แชร์

Copied!

8 ทริกป้องกันกลลวงยอดนิยมมิจฉาชีพก่อน “สงกรานต์”

13 มี.ค. 6807:14 น.
8 ทริกป้องกันกลลวงยอดนิยมมิจฉาชีพก่อน “สงกรานต์”

สารบัญประกอบ

    เทศกาล "สงกรานต์" ถือเป็นเทศกาลแห่งความสุขอีกหนึ่งเทศกาลที่กำลังจะมาถึงในเดือนหน้า แต่ก็ถือเป็นช่วงเวลาของมิจฉาชีพด้วยเช่นเดียวกัน Thai PBS Verify รวบรวมวิธีป้องกันกลลวงและรูปแบบกลลวงต่างๆ ไว้แล้วที่นี่

    เทศกาลสงกรานต์กำลังจะมาถึง หลายคนวางแผนเดินทางกลับบ้าน ท่องเที่ยว หรือเลือกซื้ออุปกรณ์เล่นน้ำ แต่รู้หรือไม่ว่าช่วงเวลาของความสุขเช่นนี้ คือช่วงเวลาทองของเหล่า "มิจฉาชีพ" ที่จะใช้สารพัดกลโกงเพื่อหลอกลวงเหยื่อ โดยเฉพาะการหลอกจองที่พักปลอม และการหลอกขายสินค้าที่เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ โดยอาศัยราคาที่ถูกเกินจริงมาเป็นหลุมพรางในการหลอกล่อด้วยเช่นเดียวกัน

    พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)

    Thai PBS Verify สอบถามถึงรูปแบบการหลอกลวงที่พบในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กับ พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ซึ่งระบุว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กลุ่มมิจฉาชีพมักใช้ความอินเทรนด์หรืออิงไปกับกระแสของเทศกาล ซึ่งในช่วงนี้ ที่ถือเป็นช่วงเทศกาลที่ใกล้ที่จะมาถึงมากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่คนร้ายมักจะนำความสนใจของเทศกาลดังกล่าวมาใช้หลอกลวง ได้แก่

    การหลอกลวงหรือการปลอมเป็นที่พักต่างๆ

    การหลอกลวงขายสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง : ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือของเล่น เช่น ปืนฉีดน้ำ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมิจฉาชีพจะใช้ช่วงเวลาก่อนที่จะถึงเทศกาลดังกล่าว ทำเนื้อหาเหล่านี้รอไว้แล้ว

    สำหรับรูปแบบการหลอกลวง คนร้ายจะเริ่มจากการยิงโฆษณา ซึ่งสำหรับประชาชนทั่วไปที่วางแผนจะไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เอาไว้แล้ว แต่เมื่อปรากฏว่ามีโฆษณาที่อยู่ในความสนใจดังกล่าวเด้งขึ้นมา หากเป็นลักษณะเช่นที่กล่าว ขอให้ตรวจสอบก่อนว่าเป็นที่พัก หรือเพจขายสินค้าจริงหรือไม่ โดยส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะใช้การจัดโปรโมชั่นเสริมมาเพิ่มความน่าสนใจ

    สำหรับวิธีเช็กเพจปลอมของมิจฉาชีพ มีวิธีง่าย ๆ ดังนี้

    1. ตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศใด

    สังเกตประวัติของเพจก่อน โดยเฉพาะหากพบการเปลี่ยนชื่อที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานที่หรือสินค้า ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นเพจปลอม

    2. ตรวจสอบรายละเอียดผู้ติดตาม เช่น เพจปลอมอาจปิดการมองเห็นยอดผู้ติดตาม หรือมีการสร้างยอดผู้ติดตามปลอมไว้ที่รายละเอียดของเพจ ซึ่งคล้ายกับจำนวนผู้ติดตามของจริง

    เพจปลอมจะใช้การเขียนยอดผู้ติดตามในช่องแนะนำตัวให้เกิดความสับสน คิดว่าเป็นจำนวนผู้ติดตามของจริง

    3. สังเกตชื่อเพจสะกดถูกต้องหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพอาจใส่จุดหรืออักขระพิเศษเพื่อเลียนแบบเพจจริง

    4. สังเกตการโพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจ รวมถึงการรีวิวที่พักจากผู้พักจริง เช่น มีการกดโกรธในโพสต์ต่างๆ ให้สงสัยได้เลยว่าเป็นเพจปลอม

    5. ก่อนโอนเงินควรตรวจสอบเลขบัญชีก่อนว่ามีชื่ออยู่ในรายการคนโกงหรือไม่ โดยนำชื่อ-นามสกุลของหรือเลขบัญชีธนาคาร หรือเบอร์พร้อมเพย์ ค้นหาในเว็บไซต์ https://www.blacklistseller.com/  หรือเว็บไซต์ https://www.chaladohn.com/

    6. ดูความน่าเชื่อถือของเพจ รีวิวจากผู้ซื้อสินค้า รวมถึงการกด Reaction เนื่องจากผู้ขายปิดการคอมเมนต์หรือลบคอมเมนต์ที่ไม่ดีออกไป เช่น หากมีการกดโกรธจำนวนมากอาจหมายถึงผู้ซื้อไม่พึงพอใจในสินค้าที่ได้รับหรือสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า

    สังเกตการโพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจ ว่ามีการแจ้งเตือนหรือรีวิวในแง่ลบหรือไม่

    7. ให้เจ้าของสถานที่พักที่จะทำการจองไลฟ์สด หรือวิดีโอคอล เพื่อยืนยันก่อนการโอนเงิน

    8. หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าผ่านทาง Facebook เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบเจ้าของบัญชีได้โดยง่าย

    รูปแบบกลโกงที่พบบ่อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์

    1. หลอกจองที่พักปลอม

    มิจฉาชีพมักสร้างเว็บไซต์ปลอม หรือโพสต์โฆษณาในแพลตฟอร์มโซเชียล เช่น Facebook ด้วยการโฆษณาโปรโมชันที่พักราคาถูกกว่าปกติ พร้อมรูปภาพสวยงามที่มักเป็นภาพที่นำมาจากสถานที่จริง เพื่อจูงใจให้โอนเงินจองก่อนที่พักจะเต็ม แต่เมื่อถึงวันเข้าพัก กลับไม่สามารถติดต่อได้ หรือเมื่อไปถึงที่พักจริง กลับไม่มีรายชื่อจองแต่อย่างใด ซึ่งกว่าที่เราจะรู้ตัวก็สูญเสียเงินไปเสียแล้ว

    วิธีป้องกัน

    ✅ ตรวจสอบชื่อที่พักใน Google Maps หรือจองผ่านเว็บไซต์ท่องเที่ยว เช่น Agoda, Booking.com

    ✅ เช็กรีวิวจากผู้ใช้จริง อย่าเชื่อเฟซบุ๊กที่ไม่มีรีวิว หรือไม่มีข้อมูลมากพอ

    ✅ ติดต่อที่พักโดยตรงผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่เป็นทางการเท่านั้น

    ✅ หลีกเลี่ยงการโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวของบุคคลที่ไม่รู้จัก หรือไม่ตรงกับชื่อสถานที่พักจนกว่าจะตรวจสอบให้แน่ใจ

    2. หลอกขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ในราคาถูกเกินจริง

    มิจฉาชีพมักโพสต์ขายอุปกรณ์หรือของเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เช่น ปืนฉีดน้ำ เสื้อผ้าแฟชั่น หรือเครื่องประดับกันน้ำในราคาต่ำกว่าท้องตลาด โดยอาจใช้รูปจากร้านจริง แต่เมื่อลูกค้าโอนเงินแล้วกลับไม่ได้รับสินค้า หรือได้รับของคุณภาพต่ำกว่าที่โฆษณา

    วิธีป้องกัน

    ✅ ซื้อสินค้าจากร้านค้าที่มีตัวตนชัดเจน และมีรีวิวจากผู้ซื้อจริง หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กหากไม่ได้ทำการตรวจสอบให้ดีเสียก่อน

    ✅ ตรวจสอบบัญชีร้านค้าผ่านระบบ "Blacklistseller" หรือกลุ่มแจ้งเตือนมิจฉาชีพ

    ✅ เลือกใช้บริการเก็บเงินปลายทางแทนการโอนเงินล่วงหน้า

    3. ระวัง SMS และลิงก์ปลอมจากธนาคารหรือบริษัทขนส่ง

    ช่วงเทศกาลเป็นช่วงที่คนใช้จ่ายและสั่งของออนไลน์เป็นจำนวนมาก ซึ่งมิจฉาชีพอาจใช้ช่วงเวลานี้ในการส่ง SMS หรืออีเมลแอบอ้างเป็นธนาคารหรือบริษัทขนส่ง แจ้งว่ามีปัญหาการโอนเงินหรือให้กดลิงก์เพื่อตรวจสอบพัสดุ ซึ่งอาจเป็นลิงก์หลอกให้กรอกข้อมูลส่วนตัวหรือรหัส OTP เพื่อนำไปสวมรอยทำธุรกรรมการเงิน

    วิธีป้องกัน

    ✅ อย่ากดลิงก์ที่แนบมากับ SMS หรืออีเมลที่ไม่แน่ใจ

    ✅ ติดต่อบริษัทที่ถูกอ้างถึงโดยตรงเพื่อยืนยันข้อมูล

    ✅ ใช้แอปพลิเคชันของธนาคารหรือขนส่งเพื่อตรวจสอบข้อมูลแทน

    หากถูกหลอกหรือหลงเชื่อกดโอนเงินไปยังเพจปลอม ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

    รวบรวมหลักฐาน เช่น

    ✅ หน้าโปรไฟล์เพจปลอม

    ✅ ลิงก์โฆษณาในเพจ

    ✅ ภาพถ่ายสินค้า

    ✅ บทสนทนากับผู้ขาย

    ✅ สลิปโอนเงิน

    นำหลักฐานเข้าแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่หรือแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.com สายด่วนหมายเลข 1441 หรือหมายเลขโทรศัพท์ 081-866-3000 ตลอด 24 ชั่วโมง

    สารบัญประกอบ