ด้านกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ได้ออกมาเตือนภัยผ่านเพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ว่ามีผู้แอบอ้างเป็นผู้ตรวจสอบอาคาร วิศวกรตรวจสอบโครงสร้างอาคารที่เสียหายหวังเรียกเงินมัดจำและหายตัวไป
โดยระบุว่า ระวังมิจฉาชีพหลอกรับตรวจโครงสร้างบ้านหลังแผ่นดินไหว
จากเหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้กับอาคารบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก มิจฉาชีพจึงได้ใช้โอกาสนี้ในการสวมรอยเป็นวิศวกร หลอกตรวจโครงสร้างและอาคารที่เสียหาย ก่อนที่จะเชิดเงินมัดจำหายตัวไป
โดยหากต้องการจะจ้างผู้ตรวจสอบอาคาร ตำรวจสอบสวนกลาง ขอแนะนำให้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ตรวจสอบอาคาร ดังนี้
- ต้องมีสัญชาติไทย
- มีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรหรือสถาปนิก ซึ่งทางกฎหมายได้ระบุไว้ว่า เป็นผู้ที่ได้รับการอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ตามกฎหมายที่ว่าด้วยวิศวกร หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก
- ผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบสภาพบ้านหรืออาคาร และอุปกรณ์ของอาคารตามที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรอง
- ต้องได้รับการรับรองการขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการควบคุมอาคาร โดยต้องมีหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบอาคารตามแบบ รต.1 จากคณะกรรมการควบคุมอาคาร
- ต้องไม่เคยถูกถอดออกจากการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารในระยะเวลา 2 ปี ก่อนวันขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) จึงขอฝากเตือนประชาชน ขอให้ใช้ความระมัดระวัง และตรวจสอบให้ถี่ถ้วนทุกครั้ง ในการจ้างผู้เชี่ยวชาญในการตรวจบ้านและอาคาร
ด้านชวลิต จันทรรัตน์ นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) กล่าวว่า อาคารสาธารณะจะต้องผ่านการตรวจสอบทุกปี เช่น อาคารสูง อาคารที่มีผู้ใช้จำนวนมาก ต้องออกรายงานหรือใบรับรองตรวจสอบความถูกต้อง เป็นกฎหมายบังคับ และวิศวกรผู้ตรวจสอบอาคารต้องมีใบรับรองการจดทะเบียน และหากมีค่าใช้จ่ายจะไม่มีการเรียกเก็บล่วงหน้า
“ผู้ตรวจสอบอาคาร หากไม่มีใบอนุญาต ก็ทำการตรวจสอบไม่ได้ กรณีที่ให้คำแนะนำการซ่อม ต้องออกใบรับรองประกอบ หากมีค่าใช้จ่าย ไม่ควรมีการเก็บค่าใช้จ่ายก่อน สามารถบอกขอบเขตยืนยันให้ลูกค้าผู้เช่าได้รู้ว่ามีการตรวจสอบว่ามีหรือไม่มีอะไรเสียหาย”
อีกทั้งการเลือกผู้ตรวจสอบอาคารที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและมีคุณสมบัติตามกฎหมายบังคับเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นเครื่องการันตีคุณภาพและความปลอดภัยของอาคาร โดยผู้ตรวจสอบอาคารตามกฎหมาย สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ผู้ตรวจสอบอาคาร ประเภทบุคคลธรรมดา
- ต้องมีสัญชาติไทย
- ต้องมีใบประกอบวิชาชีพวิศวกรหรือสถาปนิก ซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกร หรือเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก
- ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบสภาพบ้านหรืออาคาร และอุปกรณ์ของอาคารตามที่คณะกรรมการควบคุมอาคารรับรองและมีหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบอาคารตามแบบ รต.1 จากคณะกรรมการควบคุมอาคาร
- ไม่เคยถูกถอดออกจากการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารในระยะเวลา 2 ปี ก่อนวันขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ
2. ผู้ตรวจสอบอาคาร ประเภทนิติบุคคล
คุณสมบัติของผู้ตรวจสอบอาคารในรูปแบบนิติบุคคล จะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งสมาชิกในคณะบริหารของนิติบุคคล เช่น หุ้นส่วนผู้จัดการ กรรมการ กรรมการผู้จัดการ หรือผู้บริหารที่รับผิดชอบในการควบคุมและดูแลการตรวจสอบ โดยผู้บริหารเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- บริษัทต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย โดยต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งจากผู้ถือสัญชาติไทย และหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น หรือกรรมการต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ที่เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด
- ในคณะผู้บริหารของนิติบุคคลต้องมีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการตรวจสอบสภาพอาคารและอุปกรณ์
- สมาชิกในคณะผู้บริหารตามข้อ 3 ต้องไม่เคยถูกถอดถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารในระยะเวลา 2 ปี ก่อนวันขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ
- เป็นผู้ที่ได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนจากคณะกรรมการควบคุมอาคาร โดยจะได้รับเอกสารรับรองการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบอาคารตามแบบ รต.1 จากคณะกรรมการควบคุมอาคาร
ทริกการเลือกผู้ตรวจสอบอาคาร
- ต้องมีความรู้และความเชี่ยวชาญ มีความเข้าใจในมาตรฐานและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง
- ต้องมีการส่งรายงานและให้คำแนะนำแก่เจ้าของอาคารได้ อย่างชัดเจนและเป็นระบบ พร้อมระบุประเด็นที่ต้องทำการแก้ไข
- ต้องมีประสบการณ์ในประเภทของอาคาร รู้จักความแตกต่าง และข้อบกพร่องของอาคารแต่ละประเภท
- ต้องมีใบรับรองและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพในการตรวจอาคาร
- ต้องมีความสามารถในการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ
- ต้องชัดเจนในการสื่อสาร เพื่อช่วยให้ลูกค้าทราบถึงปัญหาและเข้าใจถึงสภาพอาคารได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ สามารถเช็คข้อมูลบริษัทหรือผู้ตรวจสอบอาคารทั้งประเภทนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ที่จำเป็นต้องประกอบไปด้วยเลขที่บัตร วันหมดอายุบัตร
ได้ที่ระบบบริการข้อมูลผู้ตรวจสอบอาคาร เว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง
https://webs-apps.dpt.go.th/dpt_auditbldg/BCB/search.php
ที่มา : วิธีเลือกผู้ตรวจสอบอาคารที่น่าเชื่อถือ ต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง