แชร์

Copied!

คนสื่ออาชีพสะท้อน ปชช.ยังไว้ใจในช่วงวิกฤต

3 เม.ย. 6814:54 น.
คนสื่ออาชีพสะท้อน ปชช.ยังไว้ใจในช่วงวิกฤต

สารบัญประกอบ

    สื่อหลักพร้อมสื่อออนไลน์ ร่วมสะท้อนหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ พบสื่อหลักและออนไลน์อาชีพ ยังเป็นความหวังประชาชนในช่วงวิกฤต เหตุเพราะมีจรรยาบรรณและบทลงโทษกำกับ

    เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็น #วันตรวจสอบข่าวลวงโลก 2568 (International Fact-Checking Day 2025) ได้มีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “สงครามข้อมูล 2025 : สื่อจะช่วยสังคมเข้าถึง ข้อเท็่จจริงได้อย่างไร” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยภายในงานได้มีการพูดคุยถึงประเด็นความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสื่อ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์วิกฤตที่ผ่านมา

    สื่อหลักยังสำคัญด้วย จรรยาบรรณ-บทลงโทษ

    นายกิตติ สิงหาปัด ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ ได้ให้ความคิดเห็นว่า สื่อหลักยังคงมีความสำคัญและยิ่งสำคัญมาก เพราะสื่อหลักมีความรับผิดชอบ มีความเสียหาย ทั้งในเชิงของกฎหมาย จริยธรรม และชื่อเสียงส่วนตัว ดังนั้นสิ่งที่ออกมาจากสื่อหลักจึงจำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบให้มั่นใจเสียก่อน จึงจะมีการรายงานออกไปสู่สาธารณะ

    นายกิตติ สิงหาปัด ผู้สื่อข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ

    ในขณะที่สื่อบุคคลหรือสื่อออนไลน์ที่สร้างขึ้นมาด้วยตนเองนั้น มักจะไม่มีความผูกพันในตัวของตนเองกับสื่อที่เกี่ยวข้อง มากเท่าสื่อที่เป็นสื่ออาชีพ หรือสื่อองค์กร โดยเฉพาะในช่วงที่มีปัญหาภัยพิบัติหรืออยู่ในช่วงวิกฤตนั้น สื่อหลักยิ่งต้องทำหน้าที่ให้ข่าวที่ออกไปจากตนเอง ต้องเป็นข่าวที่ตรวจสอบแล้วเท่านั้น

    สื่อออนไลน์หลักยังคงถูกกำกับด้วยมาตรฐานสื่อ

    นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกด้านมาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ยกตัวอย่างของความเข้าใจผิดที่ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชน โดยเฉพาะกรณีภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ที่มีการอ้างว่าผู้สื่อข่าวมีการตั้งคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ จนทำให้มีการตำหนิจากประชาชน

    นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกด้านมาตรฐานวิชาชีพ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP)

    นายจีรพงษ์ ยืนยันว่า สื่อมวลชนหลักยังคงมีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะจากสถานการณ์ที่ยังไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการกล่าวถึงเรื่องของสื่อมีการตั้งคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ออกมาว่าคำถามดังกล่าวมาจากนักข่าวนั้น ยืนยันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดเนื่องจากการไม่มีการปิดกั้นพื้นที่ในช่วงระยะเวลาแรกของเหตุการณ์ จึงทำให้ปรากฏคลิปที่อ้างว่านักข่าวไม่มีการทำการบ้าน หรือตั้งคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็น และไม่เป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์จนถูกตำหนิ

    อย่างไรก็ตามเมื่อสมาคมนักข่าวออนไลน์ มีการคัดกรองก็จะพบว่า ผู้ที่ตั้งคำถามจนถูกวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวนั้น ไม่ใช่นักข่าวจริง ๆ แต่เป็นเพียงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สัมภาษณ์เพียงเท่านั้น

    อีกทั้งตามหลักแล้วผู้ที่เป็นผู้สื่อข่าวจะต้องมีการเตรียมตัว ทั้งการประชุมแผนข่าว การมอบหมายจากบรรณาธิการ การประชุมข่าวจากบรรณาธิการ ว่านักข่าวควรจะถามคำถามแบบไหน หรือไม่ควรถามคำถามแบบไหน เมื่อไปเจอแหล่งข่าวในพื้นที่นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ภัยพิบัติหรือพื้นที่ข่าวอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบก่อนเชื่อข้อมูลต่าง ๆ ที่อยู่ในโลกออนไลน์เสมอ

    Thai PBS มุ่งยกระดับบริการตรวจสอบข่าวด้วย Thai PBS Verify

    รองศาสตราจารย์ ดร. วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ระบุว่า ในฐานะสื่อสาธารณะ การสร้างสังคมที่รู้เท่าทันในช่วงที่ข่าวปลอมแพร่กระจายไปทุกที่ ถือเป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญของสื่อ และยิ่งไปกว่านั้น จุดยืนและจุดแข็งที่ประชาชนยังคงให้ความยอมรับใน Thai PBS มาตลอด คือการเป็นสื่อที่ประชาชนวางใจและเชื่อถือได้ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทบาทในการทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าสื่อที่ผลิตออกไปต้องอยู่บนฐานของความจริงหรือข้อเท็จจริง

    รองศาสตราจารย์ ดร. วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

    นอกจากนี้ Thai PBS ยังไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่การผลิตข้อมูลข่าวสารเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นสถาบันทางสังคม ที่ต้องสร้างเสริมความรู้ทักษะและส่งเสริมการรู้เท่าทันให้กับประชาชนอีกด้วย จึงเกิดเป็นบริการของ Thai PBS Verify ซึ่งเป็นบริการที่จะช่วยตรวจสอบข่าวสารในโลกออนไลน์ ที่มีอยู่มากมายให้ประชาชนทราบว่าข่าวดังกล่าวจริงหรือเท็จ ซึ่งบริการ Thai PBS Verify นั้น Thai PBS ได้มีการร่วมมือกับนักวิชาการ ที่มาช่วยในการตรวจสอบ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงเหล่านั้นด้วยตนเอง ซึ่งทำให้ Thai PBS Verify เกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

    ความน่าเชื่อถือ-ความถูกต้อง หลักสำคัญของสื่อออนไลน์

    ด้าน นายธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard ให้ความคิดเห็นในฐานะผู้ผลิตสื่อออนไลน์ ในยุคที่ข่าวปลอมมีจำนวนมากว่า ไม่ว่าจะเป็นสื่อแบบไหนก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญคือการทำ Fact Checking หรือการตรวจสอบข้อมูลก่อนการนำเสนอ เพราะถือเป็นประตูที่จะออกไปสู่ประชาชน ซึ่งประชาชนล้วนคาดหวังกับผู้ที่ทำหน้าที่สื่อ ดังนั้นสื่อจะต้องมีปฐมภูมิที่ชัดเจน มีที่มาที่ไป มีความโปร่งใสของการตรวจสอบข้อมูลที่มีผลกระทบ ซึ่งตนคิดว่าเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมีจำนวนมาก ฉะนั้นการตรวจสอบในฐานะสื่อมวลชนที่จะทำหน้าที่เป็นวิชาชีพจึงมีความสำคัญมาก

    นายธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard

    นอกจากนี้มองว่า การที่ทำให้สื่อแตกต่างจากสื่อออนไลน์อื่น ๆ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคของ Character เพราะแม้แต่ละที่จะแข่งขันในเรื่องของเนื้อหา แต่ตนคิดว่าโจทย์ใหญ่ในปัจจุบัน คือการต่อสู้กับความไว้วางใจของประชาชน ว่าที่ไหนน่าเชื่อถือ ที่ไหนมี Character ในการนำเสนอข่าวแบบใด ซึ่ง Character สำหรับตนเองนั้น ไม่ได้มองว่าจะต้องนำเสนออะไรยังไง แต่จะต้องมีความชัดเจนในการยืนยันกับข้อมูลข้อเท็จจริง ว่าทำงานในรูปแบบใด เช่น จะไม่นำเสนอที่เน้นความเร็ว แต่เน้นความถูกต้อง ถึงแม้ว่าความเร็วจะเป็นเรื่องของธุรกิจก็ตาม แต่ความถูกต้องถือเป็นส่วนสำคัญ ที่จะสร้างความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

    สารบัญประกอบ