วันที่ 4 มี.ค. ของทุกปีเป็น “วันปะการัง” (Coral Day) ซึ่งถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของ “ปะการัง” ที่ช่วย “ระบบนิเวศทางทะเล” ให้มีความสมดุลต่อสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล โดย “วันปะการัง” ถูกกำหนดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2539 ที่เมืองโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น และได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยป้องกันแนวปะการังขึ้นในปี 2543 ที่เกาะชิระโฮะ (Shiraho) เมืองอิชิกากิ (Ishigaki) จังหวัดโอกินาวา (Okinawa)
“ปะการัง” (Coral) คือ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยอยู่ในทะเล จัดอยู่ในกลุ่มซีเลนเทอราตา (Coelenterata) กลุ่มเดียวกับดอกไม้ทะเลและแมงกะพรุน แต่จะแตกต่างกันตรงที่ปะการังนั้นจะมีจุดเด่นตรงที่มีโครงสร้างเป็นฐานหินปูนแข็งแรงเรียกว่า โพลิป (Polyp) มีโพรงในลำตัว มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น มีช่องปากแต่ไม่มีทวารหนัก มีหนวดที่มีเซลล์เข็มพิษ เพื่อป้องกันตัวและจับเหยื่อกินเป็นอาหารเรียงอยู่รอบปากโพรง ในตัวปะการังจะมีสาหร่ายเซลล์เดียวเรียกว่า ซูแซนเทลลี (Zooxanthellae) จำนวนมากอาศัยอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกัน (Symbiosis)
ปะการังจะแตกหน่อแบ่งตัวให้ปะการังที่เกิดใหม่มาเชื่อมต่อเป็นกลุ่มก้อนเรียกว่า โคโลนี (Colony) ซึ่งรูปร่างของกลุ่มนั้นอาจเป็นก้อนคล้ายสมอง หรือเป็นกิ่งเป็นแผ่นคล้ายใบไม้หรือแผ่นบาง ๆ เคลือบพื้นแล้วแต่ชนิด แล้วปะการังหลาย ๆ กลุ่มก้อนนี้จะก่อตัวรวมกันเป็นแนวปะการังสวยงามแบบที่เราได้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเป็นได้ทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร ที่หลบภัย เป็นแหล่งอนุบาลสำหรับสัตว์น้ำอีกหลายชนิด และยังเป็นแหล่งศึกษาวิจัยค้นคว้าทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech