วันนี้ (21 มี.ค. 67) เป็น “วันกวีนิพนธ์สากล” (World Poetry Day) ด้วยเหตุนี้ Thai PBS จึงขอพาไปซึมซับ “บทกวี” งานศิลปะที่อธิบายความหมายออกมาผ่านตัวอักษร ก่อร่างสร้างตัวเกิดเป็น ‘ศิลปะ’ ขึ้นในใจของเรา จาก 5 กวีนิพนธ์แถวหน้าของเมืองไทย
“บทกวีนั้นอยู่รอบตัวเรา” ไม่ว่าจะเป็นโคลงกลอน สุภาษิต เพลง ไปจนถึงท่อนแรป แม้บทกวีจะเปลี่ยนเป็นรูปแบบไหน วัตถุประสงค์เดียวที่กวีต้องการสื่อถึงผู้อ่านก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือการถ่ายทอดภาษาความรู้สึกที่อยู่ก้นบึ้งออกมาเป็นคำพูด เพราะไม่มีวรรณกรรมใดที่ทำให้สะเทือนอารมณ์ได้มากเท่าบทกวี
ประเทศไทยมีศิลปะการใช้ภาษาที่ยาวนาน ย้อนไปสมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครั้งหนึ่งเคยถูกยกย่องให้เป็น “ยุคทองของวรรณคดี” ด้วยนิสัย “เจ้าบทเจ้ากลอน” ของชาวอโยธยา ว่ากันว่ามักโต้ตอบกันด้วยภาษากลอน แม้แต่ยามผู้รักษาประตูวังก็ยังพูดจาเป็นโคลงกลอนมาดกวี ด้วยค่านิยมที่ว่าหากผู้ใดที่อ่านออกเขียนได้ มีสำนวนโวหารคมคาย ถือเป็น “คุณสมบัติอันล้ำค่าที่น่ายกย่อง”
บทกวีไทยมักถูกใช้เป็นกุศโลบายแทนคำสอน สุภาษิตเตือนใจ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ เพราะพยัญชนะไทยมีความพิเศษอย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยเสียงวรรณยุกต์สูง-ต่ำ เอก โท ตรี จัตวา เปรียบได้กับ “เสียงเมโลดี้” บวกกับการเขียนร้อยกรองที่มีการสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสอักษร สัมผัสสระ และสัมผัสเสียง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแต่งบทกวีออกมาได้ไพเราะ กินใจคน
เนื่องในวันที่ 21 มีนาคม “วันกวีนิพนธ์โลก” เป็นวันแห่งการอนุรักษ์ศิลปะแห่งกวีนิพนธ์ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่นักกวีไทยและแรงบันดาลใจของกวียุคใหม่ จึงได้หยิบยก 5 กวีนิพนธ์ไทย ที่ถ่ายทอดบทกลอนสื่อความหมายบรรยายภาพได้งดงามจับใจ
📌อ่านต่อ : 5 กวีนิพนธ์ไทย ผู้สั่นสะเทือนหัวใจด้วยภาษา