ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสื่อสารก็มีการปรับตัวตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากเดิมที่ต้องพึ่งพาสื่อดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารในการกระจายข้อมูลปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับหันมาใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Instagram, TikTok หรือ Facebook ทำให้อินฟลูเอนเซอร์กลายเป็นผู้มีอิทธิพลสำคัญต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ ด้วยความสามารถในการสื่อสารแบบใกล้ชิด เป็นกันเอง และมีการเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นธรรมชาติ
อินฟลูเอนเซอร์สามารถสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการรีวิวสินค้า การแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว และการสร้างเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจของผู้ติดตาม ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจซื้อสินค้าได้จริง อย่างไรก็ตาม หลายคนยังคงสับสนระหว่าง “อินฟลูเอนเซอร์” กับ “สื่อ” ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารที่มีมายาวนาน โดยเฉพาะในเรื่องของบทบาท วิธีการนำเสนอข้อมูล และความน่าเชื่อถือ แม้ว่าทั้งสองจะมีเป้าหมายหลักคือการเข้าถึงผู้บริโภคเช่นเดียวกัน แต่แนวทางและกลยุทธ์ที่ใช้กลับแตกต่างกัน
การทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างอินฟลูเอนเซอร์กับสื่อจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับทั้งผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเลือกใช้ช่องทางการสื่อสารได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกออนไลน์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
อินฟลูเอนเซอร์คืออะไร ?
อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คือบุคคลที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม ความคิด หรือการตัดสินใจของผู้ติดตามผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น YouTube, Instagram, Facebook หรือ TikTok โดยอินฟลูเอนเซอร์จะใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การรีวิวสินค้า การแชร์ประสบการณ์ส่วนตัว หรือการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจ เพื่อสร้างความสัมพันธ์กับผู้ติดตามในระดับที่ใกล้ชิดและเป็นกันเองมากกว่าสื่อดั้งเดิมทั่วไป ด้วยเหตุนี้เอง อินฟลูเอนเซอร์จึงกลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่ทรงพลังสำหรับแบรนด์ที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
ประเภทของอินฟลูเอนเซอร์ สามารถแบ่งได้ตามจำนวนผู้ติดตามและระดับอิทธิพล ดังนี้
- Micro-Influencers: อินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้มีผู้ติดตามประมาณ 10,000 - 100,000 คน โดยมักจะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น ความงาม แฟชั่น อาหาร หรือสุขภาพ จุดเด่นของกลุ่มนี้คือการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ติดตาม ทำให้การสื่อสารดูจริงใจและน่าเชื่อถือ จึงมักได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจง
- Macro-Influencers: มีผู้ติดตามตั้งแต่ 100,000 ถึง 1 ล้านคน ซึ่งสามารถสร้างอิทธิพลในระดับที่กว้างขึ้น เหมาะสำหรับแบรนด์ที่ต้องการการรับรู้ในวงกว้างและสร้างกระแสในสังคมออนไลน์ อินฟลูเอนเซอร์ในกลุ่มนี้มักมีประสบการณ์ในการทำงานกับแบรนด์และสามารถผลิตคอนเทนต์ที่มีคุณภาพสูงได้อย่างมืออาชีพ
- Mega-Influencers: คือดารา นักแสดง ศิลปิน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง โดยมีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน การสื่อสารของอินฟลูเอนเซอร์กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงผู้คนในระดับแมสมาร์เก็ต และมักถูกเลือกใช้ในการเปิดตัวสินค้าใหม่หรือแคมเปญระดับชาติ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการจ้างงานอาจสูงตามระดับความดัง
สื่อหลัก คืออะไร ?
สื่อหลัก (Traditional Media) ได้แก่ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่มีมาอย่างยาวนานก่อนการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มดิจิทัล สื่อเหล่านี้เป็นแหล่งข่าวที่ผู้คนให้ความไว้วางใจ เนื่องจากผ่านกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน ทั้งด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงและการควบคุมเนื้อหาภายใต้หลักจรรยาบรรณของวิชาชีพ
ข้อดีสื่อหลัก คือ เหมาะสำหรับการสื่อสารกับประชาชนทั่วไป โดยไม่จำกัดเพศ วัย หรือความสนใจเฉพาะทาง นอกจากนี้ยังมีความน่าเชื่อถือสูง เพราะมีทีมบรรณาธิการ และนักข่าวที่ผ่านการฝึกอบรม และเนื้อหาทุกชิ้นต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองก่อนเผยแพร่ ทำให้สื่อหลักยังคงเป็นแหล่งข้อมูลที่คนจำนวนมากเชื่อถือ
ส่วนข้อเสียนั้นอาจจะมีค่าใช้จ่ายในการโฆษณาสูงเมื่อเทียบกับการโฆษณาผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึง เนื้อหาที่เผยแพร่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที
ลักษณะการนำเสนอข่าวของอินฟลูเอนเซอร์และสื่อ
อินฟลูเอนเซอร์ :
- ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น YouTube, TikTok, Facebook, Instagram ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปสามารถผลิตและเผยแพร่เนื้อหาได้อย่างเสรีภาพ
- สื่อสารในรูปแบบกันเอง เน้นการแชร์ความคิดเห็น ประสบการณ์ หรือมุมมองส่วนตัว ทำให้เนื้อหาดูเข้าถึงง่าย เป็นธรรมชาติ และรู้สึกเหมือนฟังเพื่อนแนะนำ
- รายงานข่าวหรือข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอการตรวจสอบหลายขั้นตอน อย่างไรก็ตาม จุดนี้อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาดหรือการแชร์ข้อมูลที่ไม่ผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรัดกุม
สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าวว่า สำหรับทางอินฟลูเอเซอร์ หลังจากได้ข้อมูลมา เราจะมีการตรวจสอบจากสื่อหลักต่างๆ ข้อมูลถูกต้องหรือไม่ หรือหากพบว่าข้อมูลมีการนำเสนอไปแล้ว แต่เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เราจะทำการลบข้อมูลนั้นแล้วชี้แจ้งข้อมูลที่ถูกต้องทันที
“เพราะอินฟลูเอนเซอร์มีกฎสังคมที่บังคับอยู่ หากนำเสนอข้อมูลที่ไม่จริง ยอดผู้ติดตามจะลดลงทันที” สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Tellscore กล่าว
สื่อหลัก:
- ยึดหลักจรรยาบรรณและความเป็นกลาง มีเป้าหมายในการรายงานข่าวอย่างตรงไปตรงมา และไม่ใส่ความคิดเห็นส่วนตัว
- อ้างอิงแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ข้อมูลที่นำเสนอจะผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบอย่างเป็นระบบ มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนเผยแพร่
- กระบวนการรายงานที่เป็นทางการ มีโครงสร้างและมาตรฐานชัดเจน เช่น การใช้แหล่งข่าวสองแหล่งขึ้นไป การระบุวันเวลา และการขออนุญาตสัมภาษณ์
นายกิตติ สิงหาปัด ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ กล่าวในสัมมนาระดับชาติเนื่องในโอกาสวันตรวจสอบข่าวลวงโลก ปี 2568 ว่า สำหรับสื่ออย่างหนังสือพิมพ์ มีกระบวนการในการตรวจสอบข่าวตั้งแต่ นักข่าว พิสูจน์อักษร และกองบรรณาธิการ ทำให้ไม่สามารถผิดพลาดได้
“ในมุมมองนักข่าวอาชีพของผม คือเราทำงานภายใต้ จริยธรรมวิชาชีพ สื่ออย่างพวกเราไม่อนุญาตให้ผิดพลาด ตามจริยธรรมสมาคมนักข่าว ฯ เขียนไว้ ประชาชนต้องได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงเท่านั้น หากผิดพลาดเราจะถูกเรียกไปตรวจสอบ” กิตติ สิงหาปัด ผู้ประกาศข่าว รายการ ข่าว 3 มิติ กล่าว
ส่วนข่าวลือมักจะกล่าวโดยไม่มีแหล่งอ้างอิง เราต้องตรวจสอบว่าใครพูด และเอามาจากไหน ข้อมูลถูกต้องไหม เพราะอาชีพของเราแขวนอยู่บนความน่าเชื่อถือ ขอประชาชนอย่าลงเชื่ออะไรง่ายๆ ต้องตรวจสอบด้วย
รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า ไทยพีบีเอสเรามีผู้เชี่ยวชาญ ที่มีข้อมูลปฐมภูมิ และเครือข่ายกว่า 5 พันคนทั่วประเทศ ยกตัวอย่างตอนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเราใช้นักข่าวพลเมืองทำงานในแต่ละพื้นที่รายงานเข้ามาเป็นข้อมูลปฐมภูมิแบบที่คุณกิตติบอก ซึ่งข้อมูลชุดนั้เราสามารถนำไปตรวจสอบต่อได้
ขณะที่ นายธนากร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard กล่าวว่า ก่อนจะเริ่มทำงานสื่อ ต้องใช้เวลาตรวจสอบ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องตั้งคำถาม และตรวจสอบ
การตรวจสอบไม่ใช่แค่แหล่งข่าวเท่านั้น เราต้องเช็กจากหน่วยงาน และ พี่ๆ สื่อ ที่อยู่หน้างานอีกที เวลาเกิดสถานการณ์ตกใจ มีคนจำนวนมากคิดว่า ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่ไหนก่อนดี เราต้องมีหน้าที่นำเสนอให้คนเชื่อ และเข้าใจ มั่นใจ นี่เป็นโจทย์ระยะยาวที่เป็นความยั่งยืนของคนวงการสื่อ ต้องเป็นตัวเชื่อมเน็ตเวิคที่มันกระจัดกระจาย เราจะดึงความน่าเชื่อถือ ให้น่าเชื่อถือใช้เป็นแหล่งอ้างอิงได้ต่อ” นายธนากร วงษ์ปัญญา กล่าว
ข้อดี-ข้อเสีย :
- สำหรับข้อดีอินฟลูเอนเซอร์ สามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้ดี สร้างการมีส่วนร่วมสูงจากผู้ติดตาม ด้านข้อเสีย เสี่ยงต่อการแพร่กระจายข่าวปลอม ขาดมาตรฐานการตรวจสอบ และอาจมีอคติจากความสัมพันธ์ส่วนตัวกับแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์
- สื่อหลัก มีความน่าเชื่อถือสูง เนื้อหาผ่านการกลั่นกรองและควบคุมคุณภาพ มั่นใจได้ในความถูกต้อง ส่วนข้อเสีย คือ ขั้นตอนการทำงานใช้เวลานาน ทำให้การนำเสนอข่าวอาจช้ากว่าแพลตฟอร์มออนไลน์ และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับความสนใจรายบุคคลได้อย่างยืดหยุ่น
วิธีการตรวจสอบข่าวในยุคข่าวปลอม
- ตรวจสอบเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่เผยแพร่: ควรพิจารณาว่าแหล่งข่าวนั้นเป็นเว็บไซต์ที่มีตัวตนจริงหรือไม่ มีชื่อเสียงแค่ไหน และมีการอัปเดตข้อมูลอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า
- เช็กประวัติความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว: โดยสื่อส่วนใหญ่จะมีบรรณาธิการ ทีมงาน และกระบวนการตรวจสอบก่อนเผยแพร่ข่าว เช่น ThaiPBS, BBC หรือ The Standard
- เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายแหล่ง: หากข่าวใดฟังดูน่าสงสัย ควรลองค้นหาข่าวเรื่องเดียวกันจากสื่อหลายแห่ง หากตรงกันจึงค่อยพิจารณาว่าเป็นข่าวจริง
- อ่านข่าวจากหลายมุมมอง: ข่าวเดียวกันอาจมีการตีความต่างกัน ควรเปิดใจอ่านทั้งมุมบวก มุมลบ และมุมกลาง เพื่อให้เห็นภาพรวมอย่างรอบด้าน
- หลีกเลี่ยงแหล่งข่าวที่มีแนวโน้มบิดเบือน: เช่น เพจที่มีแนวทางการนำเสนอที่เน้นอารมณ์หรือใช้ถ้อยคำรุนแรงเกินความจำเป็น
- ใช้เครื่องมือตรวจสอบข่าว: ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบข่าวปลอมได้ เช่น
Google Search: ค้นหาชื่อเรื่องหรือคำพูดในข่าว เพื่อตรวจสอบว่ามีแหล่งอื่นพูดถึงหรือไม่
ThaiPBS Verify: เว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอมของ Thai PBS ที่ทำงานร่วมกับทีมตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์ข่าวหรือข้อความที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ การเมือง และสังคม สามารถเข้าไปดูข่าวที่ผ่านการตรวจสอบแล้วได้ที่ www.thaipbs.or.th/verify
ในโลกยุคดิจิทัล การแยกแยะระหว่าง อินฟลูเอนเซอร์ และ สื่อ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะทั้งสองมีบทบาทแตกต่างกันในการสื่อสาร ผู้บริโภคควรมีทักษะในการรับรู้และตรวจสอบข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอม และเลือกเสพเนื้อหาที่น่าเชื่อถือและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน