Oscar ที่สุดแห่งเกียรติยศ...กำลังเสื่อมถอยจริงหรือ ?


Lifestyle

11 มี.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

Oscar ที่สุดแห่งเกียรติยศ...กำลังเสื่อมถอยจริงหรือ ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/915

Oscar ที่สุดแห่งเกียรติยศ...กำลังเสื่อมถอยจริงหรือ ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“And The Oscar Goes To....” คือวลีของการแจกรางวัลที่เป็นที่สุดแห่งเกียรติยศในวงการภาพยนตร์โลก หรือ “ออสการ์ (Oscars)” ทว่ายุคสมัยเปลี่ยนไป การมาถึงของการชมภาพยนตร์แบบสตรีมมิ่ง ทำให้พฤติกรรมการรับชมของผู้คนเปลี่ยนไป เกิดการตั้งคำถามว่า “ออสการ์เสื่อมความนิยมลงแล้ว จริงหรือไม่ ?”

Thai PBS ชวนมาย้อนสำรวจภาพอดีตจนถึงปัจจุบัน และมองไปยังอนาคตเพื่อค้นหาคำตอบ ออสการ์กำลังเสื่อมถอยลงหรือไม่ ?

ชญานิน เตียงพิทยากร นักวิจารณ์ภาพยนตร์

ย้อนรอย “ออสการ์” จุดเริ่มต้นของการแจกรางวัลภาพยนตร์ที่ดีที่สุดในโลก

Academy Award หรือที่รู้จักกันในชื่อรางวัลออสการ์เป็นรางวัลที่มอบให้กับความเป็นเลิศในศาสตร์และศิลป์ของการสร้างภาพยนตร์ โดยมีการจัดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1929 และเมื่อเวลาผ่านไป ออสการ์ก็ก้าวขึ้นมาเป็นรางวัลอันทรงเกียรติแห่งวงการภาพยนตร์ของโลก

ชญานิน เตียงพิทยากร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ ผู้ติดตามความเป็นไปของรางวัลดังกล่าวในฐานะคนในแวดวงหนัง มองว่า ภาพ “ความมีเกียรติยศที่สุดของโลก” ของออสการ์นั้น มาจากการรับรู้ทางวัฒนธรรมในอดีต ที่อเมริกาซึ่งถือเป็นชาติที่ทรงอิทธิพลในโลกภาพยนตร์ ด้วยสาเหตุที่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์อันแข็งแรง ส่งผลให้โลกได้รับอิทธิพลด้านหนังมาจากอเมริกาเสียเป็นส่วนใหญ่

“ออสการ์ในยุคก่อน เรื่องไหนที่ได้รางวัลคือยอดเยี่ยม คือหนังที่ดี เป็นเหมือนตราประทับที่ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์อะไร ถือเป็นที่สุดของโลก แต่จุดสูงสุดนั้นก็ถูกวิจารณ์ในเวลาต่อมาว่า ไม่มีความเปิดกว้าง สิ่งนี้ผมมองว่า เกิดจากการรับรู้ทางวัฒนธรรมของคนที่ยังไม่ได้เปิดกว้างมาก การรับชมภาพยนตร์ส่วนใหญ่ยังดูจากโรงหนัง ก่อนจะค่อย ๆ เปิดกว้างมากขึ้น ตั้งแต่การมาถึงของ VDO VCD DVD จนถึงการรับชมจากสตรีมมิ่ง ภาพยนตร์ที่ผู้คนได้ดูมันจึงเปิดกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ การวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงเปรียบเทียบจึงมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน”

ความเสื่อมถอยในมุมของความศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จึงเกิดขึ้น ทว่าการที่ผู้คนหันมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงเวทีนี้ก็ทำให้เห็นว่า รางวัลนี้ยังคงมีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของยุคสมัยปัจจุบันโดยเฉพาะผู้คนที่รักในภาพยนตร์

ผลงานคนเอเชียในเวทีออสการ์ (1927-2022)

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน...ออสการ์ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยนเช่นกัน

ภาพยนตร์ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่มีความซับซ้อนทั้งศาสตร์และศิลปะ ซึ่งเกี่ยวโยงกับวัฒนธรรม ณ ช่วงเวลานั้น ๆ ชญานินมองว่า มนต์ขลังของออสการ์ยังคงอยู่ ตราบใดที่ผู้คนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังให้ความสนใจ ให้คุณค่า และให้การยอมรับ แต่เวทีออสการ์ก็จำต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย


“คนเข้าถึงหนังเยอะขึ้น การวิจารณ์มีมากขึ้น ไม่เกี่ยวกับว่ามีความรู้มากน้อยแค่ไหนด้วย เราสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ และเรารู้ด้วยว่าคะแนนที่ใช้ตัดสินรางวัลเป็นอย่างไร ? ใครมีสิทธิ์โหวตเป็นยังไงบ้าง ? มีกฎอะไร ? ข้อมูลถูกเอามาแบไว้มากขึ้น”
 

“ปัจจุบันผู้คนจึงเรียกร้องกับเทศกาลมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลก คนดูหนัง กับการตัดสินคุณค่า พอมาถึงยุคที่คนเข้าถึงทั้งหนังและข้อมูลรวมถึงเกณฑ์การให้คะแนนต่าง ๆ มาจากไหน เกิดข้อวิพากษ์ถึงขอบฟ้าในการตัดสินรางวัล เวทีนี้ขาวไป แต่หนังยังคงเป็นหนังดีในทางภาพยนตร์”

การเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาเห็นได้ชัดจากกรณี #OscasSoWhite หรือการถูกวิจารณ์ว่าออสการ์ (มีคน) ขาวมากเกินไป จนเป็นกระแสเมื่อหลายปีก่อน ทำให้เวทีการแจกรางวัลออสการ์ในปี 2024 กลายเป็นปีแรกที่ออสการ์เพิ่มเกณฑ์เรื่องความหลากหลาย (Diversity) เข้ามา ทว่าปัจจัยดังกล่าวนั้น ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงผลรางวัลแต่อย่างใด ความเป็นเลิศด้านภาพยนตร์ยังคงมาก่อนปัจจัยด้านการเมืองอยู่

ชญานินเผยว่า เกณฑ์ดังกล่าวยังคงยืดหยุ่น จนเป็นเสมือนการกระตุ้นเตือนสิ่งที่ควรมีในการทำภาพยนตร์ โดยมีเกณฑ์หลักและเกณฑ์ย่อย เช่น ตัวละครหลักเป็นคนเชื้อชาติชั้นล่างหรือไม่ใช่คนขาว มีตัวละครที่บทไม่เด่นเป็นชนกลุ่มน้อยประกอบอยู่ ทีมงานหัวหน้าฝ่ายหลัก ๆ มีชนชาติอื่นร่วมด้วย ทั้งนี้ ต้องเข้าใจก่อนว่าบริบทของเกณฑ์ความหลากหลายมาจากความเป็นอเมริกัน ที่มีรากทางประวัติศาสตร์ที่ต้องการให้ความสำคัญกับความหลากหลาย

“ผมมองว่าเกณฑ์ความหลากหลายไม่มีผลอะไรกับผลตัดสินสุดท้าย เพราะเมื่อลงไปดูรายละเอียดในทางปฏิบัติ จะพบว่า เกณฑ์ความหลากหลายนี้ค่อนข้างเปิดกว้าง เพราะถ้าแคบไปจะกลายเป็นไม่ได้ตัดสินหนังด้วยความเป็นหนัง แต่ตัดสินด้วยการเมือง เกณฑ์เหล่านี้เป็นเพียงการย้ำเตือนไปที่คนทำหนัง ซึ่งแท้จริงแล้วก็สอดคล้องกับโลกของคนทำหนังในยุคปัจจุบันที่มองประเด็นเหล่านี้อยู่แล้วด้วย”

 

ดำเนินมากว่า 95 ปี ถึงวันนี้ “ออสการ์” เสื่อมความนิยมแล้วจริงหรือ ?


จากยุคที่ออสการ์เป็นเหมือนตราศักดิ์สิทธิ์ที่ประกาศให้โลกรับรู้ว่าหนังเรื่องนี้คือที่สุดของโลก สู่วันคืนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แล้วอนาคตของรางวัลนี้จะเป็นอย่างไร ? ขณะที่การดูหนังในโรงภาพยนตร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ออสการ์จะยังคงอยู่หรือไม่ ? 

ชญานินในฐานะคนที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงมาตลอด มองภาพปัจจุบันของรางวัลนี้ว่า เป็นภาพของการถูกวิจารณ์แต่ก็ยังได้รับความสนใจ กลายเป็นคอนเทนต์ที่ผู้คนในโลกภาพยนตร์ทั้งคนในอุตสาหกรรมรวมถึงคนรักหนังได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เป็นเสมือน “เกม” ของโลกภาพยนตร์อย่างหนึ่งที่ผู้คนในแวดวงตบเท้าเข้ามาเล่นกับกระแส แต่หากไม่ได้คนรักหนัง ออสการ์อาจไม่ใช่สิ่งที่ต้องให้ความสนใจอีกต่อไปแล้วก็เป็นได้

“ยุคหลัง ๆ พอมีโซเชียลมีเดีย วิธีการเสพหนังรวมถึงสื่อต่าง ๆ ของผู้คนก็เปลี่ยนไป คนเข้าไปเสพสื่อตามช่องทางที่ตัวเองชอบมากขึ้น ในแง่ของการเสื่อมความนิยม คนไม่ต้องมาสนใจออสการ์ก็ได้ แต่ในมุมกลับกัน ยุคโซเชียลทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงออสการ์ได้จากทุกสารทิศ มันทำให้คนรักหนังยิ่งสนใจออสการ์มากขึ้น ไม่ได้สนใจแง่ความศักดิ์สิทธิ์ แต่สนใจในเชิงปฏิสัมพันธ์และคอนเทนต์ของงานมากขึ้นมากกว่า”


ในส่วนอนาคตของรางวัลออสการ์นั้น แม้ความนิยมในวงกว้างอาจจะลดน้อยลง แต่ชญานินมีมุมมองว่า ตัวรางวัลเองยังคงมีคุณค่าต่อคนในชุมชนภาพยนตร์ รวมถึงคนที่เสพภาพยนตร์อเมริกัน ซึ่งที่ผ่านมาออสการ์มีการปรับตัวไปตามยุคสมัย ภาพอนาคตของออสการ์จึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ลดความนิยมลงได้เป็นธรรมดา 

“อนาคตรางวัลออสการ์อาจจะมีรางวัลอย่างอื่นขึ้นมาแข่งได้ ช่วงหลังคนดูรู้ข้อมูลเยอะขึ้น รู้จักอย่างอื่นมากขึ้น รางวัล Indy Spirit คนก็รู้จักมากขึ้น หรือสนใจรางวัล Bafta ที่เป็นเสมือนออสการ์ของอังกฤษ ดังนั้นออสการ์ก็อาจจะไม่ได้ยืนหนึ่ง แต่ถ้าวัฒนธรรมของโลกยังให้ค่าหนังอเมริกันอยู่ ออสการ์ก็จะยังมีตัวตนคุณค่าของมันต่อไป ซึ่งมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงที่เป็นภาพสะท้อนปลายน้ำของวงการฮอลลีวูดนั่นเอง”
 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- รายงานพิเศษ : กรรมการ Oscars เป็นใคร ตัดสินอย่างไร
- 95 ปี ผลงานชาวเอเชีย บนเวทีออสการ์
- เปิดเบื้องหลัง ช่างภาพ "สาวไทย" ในงานประกาศรางวัลออสการ์ 2023
- ไม่พลิกโผ! "Oppenheimer" คว้า 7 ออสการ์ จากเข้าชิงทั้งหมด 13 รางวัล

อ้างอิง
- This article is more than 3 years old Oscars reveal new diversity requirements for best picture nominees
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ออสการ์OscarsOscars2024
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด