วันนี้ (27 เม.ย.2568) ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์แรงหนุน-ต้านของสังคม ต่อการทำหน้าที่ของ ทราย สก๊อต ที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) เป็นสิ่งที่น่าสนใจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีผู้เข้าข้างหรือเลือกอยู่ฝั่งเดียวกับ ทราย สก๊อต แรงหนุนส่วนหนึ่งอาจไม่ได้เห็นด้วยกับการแสดงออกของ ทราย สก๊อต ในทุกประเด็น แต่เขาเหล่านั้นอยากให้เกิดความตระหนักรู้ทางสังคม และมีการตรวจสอบการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ตรงนี้สะท้อนว่า สังคมกำลังมีความรู้สึกคลางแคลงใจในเรื่องความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ และ อส.
“ในปี 2567 อส. มีรายได้จากการจัดเก็บค่าเข้าชมของนักท่องเที่ยวทั้งประเทศราว 2,200 ล้านบาท เกินกว่าครึ่ง เป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล สะท้อนว่าพื้นที่ทางทะเลเป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์สูง ซึ่งที่ผ่านมาสังคมแทบไม่มีโอกาสได้รับรู้เลยว่า รายได้เหล่านั้นถูกนำไปใช้อย่างอย่างไร
ส่วนตัวเห็นว่า กรมอุทยานฯ ควรพลิกเหตุการณ์ครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสในการปรับปรุง และแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใส่ในการทำงานของ อส. จนกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพื่อนำไปสู่การร่วมไม้ร่วมมือจากภาคประชาชนและภาคเอกชน สำหรับอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป”
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าปัจจุบันอาจมีการใช้ระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ในอุทยานแห่งชาติบางแห่ง แต่ยังพบปัญหาข้อติดขัดหลายประการ เช่น การใช้ E-ticket กับตั๋วหมู่คณะที่ซื้อทัวร์มาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล จึงควรมีการปรับปรุงระบบดังกล่าว และนำมาใช้กับพื้นที่อุทยานต่าง ๆ ให้มากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงปัญหาการคอร์รัปชัน กรณีจำหน่ายตั๋วเข้าอุทยานฯ ที่นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเรื้อรังลงได้
มากไปกว่านั้น หากในอนาคตมีกระบวนการจัดเก็บรายได้ที่โปร่งใสแล้ว ลำดับถัดไปก็ควรจะมีการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่ง เพื่อจัดสวัสดิการต่าง ๆ ให้พนักงานและเจ้าหน้าที่อุทยานในระดับปฏิบัติการให้ดีกว่าที่ได้รับ เช่น การใช้เป็นค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องมือหรือปัจจัยขั้นพื้นฐาน สำหรับใช้ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเงินค่าตอบแทนจากการทำงาน ที่มีความเหมาะสมกับหน้างานที่รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่กระทำการทุจริต ทั้งยังเป็นขวัญกำลังในการปฏิบัติหน้าที่
ดร.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่า ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายสนับสนุน ทราย สก๊อต กับพนักงานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ รวมไปถึงผู้ประกอบการ และประชาชนในพื้นที่ เกิดจากการมีแนวคิดและจุดยืน หรือนิยามการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แตกต่างกัน กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งมีแนวคิดโน้มเอียงไปแบบอนุรักษ์สุดโต่ง (Deep Green) ที่เชื่อว่า การดำรงอยู่ของอารยธรรมอุตสาหกรรม เป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ จึงเรียกร้องให้รื้อถอนและหวนคืนความเป็นปกติให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด
ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง มีแนวคิดสนับสนุนการใช้ประโยชน์ จากทรัพยากรทางทะเลอย่างหลากหลายและเต็มรูปแบบ ตามแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่ความเห็นที่ไม่ตรงกันและความขัดแย้ง
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความสับสน และไม่ให้เหตุการณ์ที่ปรากฏตามสื่อ เกิดขึ้นซ้ำรอย กรมอุทยานฯ ควรมีการทบทวน และสร้างระเบียบหรือมาตรการที่ชัดเจนว่า เส้นแบ่งของภาคประชาชน ภาคเอกชน ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้อง และอนุรักษ์ธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน
ยกกรณีตัวอย่าง เช่น หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎระเบียบอย่างชัดเจน บทบาทหน้าที่ในฐานะพลเมืองดี ที่จะกระทำการเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ทำได้แค่ไหน สามารถถ่ายคลิปวิดีโอการคนที่ทำผิดนั้น โพสต์ลงโซเชียลมีเดียได้หรือไม่ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ควรกำหนดกฎระเบียบข้อควรปฏิบัติในการใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลให้ชัดเจน มีการเขียนป้ายทั้งในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ เพื่อความเข้าใจร่วมกัน ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ไปจนถึงผู้ประกอบการในพื้นที่เช่นกัน