“การต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิง ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะหยิบยื่นให้ใครได้ แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคน ต้องตระหนักและไขว่คว้า เพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมทางสังคม”
คำพูดข้างต้นเป็นของ “คลาร่า เซทคิน” (Clara Zetkin) นักเคลื่อนไหวคนสำคัญ ผู้มาก่อนกาลของกระแสสตรีนิยม (Feminism) และผู้ให้กำเนิดวันสตรีสากล (International Women's Day) แต่ใครเลยจะรู้ว่า ‘ทุกสิ่ง’ ที่เธอคิดและเป็นอยู่นั้น ล้วนกลั่นกรองมาจากวิถีชีวิตของกรรมกรสตรีในโรงงานทอผ้า ซึ่งมีสถานะไม่แตกต่างจากทาสในสมัยอยุธยาเลย
คลาร่า เซทคิน (หรือนามสกุลเดิมคือไอส์เนอร์) เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม ค.ศ. 1857 ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาเออร์ซ่า ประเทศเยอรมนี มีบิดาเป็นครูคนเดียวในหมู่บ้าน ส่วนมารดาเป็นคนชนชั้นกลาง จึงพยายามฝึกฝนและหล่อหลอมให้คลาร่าได้รับการศึกษาเช่นเดียวกัน ในขณะที่เพื่อน ๆ ของเธอเป็นคนในชนชั้นยากจน ไม่มีโอกาสที่จะเรียนหนังสือ สิ่งที่เธอมักจะได้ยินจากเพื่อนเสมอ คือเพลงพื้นเมืองที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ “มันฝรั่ง”
“ตอนเช้ากินมันฝรั่งแก้หิว…ตอนเที่ยงต้มมันฝรั่งด้วยน้ำเปล่า ตอนเย็นกัดมันฝรั่งทั้งเปลือก…มันฝรั่ง มันฝรั่ง และมันฝรั่ง” - ดูเหมือนชีวิตของ ‘เพื่อน’ เธอนั้น จะมีเพียงมันฝรั่งคอยประทังชีวิต
คลาร่าเติบโตมากับการตั้งคำถามถึงความเป็นอยู่ ทั้งของตัวเองและเพื่อนรอบตัว แต่ก็ยังไม่ทิ้งความสนุกสนานของวัยเด็ก จนกระทั่งเกิดสงครามปรัสเซีย-ฝรั่งเศส ในปีค.ศ. 1870-1871 ทำให้ระบบทุนนิยมเข้ามามีอิทธิพลในเยอรมนี เพื่อนในหมู่บ้านต่างพากันอพยพเข้าเมืองหลวง เพื่อมาเป็นลูกจ้างตามโรงงานต่าง ๆ ในขณะที่คลาร่านั้นสอบเข้าวิทยาลัยครูได้ เป็นที่ภาคภูมิใจของทุกคนในครอบครัว
การได้ย้ายเข้ามาเรียนที่วิทยาลัยครู ทำให้คลาร่าได้รู้จักกับแนวคิดสังคมนิยม และพบเห็นความโหดร้ายของระบบทุนนิยมมากขึ้น จากการรวมกลุ่มกับกรรมกรที่อาศัยอยู่ในโรงงานทอผ้าใกล้วิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ต้องกินและนอนในโรงงานซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นและกลิ่นน้ำมันเครื่องจักร ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ
“พวกเธอต้องทำงานวันละ 17 ชั่วโมง โดยไม่มีวันหยุด แลกกับค่าแรงอันน้อยนิด และหากตั้งครรภ์จะถูกไล่ออกจากงานทันที” ฟัง ๆ ดูแล้ว แทบไม่ต่างจากการเป็นทาส
จากการถูกกดขี่โดยชนชั้นนายทุนอย่างยาวนาน ทำให้กรรมกรหญิงโรงงานทอผ้าทั่วโลก ตัดสินใจหยุดงานประท้วง เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าแรง รวมถึงให้สวัสดิการในด้านต่างๆ มากขึ้น จนเกิดการลอบวางเพลิงโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่งที่นิวยอร์ก เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 119 คน ก่อนที่ข่าวจะค่อย ๆ เงียบหายไปจากวงสังคมตามสูตรเดิม
วันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1907 คลาร่าตัดสินใจก้าวเข้ามาเป็นหัวหน้ากลุ่มกรรมกรทอผ้าอย่างเต็มตัว และเลือกปลุกระดมให้แรงงานสตรีเหล่านั้นหยุดงานประท้วง และยื่นข้อเสนอให้ “ผู้หญิงทุกคนมีสิทธิในการเลือกตั้ง” แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนเกิดการประท้วงตามมาอีกหลายครั้งในสเกลที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แน่นอนว่าประเด็นของการประท้วงนั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่ ‘สิทธิของผู้หญิง’ แต่ยังขยายไปถึงกลุ่มแรงงานเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมเช่นเดียวกัน
ในที่สุด การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีของคลาร่าและเพื่อนพ้องก็สิ้นสุดลงในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1910 เมื่อกลุ่มสมัชชาสตรีสังคมนิยมได้ตอบรับข้อเสนอของตัวแทนแรงงานสตรีจาก 17 ประเทศ นั่นคือ “หลักการ 3 แปด” ที่จะแบ่งเวลาใน 1 วันออกเป็นส่วน ๆ เริ่มจากลดเวลาการทำงานเหลือ 8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้ผู้หญิงได้พัฒนาศักยภาพตามความสนใจของตัวเองเพิ่มขึ้น 8 ชั่วโมง (ไม่รวมช่วงเวลาพักผ่อนนอนหลับอีก 8 ชั่วโมงตามหลักการอนามัยโลก) นอกจากนี้ยังปรับสวัสดิการให้เท่าเทียมแรงงานชาย และคุ้มครองสวัสดิการของแรงงานเด็ก รวมถึงรับรองให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี เป็นวันสตรีสากล ซึ่งอาจเรียกได้ว่าการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีของคลาร่า เป็นคลื่นใต้น้ำลูกน้อย ๆ ที่สั่นสะเทือนถึงคลื่นแห่งสตรีนิยมทั้ง 3 ลูกในเวลาต่อมาด้วย
โดยคลื่นสตรีนิยมลูกแรก เริ่มต้นจากการที่สตรีชนชั้นกลาง ซึ่งมีการศึกษา เริ่มตั้งคำถามถึงสิทธิของตัวเองในฐานะพลเมืองคนหนึ่งตามกฎหมาย ก่อนเข้าสู่คลื่นลูกที่ 2 ยุคที่ผู้หญิงเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง ซึ่งไม่ควรถูกยึดโยงกับการแต่งงาน หรือการมีลูก จนมาถึงคลื่นลูกที่ 3 ซึ่งเป็นการใช้สื่อกระแสหลักหรือ pop culture อย่างการร้องเพลง หรือการทำหนัง เพื่อขับเคลื่อนโลกใบนี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้ไม่ได้ลงไปเดินขบวนประท้วงเอง แต่ก็สร้างอิมแพคให้สังคมในระยะยาวได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงทั่วโลก ไทยพีบีเอสขอเป็นส่วนหนึ่งในการเฉลิมฉลอง โดยให้บทความนี้เป็นสื่อกลาง พร้อมติดแฮชแท็ก #IWD2024 #InspireInclusion ซึ่งเป็นธีมหลักของวันสตรีสากลในปีนี้ เพื่อสื่อสารว่า
“ผู้หญิงทุกคนมีคุณค่าและสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ใครก็ได้ ด้วยอัตลักษณ์ที่แตกต่างและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชาติพันธุ์ ศาสนา สภาพร่างกาย เพศวิถี หรือชนชั้นทางสังคม เราทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเองเสมอ”
Source: Spatacus Educational, The Guardian, Narratives Digital และสำนักหอสมุดแห่งชาติ