ภาพเด็กและเยาวชนใช้ความรุนแรง ถูกฉายซ้ำไปซ้ำมา ปัญหาเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ผู้ใหญ่ก็มีวิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ด้วยความคาดหวังว่าอยากให้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนครั้งสุดท้าย ก่อนกาลเวลาได้พิสูจน์ ว่าสิ่งที่ทำกันมานั้น แก้ปัญหาไม่ได้
ปรากฏชัดผ่านเหตุการณ์สะเทือนสังคม อย่างในช่วงต้นปี 2567 มีกรณี 5 เยาวชนรุมทำร้ายและฆาตกรรมป้ากบ จ.สระแก้ว หรือจะกรณีเด็ก 14 ปีใช้มีดแทงเพื่อนนักเรียนจนเสียชีวิตในโรงเรียน
เพราะอะไรเด็กและเยาวชนถึงยังอยู่ในวังวนของความรุนแรง ทั้งบทบาทผู้กระทำ และผู้ถูกกระทำ หาคำตอบกับ ผศ.พญ. จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งให้สัมภาษณ์ในรายการข่าว “จับตาสถานการณ์” ไทยพีบีเอส
เนื่องใน “วันสันติภาพไร้ความรุนแรงในโรงเรียน” (School Day of Non-violence and Peace) ซึ่งตรงกับวันที่ 30 มกราคม ของทุกปี
เด็กใช้ความรุนแรง เพราะมีครู - ผู้ปกครองเป็นต้นแบบ ?
ผศ.พญ. จิราภรณ์ กล่าวว่า ปัญหาพฤติกรรมเด็กเป็นยอดภูเขาน้ำแข็งที่เรามองไม่เห็นด้านใต้ เด็กเป็นผลผลิตของสังคมที่เขาอยู่ การที่เราเห็นปัญหาพฤติกรรมเด็ก สะท้อนว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเรื่องความรุนแรง ขาดการเลี้ยงดูเอาใจใส่ ขาดระบบที่จะดูแลช่วยเหลือการล้อ กลั่นแกล้ง รังแกอย่างมีประสิทธิภาพในโรงเรียน
“ปัญหาพฤติกรรมเด็กเป็นสิ่งที่เราได้ยินอยู่เรื่อย ๆ การที่เขาถูกล้อ กลั่นแกล้ง รังแก ส่วนหนึ่งเป็นภาพสะท้อนความรุนแรงในโรงเรียน บางทีไม่ได้เกิดแค่เด็กกับเด็ก เราพบว่าเด็กซึมซับพฤติกรรมล้อ กลั่นแกล้ง รังแกผ่านผู้ใหญ่ที่กระทำกับเด็ก อย่างเร็ว ๆ นี้ ที่ครูเอาเข็มกลัดทิ่มปากเด็ก ครูกล้อนผมเด็ก ครูตีเด็ก ครูโพสต์คลิปเด็กลงโซเชียลมีเดีย เหล่านี้คือพฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน เด็กก็อาจซึมซับเลียนแบบ แล้วเอามาปฏิบัติต่อกัน”
อีกสาเหตุของเด็กและเยาวชนที่ใช้ความรุนแรง ผศ.พญ. จิราภรณ์ กล่าวว่า คือ การอยู่บ้านที่รู้สึกไร้ตัวตน ไม่มีพาวเวอร์ จึงอยากมาใช้อำนาจเหนือคนอื่น มีพาวเวอร์คอนโทรลคนอื่นผ่านพื้นที่ของโรงเรียน
จุดเริ่มต้นความรุนแรง มาจากการหยอกล้อในโรงเรียน ?
ยังมีเรื่องระบบการดูแลช่วยเหลือในโรงเรียนที่ ผศ.พญ. จิราภรณ์ มองว่าควรมีได้แล้ว
“ส่วนตัวเป็นที่ปรึกษาโครงการไม่ล้อแกล้งกันในโรงเรียน ปัญหาหนึ่งที่พบเลยคือ ครูไม่เข้าใจเรื่องการล้อ แกล้ง รังแก ครูชอบคิดว่าก็แหย่กันเล่นเป็นธรรมดา เด็กก็แหย่อย่างนี้แหละ แต่จริง ๆ เป็นเรื่องการล้อ แกล้ง รังแกเรื้อรัง ทำให้เด็กบางคนทนไม่ไหว ใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับ เพราะโรงเรียนไม่มีระบบดูแล”
เด็กที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง ครูสังเกต - จัดการอย่างไร ?
ครูมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนใช้ความรุนแรง นอกจากปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ไม่เป็นคนที่บุลลีเด็กเสียเองอย่างคำแนะนำข้างต้นแล้ว ครูยังต้องเป็นนักสังเกตพฤติกรรมนักเรียน สามารถประเมินได้ว่าการแหย่ หยอกล้อ แกล้งกันนั้น กรณีแบบไหนปล่อยไปได้ กรณีแบบไหนต้องลงไปเคลียร์
ผศ.พญ. จิราภรณ์ กล่าวว่า หลัก ๆ ต้องเป็นการเล่นที่อีกฝ่ายต้องไม่มีอำนาจเหนืออีกฝ่าย ต้องเป็นการเล่นที่ทั้ง 2 ฝ่ายอยู่ในภาวะที่เท่ากัน ไม่มีฝ่ายใดอยู่เหนือกว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต้องรู้สึกโอเค ไม่รู้สึกว่าถูกกระทำ หรือรู้สึกไม่ชอบ อันนี้เป็นหลักการง่าย ๆ ของการแยกระหว่างการล้อ แกล้ง รังแก กับการแหย่กันเล่น
“การแหย่กันเล่นต้องสนุกทั้งคู่ แต่เมื่อไหร่มีเรื่องพาวเวอร์ไม่บาลานซ์ ต้องสงสัยว่าอันนี้เป็นการล้อ แกล้ง รังแก เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กอีกคนไม่โอเค ครูต้องเห็นสัญญาณที่จะบอกว่าพฤติกรรมตรงนี้ต้องหยุด หรือบอกว่าไม่ควรเกิดขึ้น แม้จะบอกว่าก็ล้อกันเล่น”
ความรุนแรงแก้ได้ เพียงฟังเด็กอย่างตั้งใจ !
ผศ.พญ. จิราภรณ์ กล่าวชวนครูสังเกตเด็กที่แยกตัว รู้สึกเหมือนเพื่อนไม่ค่อยเล่นด้วย เด็กที่ไม่มีความสุข เก็บกด เด็กที่เดินมาบอกเราว่าโดนแกล้ง ไม่โอเค นี่เป็นสิ่งที่ครูต้องซีเรียสทุกครั้ง
“ที่ผ่านมาเวลาเด็กเข้าไปแจ้งครู ครูอาจบอกปัดไป หรือเรียกเด็กทั้งคู่มาทำโทษ โดยที่เราก็ไม่ได้รับฟังว่าเกิดอะไรขึ้นจริง ๆ ซึ่งหลายครั้งการลงโทษทำให้เด็กที่มาฟ้องครู โดนหนักกว่าเดิม เด็กจึงไม่กล้ามาฟ้องครูอีก ฉะนั้นการที่ครูลงมาฟังจริง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น แก้ที่ปัญหาที่รากจริง ๆ มันสำคัญมาก”
สิ่งนี้ไม่เพียงช่วยเด็กที่ถูกกระทำ แต่ยังสามารถช่วยเด็กที่แกล้งคนอื่นด้วย เพราะเด็กเหล่านี้ก็เป็นเด็กมีปัญหา ไม่ว่าจะปัญหาส่วนตัว เช่น ควบคุมตัวเองไม่ได้ ปัญหาความรุนแรงที่บ้าน พวกเขาล้วนต้องการการช่วยเหลือเหมือนกัน
สัญญาณแหย่ หยอกล้อ แกล้งแบบไหน ไม่โอเคแล้วนะ ?
ไม่เพียงครูเท่านั้นที่สามารถสังเกตอาการและสัญญาณจากเด็ก แต่พ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถช่วยกันเฝ้าสังเกตได้
“เด็กจะเริ่มมาบ่นว่าไม่ชอบเลยเพื่อนแกล้งที่โรงเรียน พ่อแม่อย่าไปบอกว่าเพื่อนก็เล่นกันธรรมดา เราควรจะฟังอย่างตั้งใจจริง ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น”
“หรือเด็กเริ่มมีพฤติกรรมไม่อยากไปโรงเรียน ก็จะเริ่มตั้งแต่ไม่อยากเข้าไปหาเพื่อน ไม่อยากทำกิจกรรมกับเพื่อน อันนี้เป็นพฤติกรรมสำคัญ ๆ ที่เราจะต้องคิดว่าน่าจะมีปัญหาซีเรียสแล้ว”
“เมื่อไหร่ก็ตามที่เด็กเอ่ยปากบอก เราต้องคิดว่าเป็นปัญหาซีเรียส เพราะหากเด็กรู้สึกโอเคหรือจัดการได้ เขาจะไม่มาบอกเรา แต่เมื่อใดก็ตามที่เด็กบอก แสดงว่าเขาไม่โอเค นี่คือสัญญาณสำคัญมาก ๆ ที่เขากำลังขอความช่วยเหลือ” ผศ.พญ. จิราภรณ์ กล่าว
มาตรการ “ตรวจค้นอาวุธก่อนเข้าโรงเรียน” แก้ได้หรือไม่ ?
ผศ.พญ. จิราภรณ์ มองมาตรการตรวจค้นอาวุธก่อนเข้าโรงเรียนว่า เป็นขั้นตอนหนึ่งที่เราต้องมอนิเตอร์ด้วย เพราะหลายครั้งเด็กพกอาวุธไปด้วย ซึ่งผู้ปกครองและครูไม่รู้ ด้วยความเป็นเด็ก อาจขาดความยับยั้งชั่งใจ ขาดสติ ก็อาจทำให้เขารู้สึกว่าเป็นทางเดียวที่ทำให้เขารอด ฉะนั้นการตรวจอาวุธ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ เพียงแต่ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา
จัดการยาเสพติดรอบโรงเรียน ช่วยลดความรุนแรงได้หรือไม่ ?
ผศ.พญ. จิราภรณ์ มองว่า สารเสพติดเป็นปัจจัยหนึ่ง เป็นปัจจัยร่วมที่เป็นตัวกระตุ้น แต่ปัจจัยหลักจริง ๆ เด็กที่ล้อแกล้ง รังแกคนอื่น คิดว่าโรงเรียนสามารถสอนให้เด็กเข้าใจความคิด ความรู้สึกของคนอื่น เคารพความแตกต่างหลากหลาย หลายครั้งบุลลีเกิดจากการไม่เข้าใจความแตกต่างหลากหลาย
“อย่างการล้อว่าอ้วน ตัวดำ พ่อแม่แยกกัน ฯลฯ ซึ่งหากโรงเรียนได้สอนว่าสิ่งนี้คือความธรรมดา และต้องเคารพกันไม่ว่าแตกต่างกันอย่างไร หมอคิดว่าการทำงานตรงนี้จริง ๆ อาจช่วยเด็กมากกว่าตรวจอาวุธ ตรวจสารเสพติด เพราะทำงานกับสิ่งที่อยู่ในจิตใจของเด็ก”
หมอเด็กฝากบ่มเพาะความคิด ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น
ผศ.พญ. จิราภรณ์เชื่อว่า หากเด็กและเยาวชนได้ถูกบ่มเพาะทางความคิด ได้เห็นว่าการล้อ แกล้ง รังแกเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เป็นเรื่องที่คนไม่ปฏิบัติต่อกัน จะทำให้เด็กเข้าใจการเห็นหัวใจคนอื่น เคารพสิทธิคนอื่น ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น
“ที่สำคัญครูต้องทำให้เห็นก่อน เพราะจากข้อมูลที่มีการล้อแกล้งรังแกในโรงเรียน ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ใหญ่กระทำต่อเด็ก ไม่ใช่เด็กกระทำกันเอง” ผศ.พญ. จิราภรณ์กล่าวทิ้งท้าย
📖 อ่านเพิ่มเติม :
• กระเป๋านักเรียนแบบไหน ดีต่อเด็ก กับ #THEBAGToเดอะแบก (สัม)ภาระหนัก บนบ่าเด็ก ในรูปแบบ #DataVisualization
• ได้โปรด ! อย่าเบื่อ “การสอบ” เพราะส่งผลเสียต่อ “คะแนน” ได้