แชร์

Copied!

เตือนแชร์คลิปอุบัติเหตุ “สงกรานต์” ย้อนหลัง เสี่ยงผิดกม.

15 เม.ย. 6809:50 น.
เตือนแชร์คลิปอุบัติเหตุ “สงกรานต์” ย้อนหลัง เสี่ยงผิดกม.

สารบัญประกอบ

    การแชร์คลิปอุบัติเหตุสงกรานต์ย้อนหลังโดยไม่ตรวจสอบ แทนที่จะเตือนภัย อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เสี่ยงโทษปรับ-จำคุก Thai PBS Verify นำความรู้เรื่องของข้อกฎหมาย พร้อมวิธีตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนกดแชร์มาไว้ที่นี่

    ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ หลายคนมักแชร์คลิปเหตุการณ์อุบัติเหตุหรือภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างเล่นน้ำ โดยไม่ได้ตรวจสอบที่มาหรือวันเวลาที่แท้จริงของเหตุการณ์ ซึ่งแม้จะมีเจตนาดีที่ต้องการเตือนภัย แต่การแชร์ข้อมูลโดยไม่ตรวจสอบให้ชัดเจน อาจส่งผลกระทบทั้งต่อบุคคลที่ปรากฏในคลิป และอาจเข้าข่าย ความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกด้วย

    แชร์ภาพ-คลิปย้อนหลังโดยไม่ตรวจสอบ เสี่ยงผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560

    มาตรา 14 (1) ระบุว่า : ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ และน่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ถือเป็นความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

    แม้คุณจะไม่ได้เป็นผู้สร้างคลิป แต่การ นำมาโพสต์ซ้ำ แชร์ต่อ หรือให้ความเห็นที่ทำให้เข้าใจผิด ก็อาจมีความผิดในฐานะ "เผยแพร่" ข้อมูลอันเป็นเท็จ

    กรณีตัวอย่างเช่น

    • แชร์คลิปอุบัติเหตุจากปีก่อน พร้อมข้อความว่า "สงกรานต์ปีนี้ก็ยังอันตรายเหมือนเดิม"
    • แชร์คลิปเหตุการณ์ต่างประเทศ แล้วอ้างว่าเกิดขึ้นในไทย
    • นำภาพเหตุการณ์เก่าไปใช้ประกอบข่าวปัจจุบันโดยไม่ระบุบริบท

    🔎 วิธีตรวจสอบภาพ - คลิปเบื้องต้นก่อนแชร์

    เพื่อไม่ตกเป็นส่วนหนึ่งของการเผยแพร่ข่าวปลอม มี 3 วิธี ดังนี้

    1. ตรวจสอบวันที่ของคลิป/ภาพ

    ✅ ดู timestamp บนคลิป

    ✅ เช็กวันที่โพสต์ต้นทางในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย

    ✅ ใช้ Google Lens เพื่อตรวจสอบว่าภาพเคยปรากฏที่ไหนมาก่อนหรือไม่

     

    2. ดูบริบทของเหตุการณ์

    ✅ สังเกตฉากหลัง เช่น ทะเบียนรถ สถานที่ ป้ายภาษา

    ✅ ฟังสำเนียง เสียงพูด หรือเสียงบรรยายภายในคลิป

    ✅ เปรียบเทียบกับข่าวที่เป็นทางการว่าตรงกันหรือไม่

     

    3. ค้นหาข่าวที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข่าวน่าเชื่อถือ

    ✅ เว็บไซต์ข่าวกระแสหลัก เช่น Thai PBS, สำนักข่าวไทย, สำนักข่าวต่างประเทศ

    ✅ ใช้เครื่องมือหรือตรวจสอบจากเว็บไซต์ fact-check เช่น Thai PBS Verify หรือ Google Fact Check Explorer

     

    ข้อแนะนำจาก Thai PBS Verify

    ✅ ถ้าไม่แน่ใจว่าภาพ/คลิปเป็นของจริงหรือไม่ : ให้งดแชร์

    ✅ หากเห็นผู้อื่นแชร์ข้อมูลผิดพลาด : แนะนำอย่างสุภาพ หรือส่งลิงก์ที่ตรวจสอบแล้วให้ดูประกอบ

    ✅ ใช้พลังโซเชียลอย่างสร้างสรรค์ เพื่อไม่ตกเป็นผู้สร้างหรือขยายข่าวปลอมให้แพร่กระจายสู่ผู้อื่นต่อไป

    บทความที่เกี่ยวข้อง

    แชร์เก็บไว้ วิธีตรวจสอบภาพ จริง-ปลอม ? : www.thaipbs.or.th/now/content/1986

    คู่มือฉบับย่อ "ตรวจสอบข่าวปลอมเบื้องต้น" : www.thaipbs.or.th/now/content/2010

    จับผิดภาพ #AI อย่างไร ? เรียนรู้ "ประโยชน์-โทษ" เสริมทักษะใหม่ในยุคดิจิทัล : www.thaipbs.or.th/now/content/2263

    รู้จัก "Metadata" เครื่องมือ Fact check ตรวจสอบภาพจริง-ปลอม : www.thaipbs.or.th/now/content/2277

    สารบัญประกอบ