Thai PBS Verify รวบรวมเหล่าบรรดาผู้กองหน้าใหม่แห่ง "กองร้อยปอยเปต" แก๊งคอลเซนเตอร์แต่งกายเป็นตำรวจ ที่ล่าสุดบรรจุเข้ามาใหม่จากการแจ้งเบาะแสของประชาชนมายังเพจ Thai PBS Verify ซึ่งรอบนี้มาพร้อมผู้กองหนุ่มหน้าใหม่ถึง 6 คน รวมถึงมีผู้กองสาวบรรจุใหม่อีก 1 คนอีกด้วย เตือนประชาชนให้จดจำหน้าเอาไว้ ป้องกันการตกเป็นเหยื่อ
Thai PBS Verify เตือนภัย หลังพบเบาะแสการเพิ่มขึ้นของบรรดาผู้กองหน้าใหม่แห่ง "กองร้อยปอยเปต" ที่ล่าสุดประชาชนได้มีการแจ้งเบาะแสมายัง เพจ Thai PBS Verify ซึ่งพบว่าการกลับมาในครั้งนี้มีเหล่าผู้กองบรรจุเข้ามาใหม่ในทำเนียบของกองร้อยปอยเปต เพิ่มขึ้นอีกถึง 6 คน
"ผู้กองสาว" บรรจุใหม่แห่งกองร้อยปอยเปต

นอกจากนี้ยังพบมีการนำผู้กองสาวหน้าใหม่เพิ่มเข้ามาหลอกลวงเหยื่อ รวมถึงพบการเปลี่ยนแปลงในส่วนของซึ่งจะเห็นได้ว่าฉากปัจจุบันมีการเปลี่ยนไปใช้โลโก้ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงเปลี่ยนสีพื้นหลังเป็นสีแดงเลือดหมู ซึ่งในซีซัน 2 พบว่า ส่วนใหญ่จะใช้ฉากหลังสีขาว โดยก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เชื่อว่า ข้อมูลที่ได้มีการเตือนภัยออกไปนั้น ก็ไปถึงกลุ่มของมิจฉาชีพด้วยเช่นเดียวกัน และทำให้มีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้น

ทั้งนี้จากการสอบสวนในส่วนของผู้กองปอยเปตที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้า ระบุว่าห้องที่มีการใช้สำหรับการหลอกลวงนั้น มีการปรับเป็นสตูดิโอ ซึ่งมีทั้งเสื้อผ้าที่จัดเตรียมไว้ รวมถึงมีสไตล์ลิสต์คอยดูแลเสื้อผ้าให้กับเหล่ามิจฉาชีพอีกด้วย
แอบอ้างเป็นตำรวจ ใช้บัตรข้าราชการตำรวจปลอม

ในจำนวนนี้เราพบว่า มีการแอบอ้างบัตรข้าราชการตำรวจ โดยใช้ชื่อว่า ร.ต.ท.ณัฐพล ชลธนพัฒน์ ตำแหน่ง รองสารวัตร สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี ในการใช้หลอกลวงเหยื่ออีกด้วย ซึ่ง Thai PBS Verify ได้ทำการตรวจสอบไปยัง สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี และได้รับการยืนยันว่า ไม่มีชื่อของ ร.ต.ท.ณัฐพล ชลธนพัฒน์ เป็นตำรวจของสถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี แต่อย่างใด
ตำรวจจริงจะไม่ทำ 3 สิ่งนี้
1. โทรแอบอ้างว่าเป็นตำรวจ
แก๊งคอลเซนเตอร์จะโทรมาแอบอ้างว่าเป็นตำรวจ และแจ้งว่ามีการกระทำผิดหรือมีชื่อผู้เสียหายพัวพันในคดี โดยใช้บัตรข้าราชการปลอมและชื่อหน่วยงานเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ
2. ส่งบัตรปลอมทางแอปพลิเคชัน
ผู้ร้ายจะส่งรูปบัตรข้าราชการตำรวจปลอมมาทางแอปพลิเคชัน LINE หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่เหยื่อสะดวก เพื่อให้เหยื่อเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง และข่มขู่ว่าหากไม่ทำตามจะถูกดำเนินคดีหรือจับกุม
3. หลอกลวงให้โอนเงิน
เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ แก๊งคอลเซนเตอร์มักจะบอกให้เหยื่ออยู่ตามลำพัง โดยอ้างว่าเป็นความลับและเพื่อป้องกันการยึดทรัพย์หรือหลีกเลี่ยงการจับกุม ต้องโอนเงินมายังบัญชีที่ระบุ หรือให้ส่งข้อมูลทางการเงินส่วนตัว
วิธีการป้องกันภัยจากแก๊งคอลเซนเตอร์
• หากได้รับโทรศัพท์ที่อ้างว่าเป็นตำรวจ ให้ตั้งสติและสอบถามข้อมูลที่น่าสงสัย เช่น หน่วยงาน ตำแหน่ง และเบอร์โทรกลับ
• ตรวจสอบยศ ชื่อ สกุล ตำแหน่ง ข้าราชการตำรวจตามบัตรข้าราชการที่ถูกแอบอ้าง ได้โดยตรงกับสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานที่มีการแอบอ้างชื่อ ว่ามีตัวตนจริง และปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถูกแอบอ้างจริงหรือไม่ โดยสามารถค้นหาเบอร์โทรสถานีตำรวจในเว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือ https://www.royalthaipolice.go.th/station.php
• อย่าหลงเชื่อบัตรข้าราชการที่ส่งมาทางแอปพลิเคชัน เพราะบัตรสามารถปลอมแปลงได้ง่าย
• อย่าโอนเงินหรือให้ข้อมูลส่วนตัว เช่น เลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรประชาชน หากยังไม่มั่นใจว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริง
• หากสงสัยว่าถูกหลอกลวงหรือได้รับการติดต่อที่ผิดปกติ โปรดแจ้งตำรวจในพื้นที่หรือโทร 1599 เพื่อตรวจสอบโดยทันที!
• การระมัดระวังและไม่หลงเชื่อคำข่มขู่ของแก๊งคอลเซนเตอร์ เป็นวิธีสำคัญในการป้องกันภัยจากกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้
• วางสายทันที แม้ว่าผู้ที่อยู่ในสายจะอ้างข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ก็ตาม ให้พึงระลึกไว้เสมอว่า ข้อมูลส่วนตัวของท่าน ได้หลุดไปสู่มือของมิจฉาชีพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอย่าหลงเชื่อ ให้วางสายทันที
หากประชาชนพบเจอการหลอกลวงรูปแบบต่าง ๆ ในลักษณะข้างต้น ที่มีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้บันทึกภาพหน้าจอ หรือ อัดวิดีโอ ขณะสนทนา พร้อมกับส่งแจ้งเป็นเบาะแสได้ทางเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) เพื่อนำไปสู่การสืบสวน และจับกุมกลุ่มขบวนการนี้ หรือทางเพจเฟซบุ๊ก Thai PBS Verify เพื่อจะได้นำภาพของคนร้ายเหล่านี้มาแจ้งเตือนเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของเหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ต่อไป
ทั้งนี้หากพบปัญหาเกี่ยวกับมิจฉาชีพออนไลน์สามารถติดต่อ ศูนย์ AOC 1441 เพื่อเข้าปรึกษา แจ้งเบาะแส หรือแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านข่าวเกี่ยวกับ "กองร้อยปอยเปต" ซีซัน 2 คลิกที่นี่ : https://www.thaipbs.or.th/now/content/2286