แชร์

Copied!

รู้จัก “Metadata” เครื่องมือ Fact check ตรวจสอบภาพจริง-ปลอม

3 ก.พ. 6804:42 น.
รู้จัก “Metadata” เครื่องมือ Fact check ตรวจสอบภาพจริง-ปลอม

สารบัญประกอบ

    Thai PBS Verify พาไปรู้จักวิธีตรวจสอบภาพถ่ายด้วย "Metadata" ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งจะมีวิธีการตรวจสอบว่าภาพที่พบเป็นภาพจริงหรือปลอมอย่างไร ติดตามได้ที่นี้

    Metadata หรือ การดึงข้อมูลที่ถูกฝังอยู่ภายในไฟล์ภาพสำคัญอย่างไรต่อกระบวนการ Fact Check และวิธีการดึงข้อมูลจากภาพมาตรวจสอบมีวิธีการอย่างไร Thai PBS Verify จะพาไปรู้จักวิธีตรวจสอบภาพถ่ายด้วย "Metadata" ที่ถือเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยข่าวปลอมและข่าวลวงอย่างเช่นปัจจุบัน

    Metadata คืออะไร ?

    Metadata คือข้อมูลที่ถูกฝังอยู่ภายในไฟล์ภาพ ซึ่งบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับภาพนั้น ที่เรียกว่า Exif ซึ่งจะประกอบไปด้วย 
    ✅ วันที่และเวลาที่ถ่ายภาพ 
    ✅ กล้องที่ใช้ในการถ่ายภาพ 
    ✅ การตั้งค่ากล้อง 
    ✅ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ (Geotag) 
    ข้อมูลเหล่านี้สามารถเป็นหลักฐานสำคัญในการตรวจสอบความถูกต้องของภาพถ่าย

    Metadata สำคัญอย่างไร ?

    ✅ ตรวจสอบความถูกต้องของภาพ : โดยการเปรียบเทียบข้อมูลใน Metadata กับข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น วันที่เกิดเหตุการณ์ สถานที่เกิดเหตุ หรือข่าวสารที่เกี่ยวข้อง

    ✅ ตรวจสอบการตัดต่อภาพ : หากพบความขัดแย้งในข้อมูล Metadata เช่น วันที่และเวลาที่ไม่สอดคล้องกัน หรือตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ไม่ตรงกับสถานที่ที่ระบุ อาจเป็นสัญญาณว่าภาพนั้นถูกตัดต่อ

    ✅ หาที่มาของภาพ : Metadata สามารถช่วยระบุแหล่งที่มาของภาพได้ เช่น ช่างภาพที่ถ่ายภาพ หรือเว็บไซต์ที่ภาพถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรก

    วิธีตรวจสอบภาพด้วย Metadata

    เครื่องมือช่วยดึงค่า Image Metadata จากภาพ โดยเฉพาะการดูข้อมูล Exif นั้น สามารถทำได้ดังนี้

    ✅ หากดูจากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบ Windows สามารถคลิกขวาที่รูปภาพ เลือก Properties หรือคุณสมบัติ และเลือกที่ Details หรือรายละเอียด ก็จะเห็นข้อมูลเพิ่มเติมจากภาพ

    ✅ หากดูจากเครื่องคอมพิวเตอร์ระบบ MacOS ให้คลิกขวาที่รูป และเลือก Get info เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมของรูปได้เช่นเดียวกัน

    ✅ ใช้โปรแกรมดูภาพ : โปรแกรมดูภาพส่วนใหญ่ เช่น Adobe Photoshop , Lightroom หรือโปรแกรมดูภาพทั่วไป สามารถแสดงข้อมูล Metadata ของภาพได้

    ✅ ใช้เว็บไซต์ตรวจสอบภาพ : มีเว็บไซต์หลายแห่งที่ให้บริการตรวจสอบภาพโดยเฉพาะ เช่น Metadata2Go , Fotoforensics , TinEye และ Digimarc เว็บไซต์เหล่านี้สามารถช่วยในการตรวจสอบเมต้าดาต้าในหลาย ๆ รูปแบบทั้งในภาพและไฟล์ต่าง ๆ รวมถึงช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ได้

    ✅ ใช้แอปพลิเคชันบนมือถือ : ยังมีแอปพลิเคชันบนมือถือหลายตัวที่ออกแบบมาเพื่อตรวจสอบภาพ โดยเฉพาะแอปที่เน้นการตรวจสอบข้อมูล Metadata

    ✅ ตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง : นอกจากการใช้เครื่องมือแล้ว การตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง เช่น การค้นหาภาพที่คล้ายกันบนอินเทอร์เน็ต หรือการตรวจสอบข่าวสารที่เกี่ยวข้องก็เป็นวิธีที่สำคัญด้วยเช่นเดียวกัน

    ข้อควรระวัง

    ✅ Metadata อาจถูกแก้ไข : ผู้สร้างภาพสามารถแก้ไขข้อมูล Metadata ได้ ดังนั้น การตรวจสอบข้อมูล Metadata เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

    ✅ ไม่ใช่ทุกภาพจะมี Metadata : บางภาพอาจไม่มีข้อมูล Metadata หรือข้อมูล Metadata อาจไม่สมบูรณ์ เนื่องจากถูกส่งผ่านแพลตฟอร์มที่ได้มีการตัดข้อมูล Exif ออกไป เช่น การส่งภาพผ่านไลน์ หรือ แชตเฟซบุ๊ก จึงควรใช้การส่งภาพผ่านทางอีเมล ซึ่งจะไม่มีการตัดข้อมูลในส่วนนี้ออกไป

    ✅ ต้องใช้ความระมัดระวัง : การตรวจสอบภาพด้วย Metadata ต้องอาศัยความรู้และประสบการณ์ การตีความข้อมูล Metadata ต้องทำอย่างรอบคอบ

    การตรวจสอบข่าวลวงด้วย Metadata ถือเป็นทักษะที่สำคัญในการยุคดิจิทัลอีกทักษะหนึ่ง เพราะการเรียนรู้วิธีการตรวจสอบข้อมูล Metadata จะช่วยให้เราสามารถแยกแยะข่าวสารที่ถูกต้องจากข่าวลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    อย่างไรก็ตามการตรวจสอบข้อมูลด้วย Metadata เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ ควรใช้วิธีการตรวจสอบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสาร , การเปรียบเทียบข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ และการใช้ตรรกะในการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงฝึกฝนการตรวจสอบภาพด้วย Metadata เป็นประจำเมื่อเกิดความสงสัย ว่าภาพนั้นเป็นภาพจริงหรือภาพปลอม ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ภาพและดึงข้อมูลที่ซ่อนอยู่ในภาพออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    สารบัญประกอบ