แชร์

Copied!

เช็กก่อนทัก! แชร์วิธีเช็กเฟซบุ๊กก่อนกลายเป็นเหยื่อซ้ำซ้อน

4 ต.ค. 6705:09 น.
เช็กก่อนทัก! แชร์วิธีเช็กเฟซบุ๊กก่อนกลายเป็นเหยื่อซ้ำซ้อน

สารบัญประกอบ

    แชร์วิธีเช็กเพจเฟซบุ๊กก่อนจะกลายเป็นเหยื่อออนไลน์ซ้ำสอง หลังพบเพจเฟซบุ๊กปลอมหน่วยงานราชการ เพื่อหลอกให้เหยื่อหลงส่งข้อมูลส่วนตัวผุดขึ้นจำนวนมาก

    แชร์วิธีเช็กเพจเฟซบุ๊กก่อนจะกลายเป็นเหยื่อออนไลน์ซ้ำสอง หลังพบเพจเฟซบุ๊กปลอมหน่วยงานราชการ เพื่อหลอกให้เหยื่อหลงส่งข้อมูลส่วนตัวผุดขึ้นจำนวนมาก

    นี่คือเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า สำนักงาน ช่วยเหลือและสื่อสารเพื่อประชาชน แม้ภายนอกจะดูเหมือนเพจปกติของ กองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ตำรวจไซเบอร์ ที่มีการรับเรื่องแจ้งความการถูกหลอกลวง หรือนำเสนอข้อมูล และให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

    แต่ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยหากพิจารณาอย่างละเอียดจะพบว่า เพจเฟซบุ๊กเพจนี้มีการใช้ภาพตราสัญลักษณ์ของ กองบัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มาใช้เป็นรูปโปรไฟล์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ 

    ขณะที่เนื้อหาภายในก็มีทั้งการให้ความรู้ การเตือนภัยจากการตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ และข่าวการจับกุมผู้ต้องหาของตำรวจไซเบอร์ ซึ่งเป็นเนื้อหาและภาพข่าวที่มีอยู่จริงในเพจเฟซบุ๊กของตำรวจไซเบอร์เช่นเดียวกัน

    ทั้งนี้หากมีเหยื่อที่กดส่งข้อความเข้ามาติดต่อ มิจฉาชีพมักอ้างว่าเพจดังกล่าวให้บริการรับแจ้งความออนไลน์ รับให้ความช่วยเหลือ หรือ รับให้คำปรึกษาแก่ประชาชนแบบออนไลน์ หากมีผู้หลงเชื่อ มิจฉาชีพจะใช้วิธีสร้างบัญชีโซเชียลมาพูดคุยกับเหยื่อ โดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และขอเอกสารประจำตัวเหยื่อ โดยให้ส่งทางแชทพร้อมกับบอกให้โอนเงิน โดยใช้วิธีการข่มขู่ด้วยบทลงโทษทางกฎหมาย หรืออ้างเหตุผลต่าง ๆ เพื่อให้เหยื่อยอมโอนเงิน หรือหลอกให้เหยื่อโหลดแอพพลิเคชั่นควบคุมโทรศัพท์ระยะไกล ซึ่งเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ ก็จะถูกดูดข้อมูลหรือถูกควบคุมเครื่องเพื่อโอนเงินออกจากบัญชีจนหมด

    เมื่อเป็นอย่างนี้จึงเกิดคำถามขึ้นว่า ประชาชนทั่วไปจะสามารถทราบได้อย่างไร ว่าเพจเฟซบุ๊กของหน่วยงานราชการที่เข้าไปติดตาม เป็นของจริงหรือไม่ Thai PBS verify มีวิธีตรวจสอบเบื้องต้นดังนี้

    1. สังเกตชื่อและเครื่องหมาย เพจแท้ชื่อ "ตำรวจไซเบอร์-บช.สอท." จะมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า หรือ Meta Verified ยืนยันหลังชื่อเพจ

    2. สังเกตยอดผู้ติดตาม หากเป็นเพจแท้ ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 2.4 แสนคน (ระวังมิจฉาชีพพิมพ์ยอดผู้ติดตามของปลอมไว้ที่รายละเอียดของเพจ)

    3.สังเกต URL โดยกดที่จุด 3 จุด กดที่ลิงก์เพจ เพจของแท้ URL หลังเว็บไซต์เฟซบุ๊กต้องเป็น /CybercopTH

    4.สังเกตความโปร่งใสของเพจ เพจแท้ถูกสร้างเมื่อ 20 มกราคม ค.ศ.2021

    ทั้งนี้ ตำรวจไซเบอร์ ระบุว่า ไม่มีการรับแจ้งความผ่านเฟซบุ๊ก ไม่มีการรับแจ้งความผ่านแชทไลน์ ไม่มีการรับแจ้งความผ่าน direct message (DM) ของแอพพลิเคชั่นใด ๆ ทั้งสิ้น หากพบเจอเพจที่มีลักษณะต่างไปจากนี้เมื่อไหร่ ให้ระวังและอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจตกเป็นเหยื่อ "มิจฉาชีพ" ซ้ำสอง

    สำหรับประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อโจรออนไลน์ สามารถแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ (เฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี) ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th นี้เท่านั้น หากมีข้อสงสัย สามารถโทรปรึกษาสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

    สารบัญประกอบ