ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก “ตั๋วผี” วิถีการเก็งกำไรที่ส่งผลต่อวงการกีฬาไทย


กีฬา

26 มี.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “ตั๋วผี” วิถีการเก็งกำไรที่ส่งผลต่อวงการกีฬาไทย

https://www.thaipbs.or.th/now/content/980

รู้จัก “ตั๋วผี” วิถีการเก็งกำไรที่ส่งผลต่อวงการกีฬาไทย
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

กระแสฟุตบอลไทยมาแรง ล่าสุดแมทซ์การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก “ไทย-เกาหลีใต้” ตั๋วผีบวกราคาขายไปกว่า 10 เท่า  

เมื่อไรก็ตามที่ความต้องการของผู้คน สูงกว่าจำนวนตั๋วที่มีในท้องตลาด วิถีการซื้อขาย “ตั๋วผี” จึงเกิดขึ้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือกลไกราคา ที่มีความผันผวนตามสภาวะของตลาด แต่ในมุมของแฟนกีฬาแล้ว เหตุใดพวกเขาต้องทน “แบกรับ” ราคาตั๋วที่สูงเกินจริงอยู่เช่นนี้

Thai PBS ชวนทำความเข้าใจที่มาที่ไป “ตั๋วผี” และร่วมหาทางออกที่ควรจะเป็น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับแฟนกีฬาชาวไทย

“ตั๋วผี” เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

ตั๋วผี คือ ตั๋วที่มีผู้ซื้อเก็บไว้แล้วขายต่อเพื่อเก็งกำไรในราคาที่สูงขึ้น วิถีของการเกิดตั๋วผี มักเกิดในการแข่งขันกีฬา รวมไปถึงอีเวนต์สำคัญ ๆ อาทิ คอนเสิร์ต ที่มีผู้ที่ให้ความสนใจจำนวนมากกว่าปกติ ทำให้ตั๋วผีเป็นที่ต้องการ สาเหตุสำคัญของการเกิดตั๋วผี เกิดจากตั๋วถูกขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว สวนทางกับจำนวนของผู้ที่ต้องการตั๋ว ที่มากเกินกว่าจำนวนปกติ

“ขายตั๋วผี” ผิดกฎหมายหรือไม่ ?

เบื้องต้นต้องแยกให้ออกก่อนว่า “ตั๋วผี” กับ “ตั๋วปลอม” แตกต่างกัน หากเป็นการนำ “ตั๋วปลอม” หรือตั๋วที่ถูกทำเลียนแบบขึ้นมา เพื่อหลอกขาย กรณีนี้ถือว่าทำผิดกฎหมาย

หรือกรณีที่ไม่มีตั๋วอยู่ในมือ และไม่สามารถที่จะหาตั๋วให้แก่ผู้ซื้อได้ แต่กลับนำไปเสนอขาย หรือโพสต์ขาย กรณีนี้ถือเป็นความผิดในข้อหาฉ้อโกง มีโทษจำคุกและปรับ รวมทั้งต้องชดใช้เงินคืนให้แก่ผู้เสียหายเต็มจำนวน

แต่หากเป็นกรณี “ตั๋วผี” ที่เป็น “ตั๋วจริง” ผลิตออกมาอย่างถูกต้องจากผู้จัดงาน หากนำมาขายต่อในราคาที่เกินกว่าราคาหน้าบัตร ไม่ถือว่ามีความผิด เนื่องจากเป็นความพึงพอใจในการตกลงซื้อขายของผู้ซื้อและผู้ขาย

“ตั๋วผี” แผลร้ายทำลายวงการกีฬา ?

เมื่อคนอยากดูกีฬาดี ๆ แต่ต้องซื้อตั๋วในราคาสูงกว่าปกติ ปัญหาเหล่านี้คือ “แผลร้าย” หรือไม่ ? Thai PBS มีโอกาสพูดคุยกับ พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์ นักพากย์กีฬาฟุตบอลชื่อดัง ช่วยสะท้อนถึงเรื่องราวเหล่านี้ 

พรรษิษฐ์ มองว่า ตั๋วผีเป็นเรื่องของอุปสงค์-อุปทาน หรือ Demand-Supply กล่าวคือ เมื่อมีความต้องการสูง ปริมาณการขายก็จำต้องสูงตามเป็นธรรมดา

“ปัญหาตั๋วผี มันเป็นทั้งโลกแหละ ที่เมืองนอกก็มี  ถามว่าผมเห็นชอบด้วยไหม ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะพวกนี้เอาเปรียบสังคม มันคือการขายของโก่งราคา ค้ากำไรเกินควร แต่ในอีกมุมหนึ่ง จะบอกว่าเป็นเรื่องผิด ก็พูดไม่ได้เต็มปาก คือถ้าซื้อตั๋วผี แล้วดูไม่ได้ เป็นตั๋วปลอม อันนี้ถือเป็นความผิด แต่กรณีถ้าเป็นตั๋วผีที่เป็นตั๋วจริง ซื้อแล้วดูได้ มันก็เป็นเรื่องของดีมานด์-ซัพพลาย (Demand-Supply) คือถ้าคนซื้อเขายอมซื้อ ในราคาที่รับได้ เขาอยากดูจริง ๆ มันก็เป็นเรื่องของเขานะ”

พรรษิษฐ์ วิชญคุปต์ นักพากย์กีฬาชื่อดัง

ต่อคำถามที่ว่า วิถีตั๋วผี เป็นบ่อนทำลายวงการกีฬาหรือไม่ พรรษิษฐ์ มองว่า เป็นเรื่องตอบยาก เพราะหากที่มาของตั๋วนั้น ได้มาอย่างถูกต้อง และสุดท้ายจำนวนคนดู ได้ตามเป้าหมายของผู้จัดงาน คำว่า ทำลาย ก็อาจจะใช้ได้ไม่ตรงนัก

“ถามว่าตั๋วผีเป็นแผลร้ายวงการกีฬาไหม ผมไม่แน่ใจว่ามันเกี่ยวกันหรือเปล่านะ เพราะถ้ามันหมายถึง การเอาตั๋วมากักตุนไว้ด้วยวิธีไม่ถูกต้อง หรือคนพวกนี้ได้ตั๋วมาอย่างไม่ถูกต้อง โอเค แบบนี้ถือว่าเข้าข่ายผิด แต่ถ้าเขาเป็นคนไปกดซื้อตั๋วมาจริง ๆ เราจะไปว่าอะไรเขาได้ล่ะ”

“หรือในมุมที่ว่า คนกลุ่มนี้ (คนขายตั๋วผี) ไม่ใช่กลุ่มคนดูหรอก แต่มันเอาตั๋วมาขายแพง ๆ ทำให้คนที่อยากเชียร์จริง ๆ ไม่ได้เข้าไปดู ผมก็ยังรู้สึกว่า เรื่องนี้มันอ้อมมาก สมมติตั๋ว 4 หมื่นใบ ขายหมด sold out สมาคมได้ยอดเงินที่ตั้งไว้เรียบร้อย จะบอกว่าตั๋วผีเป็นเนื้อร้ายของวงการ มันก็ก้ำกึ่งนะ เพราะเงินที่ได้ ก็ได้ครบหมดแล้ว”

ทางแก้ ทางออก หรือมีทางที่ดีกว่า...ซื้อตั๋วผีไหม ?

ถาม พรรษิษฐ์ ต่อว่า ทางออกของปัญหาตั๋วผี ทางที่ดีควรเป็นอย่างไร เขาบอกว่า ลองหากติกาแบบใหม่ ๆ เพื่อกำหนดการขายตั๋ว แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ได้การันตีว่า ตั๋วผีจะหมดไปได้ ตราบใดที่ยังเกิด Demand-Supply ขึ้นสูงในอีเวนต์สำคัญ ๆ

“ลองวางกติกาไปเลยว่า ทำให้ขึ้นราคาก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ เช่น ขึ้นราคาได้ 30% แต่ว่าต้องแบ่งเงินกลับเข้าไปในหน่วยงานอะไรสักอย่าง นี่เป็นแค่ไอเดียนะ เพราะเอาเข้าจริง อาจจะยุ่งกว่าเดิมอีก ราคากลางคืออะไร ใครจะเป็นคนหักหัวคิว ใครจะมารับหน้าเสื่อเป็นคนกลางจัดการ”

พรรษิษฐ์ บอกต่ออีกว่า ตั๋วผี มองให้เป็นปัญหาได้ แต่ตั๋วผีอาจเป็นแค่หนึ่งในปัญหาที่เรียงรายอยู่ในปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น

“ผมว่าตั๋วผียังเป็นแค่ปลายทาง คุณไปดูราคาน้ำดื่ม เบียร์ หรือแม้แต่หมูปิ้งหน้าสนามสิ จากราคาไม้ละ 8 บาท กระโดดไปเป็น 20-30 บาท หรือที่หนักกว่านั้น รถแท็กซี่ เจอโก่งราคากันเท่าไร ผมว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกันหมด และถามว่า ทำไมไม่ไปจัดการพวกนี้ด้วย”

ถ้ารายได้จากบัตรเข้าชม และจำนวนคนดูยังเป็นไปตามเป้าหมาย เรื่องตั๋วผี อาจเป็นแค่ “แผล” ที่ยังไม่ถูกรักษาอย่างจริงจัง ในขณะเดียวกัน ยังมี “บาดแผลเรื้อรัง” ที่รอวันได้รับการรักษาอยู่อีก

“เคยรู้สึกไหม การไปสนามราชมังฯ ไปด้วยความยากลำบาก ไหนจะเดินทาง 3 ชั่วโมง ไหนจะต้องรอเวลาหลังบอลเลิกอีก 2 ชั่วโมง เพื่อให้รถหายติด หรือให้การจราจรสะดวกขึ้น ผมว่าอันนี้แหละ คือปัญหาที่ควรแก้ไขก่อนเลย”

ไม่ว่าจะ “ตั๋วผี” หรือปัญหาใด ๆ หากใส่ใจแก้ไขอย่างจริงจัง สิ่งที่เคยถูกเรียกว่า “ปัญหา” จะคลี่คลายลงไปได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-จับตา คุมตั๋วผี ฟุตบอล "ไทย-เกาหลีใต้" หลังราคาพุ่ง 
-ดูบอลสด! ไทย ดวล เกาหลีใต้ ศึกคัดบอลโลก ค่ำนี้ 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ตั๋วผีช้างศึกฟุตบอลทีมชาติไทยฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกวงการกีฬา
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด