วันนี้ (27 เม.ย.2568) ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน เปิดเผยถึงสถานการณ์และผลกระทบจากเหมืองแร่ในเมียนมา ที่ส่งผลกระทบต่อคนลุ่มน้ำกก-น้ำสาย นับล้านที่เสี่ยงได้รับสารพิษโลหะหนัก
ดร.ไชยณรงค์ ระบุว่า จากเคยทำงานช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทอง จ.เลย และ จ.พิจิตร จึงมีข้อเสนออยากให้ทำโดยเร่งด่วน คือการตรวจเลือดของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ และ ชาว อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ระหว่างแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ไหลเข้าประเทศไทย ต้องตรวจสารโลหะหนัก เช่น สารหนู แมงกานีส ตะกั่ว ปรอท นิกเกิล และโครเมียม
ดร.ไชยณรงค์กล่าวว่า โลหะหนักเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อสมอง ซึ่งการตรวจปัสสาวะอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้การบริโภคสัตว์น้ำหรือพืชหรือน้ำประปา ที่มีโลหะหนักหรือมาจากการสัมผัส เช่น สารหนู อาจมาจากการสัมผัสโดยตรงได้ การตรวจต้องทำโดยเร่งด่วน

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
กรณีตัวอย่างที่พบคนป่วยที่น่าจะมาจากสารหนู อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่จะต้องมีการรักษาและดูแลอย่างเร่งด่วนซึ่งต้องใช้เวลานานมากกว่าจะหาย
ถ้าเป็นไปได้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ จะต้องลงมาทำเรื่องนี้โดยเร่งด่วน จากที่กระทรวงสาธารณสุข รับปากจะทำ แต่อยากเห็นคือแผนการทำงานที่มีความชัดเจน
ดร.ไชยณรงค์ ยังกล่าวว่า การตรวจแต่ละครั้ง จะต้องมีกลไกดำเนินการ จึงจะช่วยแก้ปัญหาได้ เช่น กรณีเหมืองทอง จ.พิจิตร มีคณะทำงานหลายฝ่ายเข้ามา และติดตามเรื่องนี้โดยด่วน เช่นเรื่องสุขภาพ ต้องมีคณะทำงานหลายฝ่ายหรือชาวบ้านหรือมีนักวิชาการที่ชาวบ้านเลือกมา หรือมีหน่วยงานสาธารณสุขที่จะตามเรื่องนี้โดยเฉพาะ ส่วนเรื่องของน้ำประปา ความหลากหลายของชีวภาพ ก็ต้องมีหน่วยงานเฉพาะมาดูแลแต่ละเรื่อง
ปัจจุบันการจัดการตนเอง ยังมองว่ายังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งขึ้นอยู่กับจังหวัด มีความเข้มแข็งหรือไม่ เช่น จ.เชียงราย ผู้ว่าราชการจังหวัดลงมาเอง การทำงานจึงมีความเข้มแข็งแต่ จ.เชียงราย ก็ไม่ได้ไปตรวจที่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่
ดร.ไชยณรงค์ ย้ำว่า การแก้ปัญหา โดยเฉพาะโลหะหนักต้นน้ำไหลเข้าไทย ต้องรีบแก้ตั้งแต่ ต.ท่าตอน ถือว่าเป็นจุดวิกฤต เพราะอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดมลพิษอาจจะต้องมีความเข้มข้นในการสำรวจ ทั้งการตรวจเลือดและการตรวจสารโลหะหนักต่าง ๆ

ที่ผ่านมามีการตรวจตะกอนดิน อยากให้มีการตรวจแหล่งน้ำผิวดิน ใต้ดินเพิ่มด้วย และที่สำคัญสัตว์น้ำ ที่หากินตามผิวดิน โดยเฉพาะ หอย ปลา ที่ชาว อ.แม่อาย นิยมบริโภค เป็นสิ่งที่เร่งด่วนที่อยากจะให้หน่วยงานเร่งทำ
ส่วนการแก้ปัญหาสารพิษระยะยาว จำเป็นต้องการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และมีคณะทำงาน ซึ่งจะต้องมีข้อมูลทุกด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม สุขภาพ เศรษฐกิจ โดยอยากให้มีการทำระยะยาวและต้องมีการร่วมกันทำ ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน ท้องถิ่น และภาคประชาชน
ดร.ไชยณรงค์กล่าวอีกว่า จากประสบการณ์ทำงานเรื่องเหมืองทองที่จ.เลย และ จ.พิจิตร สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนเหมืองทองและเหมืองอื่น ๆ
กรณีเหมืองทองต้นน้ำสายหรือต้นน้ำรวก ต้นน้ำกก ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ไม่มีบ่อเก็บกักกากแร่ จะไม่เรียกว่าการบำบัด เพราะบำบัดไม่ได้ ต้องมีบ่อเก็บกักแร่ที่มีมาตรฐาน ภาพอาจเห็นโรงแต่งแร่ เมื่อไม่มีบ่อเก็บกากแร่ อาจจะมีการดึงเอาทองแดง หรือว่าโลหะหนักอื่น ๆ แต่ยังมีเพื่อนแร่ยังอยู่ ต้องเอาไปทิ้งบ่อเก็บกากแร่ ต้องป้องกันอย่างดี ไม่ให้มีน้ำไหลซึมลงไปในน้ำใต้ดินด้วย เข้าใจว่า กรณีนี้ไม่มีบ่อเก็บกักกากแร่ ซึ่งตรงนี้อาจเป็นปัญหาใหญ่จะออกมาสู่ธรรมชาติ
อีกส่วนหนึ่งคือการทำเหมืองในตัวลำน้ำมีผลต่อความขุ่น และยังไม่รู้ว่าปรอทที่ใช้ในการสกัดเอาแร่ทองคำจะลงมาในแม่น้ำหรือไม่ แต่ที่ชัดเจนพวกเพื่อนแร่ เช่นสารหนู จะออกมาแน่นอนในการทำเหมืองแร่ทองคำไม่มีเพียงแร่ทองคำที่ต้องการแต่มีเพื่อนแร่ที่เป็นปัญหาที่ทำให้เกิดโลหะหนักอาจปนเปื้อนเข้ามาในสิ่งแวดล้อมและเข้าสู่ร่างกายมนุษย์
อ่านข่าว : อุตุฯ เตือนรับมือ "พายุฤดูร้อน" ช่วง 27 เม.ย.-1 พ.ค.นี้