เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2568 คณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake News) ที่ทวีความซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับกลไกการสื่อสารในยุคดิจิทัล และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับมือกับข่าวปลอมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
ในเวทีการประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก 5 หน่วยงานหลักด้านเทคโนโลยีและความมั่นคงไซเบอร์เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล บทบาท และภารกิจในการตรวจสอบข่าวปลอม ได้แก่
• กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)
• สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
• สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)
• ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
• Thai PBS Verify หน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใต้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) นำโดย นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ด้านเทคโนโลยีการกระจายสื่อ และนางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล เข้าร่วมประชุมในฐานะผู้แทนองค์กร
เปิดบทบาท Thai PBS Verify บนเวทีความร่วมมือระดับประเทศ
Thai PBS Verify ได้นำเสนอภารกิจในการตรวจสอบข่าวสารที่เผยแพร่ในสื่อสาธารณะอย่าง Thai PBS โดยอาศัยหลักฐาน ข้อมูล และเครื่องมือทางเทคโนโลยี เพื่อวิเคราะห์ ตรวจสอบ และเผยแพร่ผลการตรวจสอบข่าวปลอมให้สาธารณชนได้รับรู้ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข้อมูลผิดพลาด พร้อมทั้งเผยแพร่ผลการตรวจสอบสู่สาธารณชนอย่างโปร่งใส มีความรับผิดชอบ และเข้าถึงได้ง่าย
เปิดประเด็นสำคัญ สะท้อนความกังวลและข้อเสนอเพื่อยกระดับการรับมือ
เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ซักถามและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้หยิบยกประเด็นสำคัญ อาทิ
• การอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ว่าควรมีช่องทางที่ง่ายและรวดเร็วในการส่งคำถามหรือแจ้งเบาะแสข่าวปลอมเพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ
• หลักเกณฑ์ในการแยกแยะข่าวปลอมกับข่าวบิดเบือน ว่ามีหลักวิธีอย่างไรในการจำแนกความแตกต่างของข้อมูลทั้งสองประเภท
• บทบาทของสื่อมวลชนอื่น ๆ ที่ร่วมดำเนินการตรวจสอบข่าวปลอมในลักษณะเดียวกับ Thai PBS และความร่วมมือระหว่างกัน
• ที่มาของข้อมูลที่นำมาตรวจสอบ โดยสอบถามถึงแหล่งข้อมูลหรือวิธีคัดเลือกข่าวที่ควรได้รับการ Verify
• ข้อจำกัดของเครื่องมือเทคโนโลยี เช่น Google Earth หรือโปรแกรมวิเคราะห์ภาพที่อาจไม่ทันสมัย และแนวทางในการคัดกรองความถูกต้องของข้อมูลในกรณีดังกล่าว
• ระบบการแบ่งปันข้อมูล ว่ามีรูปแบบหรือแนวทางอย่างไรในการแชร์ข้อมูลข่าวปลอมระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ
• การจัดการบัญชีผู้ใช้ปลอม (Fake Account) ซึ่งเป็นต้นทางของข่าวปลอม ว่ามีเครื่องมือหรือมาตรการรับมือที่เพียงพอหรือไม่
• การ Fact Check ข่าวการเมือง ซึ่งได้รับความสนใจและถูกเสนอให้ดำเนินการอย่างเข้มข้น โดยมีการเสนอให้สื่อสารสาธารณะอย่างไทยพีบีเอสทำงานร่วมกับองค์กรสื่ออื่น
• ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้าน Fact Checking ว่ามีการแบ่งปันข้อมูล ประสบการณ์ และเครื่องมือระหว่างกันอย่างไร
• การใช้เทคโนโลยี OSINT (Open Source Intelligence) เพื่อสืบค้นและตรวจสอบข่าวปลอม โดยสอบถามถึงขอบเขตการใช้งานและประสิทธิภาพของเครื่องมือดังกล่าว
• การดำเนินคดีต่อผู้เผยแพร่ข่าวปลอม ว่าควรมีการเผยแพร่ผลคดีให้สาธารณชนรับทราบ เพื่อเสริมสร้างความรับผิดชอบในสังคม
• แนวทางการสื่อสารเนื้อหาการตรวจสอบข่าวปลอมให้น่าสนใจ โดยไม่ใช้ภาษาที่ยากหรือวิชาการเกินไป เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มประชาชนได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ก้าวสำคัญสู่ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม สร้างภูมิคุ้มกันทางข้อมูลข่าวสาร
การประชุมในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการรับมือกับข่าวปลอมอย่างบูรณาการ โดยการผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงไซเบอร์ องค์กรด้านกฎหมาย หน่วยงานคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และสื่อมวลชนสาธารณะอย่าง Thai PBS ถือเป็นกลไกหลักที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สังคมไทยในการเผชิญหน้ากับข่าวปลอมอย่างมีสติ รอบด้าน และยั่งยืน เกิดผลเป็นรูปธรรม และสร้างสังคมที่มีภูมิคุ้มกันข้อมูลข่าวสารอย่างยั่งยืนในอนาคต