เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเราถึงกลัวกับอะไรบางอย่าง ที่คนส่วนมากมองว่าเป็นเรื่องปกติ และแม้แต่ตัวเราเองก็อาจไม่รู้สาเหตุของอาการ สิ่งนี้สามารถบอกได้ว่าอาจกำลังเป็นโรคกลัว หรือ “Phobia”
แม้ว่าทางการแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุของ “โรคกลัว” (Phobia ) อย่างแน่ชัด แต่มีความเป็นไปได้ว่า อาจมีสาเหตุเกิดจากปมในอดีต เรื่องราวฝังใจ ที่ติดค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกที่เคยพบเจอเหตุการณ์ไม่ดีกับสิ่งนั้นมาก่อน หรืออาจเกิดจากความไม่สมดุลกันของสารเคมีในสมอง และการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งขึ้นอยู่กับรายบุคคลที่แตกต่างกันไป
ไทยพีบีเอส ชวนทำความรู้จัก “อาการกลัวแปลก ๆ” ที่มีอยู่จริง และมีผู้คนที่กำลังประสบกับปัญหาเหล่านี้อยู่ เพื่อเป็นการสำรวจและทางแก้ไขมาบอกกัน
1. โรคกลัวบันไดเลื่อน (Escalaphobia)
ตอนเด็ก ๆ บางคนอาจเคยกลัวบันไดเลื่อน ต้องให้คุณพ่อ คุณแม่จูงมือพาก้าวขาไปพร้อมกัน เนื่องจากกลัวว่าอาจจะเกิดพลาดพลั้งจนกลายเป็นอุบัติเหตุ แต่เมื่อเติบโตขึ้น ก็สามารถขึ้น-ลงบันไดเลื่อนได้เอง ตามปกติ แต่ยังมีกลุ่มคนที่มีอาการกลัวบันไดเลื่อนแบบผิดปกติ หรือเรียกว่าเป็นโรคกลัวบันไดเลื่อน โดยจะมีอาการกลัว เมื่อต้องใช้บันไดเลื่อนอยู่เสมอ
สิ่งที่น่าแปลกใจคือ โรคนี้สามารถพบเจอได้ทั่วไป ข้อมูลจาก Elevator Escalator Safety Foundation (EESF) หรือกลุ่มที่ให้ความรู้เรื่องการใช้ลิฟต์และบันไดเลื่อนในระดับสากล พบว่า บันไดเลื่อนกว่า 35,000 ตัว ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่ช่วยเคลื่อนย้ายผู้คนกว่า 245 ล้านคนต่อวัน ถึงแม้จะมีการใช้งานเป็นจำนวนครั้งมหาศาล แต่บันไดเลื่อนก็ยังไม่สามารถลบความน่ากลัวออกไปจากใจของใครบางคนทั่วโลก
โดยสาเหตุอาจเกิดจาก ความทรงจำในการใช้บันไดเลื่อน อาทิ เสียหลักการทรงตัว สะดุด ลื่นล้มระหว่างเดินลง หรือแม้แต่การทำงานผิดพลาดของบันไดเลื่อน จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เหล่านี้เป็นภาพที่ไม่สามารถลบออกไปได้เมื่อต้องใช้บันไดเลื่อน รวมทั้งอาจเกิดจากการกลัวทางลาดชัน ที่มีการเคลื่อนไหวไปด้วย ทำให้ระหว่างการใช้งานจึงรู้สึกไม่ปลอดภัยและวิตกกังวล ความกลัวในการใช้บันไดเลื่อนอาจยังไม่ถือว่ารุนแรง แต่อาจมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตในเรื่องการเดินทาง เพราะส่วนมากผู้ที่มีอาการ มักหลีกเลี่ยงการใช้งานบันไดเลื่อน เป็นการใช้บันไดธรรมดา หรือลิฟต์แทน
วิธีแก้ไข เมื่อไรที่ต้องใช้บันไดเลื่อน หลีกเลี่ยงการจ้องมองที่บันไดเลื่อน ให้มองตรงไปข้างหน้า เพื่อลดความกังวลลง จับราวบันไดด้านข้างเพื่อทรงตัวให้มั่นคงบนบันไดเลื่อนและเพื่อป้องกันไม่ให้เวียนหัว หรือลองใช้บันไดเลื่อนตามที่ไม่มีคน เพราะบางคนที่กลัวบันไดเลื่อน เพราะไม่ชอบความรู้สึกเหมือนติดกับ หรือถูกห้อมล้อม ทดลองใช้บันไดเลื่อนตอนที่มีคนใช้น้อย จะช่วยลดความกดดันและความอึดอัดลงไปได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาแบบจิตบำบัด ซึ่งต้องอยู่ในการดูแลของจิตแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น
2. โรคกลัวรู (Trypophobia)
เคยตกใจกับเสียงผวาของเพื่อนที่เป็นโรคกลัวรูกันไหม เห็นภาพที่มีรูเยอะ ๆ เพื่อนบอกว่าสยองมาก…โรคกลัวรู ภาวะของคนที่มีอาการกระอักกระอ่วน ไม่สบายใจ เมื่อเห็นภาพของหลุม รู หรือช่องกลม ๆ ทั้งลักษณะปกติและกระจุกตัวรวมกัน เช่น ฝักเมล็ดบัว รังผึ้ง ปะการัง ฟองน้ำ ฟองสบู่ ผิวหนัง เมื่อเห็นภาพหรือสิ่งของเหล่านั้น จะเกิดความรู้สึกคัน ขนลุก รู้สึกขยะแขยง จิตใจไม่สงบ อาจถึงขั้นตัวสั่น อาเจียน เข่าอ่อน หรือไม่สบายได้
นักจิตวิทยาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การที่คนรู้สึกกลัวหรือไม่ชอบภาพอะไรก็ตามที่มีรูเยอะ ๆ อาจเป็นเพราะพวกเขาเคยมีประสบการณ์เลวร้ายเกี่ยวกับสิ่งที่เห็นมาก่อน ทั้งที่เกิดจากการกระทำของคนด้วยกันเอง หรือสัตว์ต่าง ๆ ที่เคยเรียนรู้มาว่าเป็นอันตรายและควรหลีกเลี่ยง เช่น กรณีของชายคนหนึ่งที่บอกว่าเขารู้สึกหวาดกลัวเมื่อเห็นลายกลม ๆ บนตัวปลาหมึกวงแหวนสีน้ำเงิน
ทั้งนี้วิธีการรับมือกับโรคกลัวรู คือ ฝึกการผ่อนคลายร่างกายเมื่อตกอยู่ในอาการกลัว เช่น ควบคุมการหายใจ ขยับร่างกายช้า ๆ อย่างเป็นจังหวะ และพยายามเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว ควบคู่กับการผ่อนคลายเพื่อให้ร่างกายเกิดการเรียนรู้ใหม่และบรรเทาความกลัวลง ทั้งนี้หากอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นปัญหารบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถเข้าพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษา
3. โรคกลัวขาดโทรศัพท์มือถือ (Nomophobia)
หลาย ๆ คนอาจคิดว่าการติดมือถือไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร สำหรับสังคมปัจจุบันที่ทุกอย่างดำเนินการผ่านโลกดิจิทัล และโทรศัพท์มือถือมีความจำเป็นในการใช้ชีวิตของเราตั้งแต่เริ่มต้นจนจบวัน แต่สำหรับอาการกลัวการขาดโทรศัพท์มือถือ มีความรุนแรงมากกว่านั้น
กล่าวคือ เมื่อไม่ได้เล่น ไม่ได้จับโทรศัพท์มือถือ แล้วจะมีอาการตื่นตระหนก หงุดหงิด กระสับกระส่าย กระวนกระวายอย่างมาก หรืออีกมุมหนึ่ง คือหมกมุ่นอยู่แต่กับการเช็กข้อความจากสื่อโซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง เมื่อมีแจ้งเตือนเข้ามา จะรีบเช็กอย่างรีบร้อนทันที หรือกลัวโทรศัพท์มือถือหาย แม้วางอยู่ในที่ปลอดภัย
อาการเหล่านี้ นอกจากแสดงถึงโรคกลัวขาดโทรศัพท์มือถือแล้ว ยังส่งผลกับสุขภาพต่าง ๆ เช่น นิ้วล็อก เนื่องจากการใช้งานมือและนิ้วอย่างหนักหรือต่อเนื่องเกินไป เกิดความผิดปกติของสายตา เช่น ปวดตา ตาแห้ง จอประสาทตาเสื่อม ทำให้เกิดสายตาสั้น สายตาเอียง เป็นต้น และอีกหลายอาการที่ควรระมัดระวัง เช่น หมอนรองกระดูกคอเสื่อมก่อนวัยอันควร หรือโรคอ้วน
ทางแก้ไขเบื้องต้น ควรฝึกให้ตัวเองมีช่วงเวลาที่ต้องปลอดมือถือ ลองจัดช่วงเวลาที่ไม่ใช้ เช่น เวลารับประทานอาหาร เวลาทำงาน อาจจะเริ่มจากกำหนดเวลา 30 นาที และเพิ่มเป็น 1 ชั่วโมง จากนั้นเพิ่มเวลาไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในห้องนอน อาจกำหนดให้เป็นเขตปลอดมือถือ การปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยทำให้ลดการใช้มือถือลงไป และส่งผลต่อภาวะ Nomophobia ให้ดีขึ้น และแน่นอนว่า จะช่วยทำให้สมองได้พัก สุขภาพก็จะดีขึ้นตามลำดับ
4.โรคกลัวการอยู่คนเดียว (Anuptaphobia)
ใครบ้างเป็นคนติดเพื่อน อยู่คนเดียวแล้วไม่มีความสุข อาจจะเข้าข่ายอาการกลัวการอยู่คนเดียว โรคกลัวการเป็นโสด หรือการกลัวการอยู่คนเดียวอย่างรุนแรง มักพบมากในกลุ่มผู้หญิง ถือว่าเป็นโรคทางจิตใจชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อกลับบ้านต่างจังหวัดจะถูกญาติ ๆ และเพื่อนบ้านถามว่า ยังไม่แต่งงานอีกหรือ ทำไมถึงยังไม่มีแฟน คนถามอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่คนถูกถามอาจจะเจ็บปวดจิตใจไม่น้อย จนส่งผลต่อการมีภาวะ Anuptaphobia
อาการของโรคนี้ จะมีความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง ชีวิตต้องการใครสักคนมาเติมเต็มอยู่ตลอด โดยเฉพาะเมื่อต้องออกไปไหนมาไหนคนเดียว เกิดความรู้สึกกลัวจนเหงื่อแตก ใจสั่น รู้สึกเหมือนไม่สบาย หรือมีอาการนอนไม่หลับ ทำให้มักเป็นคนที่มีนิสัยติดเพื่อน รวมถึงรู้สึกหมกมุ่นอยู่กับความคิดเกี่ยวกับการมีแฟน การแต่งงาน หรือชีวิตคู่ในอนาคต วาดฝันถึงความรักที่สวยงาม ความสุขของการมีคู่ โดยไม่สนใจความเป็นจริง
ทั้งนี้ข้อแนะนำในการลดความเครียดเบื้องต้น คือ ลองปรับมุมมองความคิดของตัวเองใหม่ว่า ถ้าแต่งงานไปแล้วเจอคนไม่ดีจะแย่ยิ่งกว่า ควรดูแลตัวเองให้ดี ทำร่างกายให้ร่าเริงแจ่มใส มีอะไรบกพร่องก็แก้ไข เมื่อเจอคนดีจะได้มีโอกาสมากขึ้น หรือใช้เวลาว่างไปกับการออกกำลังกาย หากิจกรรมพัฒนาตนเอง หรือทำงานอดิเรกที่ชอบ เพื่อจะได้ไม่หมกมุ่นกับเรื่องนี้จนเกินไป
5.โรคกลัวความรัก (Philophobia)
พูดถึงโรคกลัวการเป็นโสดไปแล้ว อีกหนึ่งโรคที่มีภาวะตรงกันข้าม คือ โรคกลัวการมีความรัก โดยมีอาการกลัวการตกหลุมรัก กลัวที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ กลัวความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้อื่น จนไม่กล้าเริ่มต้น หรือวิตกกังวลเกินไปว่าจะไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์นั้น ๆ ได้ ทำให้ผู้ที่มีอาการรู้สึกโดดเดี่ยวหรือไม่อยากจะมีความรัก
โดยอาการจะเกิดขึ้นแบบไม่มีเหตุผลและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากปล่อยไว้อาจรุนแรงถึงขั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจและการใช้ชีวิต ซึ่งความกลัวที่เกิดขึ้นอาจส่งผลให้บางคนมีอาการทางร่างกาย เช่น ตื่นกลัว เหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว หายใจลำบาก คลื่นไส้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตและเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยแยกตัวออกจากสังคมได้
โดยสาเหตุอาจเกิดขึ้นได้หลายประการ รวมถึงปัจจัยด้านพันธุกรรม เช่น เหตุการณ์แง่ลบสะเทือนจิตใจ ทำให้ฝังใจมาตั้งแต่อดีต หรือความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว เช่น ถูกนอกใจ ถูกหลอก หรือถูกหักอก ทำให้ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบนั้นอีก ทั้งนี้ผู้ที่มีอาการ Philophobia มักประเมินคุณค่าของตนเองต่ำ ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง คิดว่าตนเองไม่มีค่า หรือไม่ดีพอ ไม่คู่ควรให้ใครมารัก จึงมักกลัวการถูกปฏิเสธ และเลือกที่จะปิดกั้นตัวเองจากผู้อื่น
การรักษาโรคกลัวความรัก มีอยู่หลากหลายวิธี เช่น การให้เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว โดยแพทย์จะจัดสถานการณ์ให้ผู้มีอาการสร้างความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม เช่น การพูดคุย การทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เพื่อช่วยให้มีภูมิต้านทานต่อความกลัวของตนมากขึ้น
6.โรคกลัวเข็ม (Trypanophobia)
การได้รับการฉีดวัคซีน หรือฉีดยา สำหรับบางคนถือเป็นเรื่องง่าย ๆ สบาย ๆ แต่สำหรับคนบางกลุ่ม กลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากพวกเขาเหล่านี้ มีอาการของโรคกลัวเข็ม (Trypanophobia) เป็นความกลัวที่จะถูกเข็มทิ่ม จนเกิดความหวาดกลัวและวิตกกังวลอย่างรุนแรง แค่นึกถึงขั้นตอนการใช้เข็มฉีดยาก็เกิดความวิตกกังวลอย่างเฉียบพลัน มีอาการกดดัน (panic) ตื่นตระหนก หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วขึ้น เหงื่อออก ความดันโลหิตลดลง จนอาจเป็นลมหมดสติ
ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า โรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร แต่จิตแพทย์ก็ได้สันนิษฐานสาเหตุของโรคกลัวเข็ม อาทิ เคยมีเหตุการณ์ฝังใจในวัยเด็ก ที่ส่งผลกระทบทางจิตใจมากจนทำให้กลัวเข็ม หรือมีความคิดในแง่ลบต่อแพทย์ พยาบาล หรือการทำหัตถการทางการแพทย์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสารเคมีในสมอง เป็นต้น
โดยวิธีที่ทำให้หายกลัวเข็มตามหลักจิตวิทยามีอยู่ด้วยกัน 2 แนวทาง ได้แก่ การบำบัดจิต ความคิดและพฤติกรรม กล่าวคือ การให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น การนั่งดูคนอื่นฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเขาสามารถผ่านการฉีดยามาได้อย่างปลอดภัย หรือดูการหลอกล่อเด็กให้ฉีดยา ฝึกให้คุ้นเคยกับสิ่งที่กลัวอย่างซ้ำ ๆ และอีกแนวทางหนึ่ง คือ ในกรณีที่มีอาการกลัวเข็มมาก หรือมีโรคจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกจริต หรือมีการใช้สารเสพติด จิตแพทย์สามารถให้ยาทางจิตเวชควบคู่ไปกับการบำบัดได้เช่นเดียวกัน
สำหรับโรคกลัวเข็ม หรือกลัวการฉีดยา สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ โดยต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ นอกจากนี้สามารถติดตามละครเรื่อง The Interns หมอ มือ ใหม่ โดยเฉพาะในตอนที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องการรับมือกับผู้มีอาการกลัวเข็มฉีดยา รับชมได้ทาง : https://watch.vipa.me/E5I9tULczxb เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลจาก :
-www.rama.mahidol.ac.th
-www.verywellmind.com
-www.openaccessgovernment.org