“เจมส์ วัตต์” (James Watt) นักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์สกอตทิชที่มีผลงานด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรไอน้ำ จนนำไปสู่การใช้งานเชิงอุตสาหกรรม ได้ฝากผลงานไว้บนโลกใบนี้มากกว่าการเป็นแค่หน่วยวัดกำลัง และได้รับเกียรติระดับเป็นสมาชิกราชสมาคมแห่งเอดินบะระ (Edinburgh)
วันที่ 19 มกราคม 1736 ซึ่งเป็นช่วงไม่นานหลังจากที่บนเกาะอังกฤษ กำลังได้รับอานิสงส์จากการทำนุบำรุงและสนับสนุนกิจการด้านวิทยาศาสตร์ “เจมส์ วัตต์” (James Watt) ได้ถือกำเนิดขึ้นบนโลกในสกอตแลนด์ โดยเขาได้รับการศึกษาที่ดีจากครอบครัวและสังคมรอบข้าง ในช่วงแรกนั้น “วัตต์” สนใจด้านคณิตศาสตร์ซึ่งนำพาเขาไปสู่การเป็นผู้พัฒนาเครื่องมือในการวัดต่าง ๆ ทำให้ “วัตต์” มีความเชี่ยวชาญด้านการวัดค่าเชิงปริมาณ (Quantitative) โดยเขาได้ทำงานในเมืองกลาสโกว์ ของสกอตแลนด์
ด้วยหน้าที่การงานของวัตต์ ทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับนักวิทยาศาสตร์และนักคิดหลายคน เขาได้เดินทางระหว่างกรุงลอนดอน และกลาสโกว์อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งในปี 1764 เมื่อเขาอายุได้ 28 ปี เขาสังเกตว่าการทำงานของเครื่องจักรไอน้ำแบบ “นิวโคเมน” (Newcomen Engine) นั้นสามารถถูกปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้ และหลังการปรับปรุงในครั้งนั้น ทำให้เขาสามารถสร้างเครื่องจักรไอน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ดังกล่าวในปี 1769
และการประดิษฐ์ของเขาในครั้งนั้นนั่นเอง ที่ไม่ได้เพียงแค่เปลี่ยนชีวิตของเขา แต่ได้นำอังกฤษไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม
ในอดีต มนุษย์ได้มีการคิดค้นการทำงานของเครื่องจักรไอน้ำมาตั้งแต่ในยุคกรีกโบราณ โดยอาศัยการต้มน้ำให้เดือดและใช้แรงดันจากน้ำในการทำงาน อย่างไรก็ตามเครื่องจักรไอน้ำยุคใหม่ถูกคิดค้นโดยโทมัส นิวโคเมน ในช่วงปี 1705 ซึ่งในตอนนั้นได้ถูกนำมาใช้กับงาน เช่น ระบบปั๊มน้ำ กลไกในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่การปรับปรุงของวัตต์ ได้ทำให้เครื่องจักรไอน้ำมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และหลังจากปี 1769 เป็นต้นมา ผลงานของเราก็ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
หลังจากนั้นในปี 1774 วัตต์ ได้ร่วมมือกับนักธุรกิจ แมทธิว โบลตัน (Matthew Boulton) ผู้สนใจในการทำงานของเครื่องจักรไอน้ำของวัตต์ นำไปสู่การก่อตั้งบริษัทโบลตันและวัตต์ และได้ขายเครื่องจักรไอน้ำที่ทั้งคู่ร่วมกันพัฒนาให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วเกาะอังกฤษ และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม วัตต์ไม่เคยตั้งใจให้ชื่อของเขาเป็นหน่วยวัดใด ๆ การนำเอาชื่อวัตต์มาใช้วัดกำลัง (งานที่กระทำได้โดยสม่ำเสมอในหนึ่งหน่วยเวลา) นั้นเริ่มต้นในปี 1882 ซึ่งเป็นเวลากว่า 80 ปีหลังจากที่วัตต์เสียชีวิตลง ซึ่งเป็นการให้เกียรติต่อผลงานของวัตต์
งานนั้น เป็นส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างงานและพลังงาน (Work and energy) ซึ่งเขียนแทนออกมาเป็นสมการได้ว่า P = W/t หรือกำลัง (Power) เท่ากับงาน (Work) ที่ทำได้ต่อหน่วยเวลา (Time)
ในเมืองเบอร์มิงแฮม ได้มีการก่อตั้งอนุสาวรีย์ ของสามผู้มีอิทธิพลด้านการจัดการกับพลังงาน และนำพาอังกฤษไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ได้แก่ เจมส์ วัตต์ แมทธิว โบลตัน และ วิลเลียม เมอร์ด็อก ซึ่งทั้งสามเป็นบุคคลสำคัญในบริษัท โบลตันและวัตต์ โดยเมอร์ด็อก ได้ช่วยคิดค้นเครื่องจักรไอน้ำรุ่นใหม่อีกมากมาย หลังจากที่วัตต์ ตัดสินใจจ้างเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม
เบอร์มิงแฮมเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโบลตันและวัตต์ และถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ผลงานของพวกเขาทั้งสามได้นำไปสู่การสร้างรถจักรไอน้ำรุ่นใหม่ ๆ ไปจนถึงการนำเอาเครื่องยนต์ไอน้ำมาใช้กับยานพาหนะเช่น เรือ รถไฟ
และมุมมองที่น่าสนใจต่อกรณีดังกล่าวคือ การปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยเครื่องจักรไอน้ำได้นำพาคนมาทำงานในเมืองที่ทำให้เกิดสังคมเมือง (Urbanization) และแนวคิดแบบทุนนิยม (Capitalism) แทนที่ระบบเจ้าขุนมูลนาย (Feudalism) ในอังกฤษแบบเดิม
ผลงานของวัตต์ ได้รับการยอมรับจากสังคมอังกฤษในตอนนั้นเป็นอย่างมาก ทำให้เขาได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของราชสมาคมแห่งเอดินบะระ ในปี 1784 ซึ่งในตอนนั้นเขามีอายุได้เพียงแค่ 48 ปี แต่กลับมีผลงานเป็นที่ยอมรับไปทั่วยุโรป
ในปี 1800 เมื่อเขามีอายุได้ 64 ปี วัตต์ก็ได้ส่งต่อธุรกิจโรงงานให้ลูกชายของเขาได้ดูแลต่อ และใช้ชีวิตอย่างสงบก่อนที่จะเสียชีวิตในปี 1819 รวมอายุได้ 83 ปี ซึ่งบริบททางประวัติศาสตร์ที่สำคัญก็คือ เป็นปีเดียวกับที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ขึ้นครองราชย์ และได้นำพาอังกฤษไปสู่การล่าอาณานิคม และเราได้เริ่มเห็นอังกฤษมาแสดงอิทธิพลต่อไทย โดยเฉพาะการส่งจอห์น เบาว์ริง ไปยังบริติชฮ่องกง และสยามในเวลาต่อมา ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นผลพวงจากเครื่องจักรไอน้ำ ที่ทำให้เรือรบของอังกฤษมีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech