ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จีนเล็งขุดเจาะ “แอนตาร์กติกา” สำรวจ “ทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็ง”


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

1 มี.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

จีนเล็งขุดเจาะ “แอนตาร์กติกา” สำรวจ “ทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็ง”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/864

จีนเล็งขุดเจาะ “แอนตาร์กติกา” สำรวจ “ทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็ง”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ทีมสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของจีนวางแผนขุดเจาะครอบน้ำแข็ง (ice cap) ในทวีปแอนตาร์กติกา เพื่อการสำรวจทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งที่ฝังตัวอยู่ข้างใต้ครอบน้ำแข็ง ณ ความลึกมากกว่า 3,600 เมตร

เจียงซู นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งประเทศจีน เผยว่าทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งฉีหลิน ซึ่งตั้งชื่อนี้โดยจีนเมื่อปี 2022 ตั้งอยู่ในดินแดนเจ้าหญิงเอลิซาเบธ (Princess Elizabeth Land) บริเวณแผ่นน้ำแข็งในแผ่นดินแอนตาร์ติกาตะวันออก ห่างจากสถานีไท่ซานของจีนราว 120 กิโลเมตร

พื้นที่ก่อสร้างสถานีฉินหลิ่งของจีนในทวีปแอนตาร์กติกา วันที่ 25 ม.ค. 2024 ภาพจาก Xinhua

จีนได้ตระเตรียมงานขั้นต้นบางส่วนสำหรับการขุดเจาะทางวิทยาศาสตร์นี้แล้ว แต่ยังไม่มีการเปิดเผยกรอบเวลาการขุดเจาะที่แน่นอน โดยทีมสำรวจได้เข้าสู่พื้นที่ทะเลสาบเป็นครั้งแรกและดำเนินการตรวจสอบคัดเลือกจุดขุดเจาะ ขณะปฏิบัติการเดินทางสำรวจแอนตาร์กติก ครั้งที่ 40 ของประเทศ

เจียงกล่าวว่าทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งฉีหลิน ซึ่งเป็นทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ที่สุดอันดับสองเท่าที่เคยค้นพบในแอนตาร์กติกา มีประวัติศาสตร์การพัฒนาตัวที่ตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างน้อย 3 ล้านปี ทำให้เป็นสถานที่ที่เหมาะสมจะสำรวจทะเลสาบและสิ่งมีชีวิตใต้ธารน้ำแข็ง

สถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งประเทศจีนจะทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยหลายแห่งในจีน เพื่อสร้างความคืบหน้าของเทคโนโลยีสำคัญ เช่น การขุดเจาะที่สะอาดและกู้คืนได้ การตรวจสอบในแหล่งกำเนิดและการเก็บตัวอย่างที่สะอาด การเก็บตัวอย่างทางจุลชีววิทยาในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมเยือกแข็ง และการเฝ้าติดตามการปนเปื้อนทางจุลชีววิทยาในขั้นตอนขุดเจาะ

ด้านสโนว์ อีเกิล 601 (Snow Eagle 601) เครื่องบินปีกตรึงสำหรับการบินที่ขั้วโลกของจีน ได้ทำการบินสำรวจพื้นที่ดินแดนเจ้าหญิงเอลิซาเบธหลายรอบตั้งแต่ปี 2015 นำสู่การเก็บข้อมูลทางธรณีฟิสิกส์ที่ทำให้คาดว่าทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งแห่งนี้มีพื้นที่พื้นผิว 370 ตารางกิโลเมตร และความลึกถึง 200 เมตร

ทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติก ซึ่งถูกปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็งยาว มีสภาพความดันสูง อุณหภูมิต่ำ สารอาหารต่ำ และมืดมิด ซึ่งถือเป็นข้อมูลจำเพาะเกี่ยวกับวิวัฒนาการทางชีววิทยา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนวิวัฒนาการของแผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติก

อนึ่ง การขุดเจาะทางวิทยาศาสตร์เป็นวิธีการเดียวในการเก็บตัวอย่างทางกายภาพจากทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็ง โดยตั้งแต่ปี 2012 สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และรัสเซีย ได้ดำเนินการขุดเจาะและเก็บตัวอย่างจากทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติกา จำนวน 3 แห่ง
 

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS 

ภาพซินหัว : พื้นที่ก่อสร้างสถานีฉินหลิ่งของจีนในทวีปแอนตาร์กติกา วันที่ 25 ม.ค. 2024

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แอนตาร์กติกาทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งสำรวจทะเลสาบใต้ธารน้ำแข็งวิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด