาน แม้ว่าไม่ใช่ทุกเว็บที่ไม่มี https จะอันตราย แต่หากคุณต้องกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัสผ่าน หรือเลขบัตรเครดิต ควรหยุดและตรวจสอบให้แน่ใจก่อนเสมอ

    • เปิดใช้งานระบบยืนยันตัวตนสองชั้น (2FA)การตั้งค่าการยืนยันตัวตนสองชั้น เช่น ส่งรหัส OTP ไปยังมือถือ ช่วยเพิ่มความปลอดภัยแม้รหัสผ่านจะถูกขโมย ระบบนี้เป็นเหมือนด่านที่สองที่ป้องกันไม่ให้คนอื่นเข้าถึงบัญชีของคุณได้ง่าย ๆ
    • อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์หรือข้อความหากได้รับการติดต่อขอข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัตรประชาชน รหัสผ่าน หรือข้อมูลบัญชีธนาคาร อย่าให้ข้อมูลใด ๆ หากไม่สามารถยืนยันตัวตนของผู้ติดต่อได้อย่างชัดเจน
    • อัปเดตโปรแกรมป้องกันไวรัสและระบบปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอการอัปเดตช่วยป้องกันภัยคุกคามใหม่ ๆ ที่มิจฉาชีพใช้ในการโจมตี หากละเลยการอัปเดต อุปกรณ์ของคุณจะตกเป็นเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

    “ฟิชชิ่ง” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ทุกคนมีโอกสถูกหลอกได้ ถ้าไม่ระวัง แต่เราป้องกันได้แค่รู้เท่าทันกลโกง อย่ารีบกดลิงก์จากข้อความหรืออีเมลแปลก ๆ ตรวจสอบให้ดีก่อนเสมอ แค่นี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ที่มาแบบแนบเนียนมากขึ้นทุกวันแล้ว

    สารบัญประกอบ