“HIV” ไม่เท่ากับ “AIDS” ! ความรู้ที่หลายคนอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

8 มี.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“HIV” ไม่เท่ากับ “AIDS” ! ความรู้ที่หลายคนอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/906

“HIV” ไม่เท่ากับ “AIDS” ! ความรู้ที่หลายคนอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เชื่อว่าหลายคนโดยเฉพาะ “วัยรุ่น” อาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับ HIV และ AIDS อยู่ เพราะอะไร ทำไม ? “เอชไอวี” จึงไม่เท่ากับ “เอดส์” Thai PBS Sci & Tech ขอพาไปฟังข้อเท็จจริงจาก “ศ. พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ” ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567

วันนี้ (8 มี.ค. 67) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงาน NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 ครั้งที่ 3 เพื่อนำงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ภูธนกิจ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดริเริ่มศึกษาองค์ความรู้ใหม่ด้านคลินิกเกี่ยวกับการดูแล รักษา และป้องกันการติดเชื้อไวรัส HIV ในเด็กและเยาวชน มาให้ประชาชนได้ทราบพร้อมกับสร้างความเข้าใจใหม่ในเรื่อง HIV กับ AIDS ที่หลายคนอาจยังเข้าใจคลาดเคลื่อน

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ภูธนกิจ

ศ. พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ กล่าวว่า งานวิจัยทางคลินิกที่ได้ดำเนินการ เป็นงานวิจัยที่เน้นถึงเรื่องการป้องกันการรับเชื้อ HIV ในเด็ก และเยาวชน ในอดีตหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่กับเชื้อ HIV บุตรที่เกิดจะมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับเชื้อ HIV ร้อยละ 30 แต่ปัจจุบันการให้ยาต้านไวรัสกับหญิงตั้งครรภ์ทำให้บุตรมีโอกาสรับเชื้อ HIV ลดลงเหลือแค่ร้อยละ 1 นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องด้วยยาต้านไวรัส มีสุขภาพที่ดีและชีวิตที่ยืนยาว สามารถเติบโตไปโรงเรียน ไปทำงานและมีครอบครัวได้ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมจะช่วยกันได้ คือการทำความเข้าใจ ลดการเลือกปฏิบัติและตีตราผู้ที่ติดเชื้อ HIV เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ HIV มีชีวิตที่อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

การป้องกันเชื้อเอชไอวีในเยาวชน

หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อาจยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่าง HIV กับ AIDS อยากจะอธิบายให้เข้าใจว่า “เอชไอวี” นั้นไม่เท่ากับเป็น “เอดส์” เพราะเอชไอวีคือเชื้อไวรัส ส่วนเอดส์คือโรค หากกินยาต้านไวรัสจะทำให้จำนวนเชื้อไวรัสลดลงเหลือน้อยมาก ๆ จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะแพร่เชื้อไปยังคนอื่น ส่วนผู้หญิงที่มี “ลูก” โอกาสติดเชื้อน้อยกว่า 1 ใน 1,000 ดังนั้นหากรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงอยากให้ซื้อชุดตรวจมาตรวจ หากผลเป็นบวก รีบกินยาต้านไวรัสจะช่วยให้เชื้อลดลงเหลือน้อยสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ โอกาสมีบุตรไม่ติดเชื้อเกือบ 100% อย่าปล่อยให้ตัวเองติดเชื้อเอชไอวีจนเป็นโรคเอดส์ ซึ่งมีเวลาประมาณ 7 ปี กว่าที่เชื้อไวรัสจะกลายเป็นโรค

ทั้งนี้เป้าหมาย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นโยบาย “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” มุ่งเน้นการลดผู้รับเชื้อ HIV รายใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 9,200 คนต่อปี ให้ลดเหลือต่ำกว่า 1,000 คนต่อปี ภายในปี 2573

ยาต้านไวรัสที่ใช้ในการรักษาผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี

สำหรับความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานด้านไวรัสวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา เภสัชวิทยา และระบาดวิทยา ของ “ศ. พญ.ธันยวีร์” ได้นำมาต่อยอดทำงานวิจัย นำไปผลิตยาต้านไวรัสสูตรต่าง ๆ ประยุกต์ใช้ในการรักษาเด็กอยู่ร่วมกับเอชไอวีในประเทศไทย

โดยมีแรงบันดาลใจจากการร่วมงานวิจัยกับเครือข่ายนักวิจัยในสหรัฐอเมริกา และ กลุ่มประเทศแถบยุโรป ที่มีการวิจัยพัฒนาที่ก้าวหน้า รวมทั้งได้ทำวิจัยร่วมกับองค์การเภสัชกรรม โดยการใช้ยาต้านไวรัสที่ผลิตได้เองในประเทศไทย ทำให้เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าถึงยาได้ทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาสูตรยาต้านไวรัส จากที่ต้องรับประทานวันละหลายครั้ง-หลายเม็ด จนในปัจจุบันเป็นยาต้านไวรัสเม็ดรวม รับประทานวันละครั้ง ทำให้สามารถใช้ได้ง่าย ประสิทธิภาพดี สามารถใช้ได้กับเด็กในไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น

องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย ได้รับการผลักดันไปสู่การกำหนดแนวทางการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ HIV ในเด็กและสตรีมีครรภ์ สำหรับใช้ในการดูแลรักษาที่เกิดประโยชน์ต่อเด็กและสตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อ HIV สามารถลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันเครือข่ายวิจัย HIV เด็กในประเทศไทยและกัมพูชา รวมถึงเครือข่ายวิจัยเรื่อง HIV ในเด็กและเยาวชน ในเอเชีย


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เอชไอวีHIVเอดส์โรคเอดส์AIDSThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด