ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“เทคโนโลยี” กุญแจรังสรรค์ “สิ่งประดิษฐ์” ให้กลายเป็นจริง


วันสำคัญ

18 ต.ค. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“เทคโนโลยี” กุญแจรังสรรค์ “สิ่งประดิษฐ์” ให้กลายเป็นจริง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/432

“เทคโนโลยี” กุญแจรังสรรค์ “สิ่งประดิษฐ์” ให้กลายเป็นจริง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันที่ 19 ตุลาคม 2567 เป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญ เนื่องจากวันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี ตรงกับ “วันเทคโนโลยีของไทย” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” หลังทรงพระกรุณาบัญชาการปฏิบัติการทำฝนสาธิตด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2515

Thai PBS Sci & Tech ขอพาไปรู้จักความสำคัญของ “วันเทคโนโลยีของไทย” และความสำคัญของ “เทคโนโลยี” ซึ่งเป็นกุญแจรังสรรค์ “สิ่งประดิษฐ์” ที่มนุษย์คิดค้นให้กลายเป็นจริง อย่างเช่น การนำเทคโนโลยีสังเคราะห์เสียงจากข้อความ (Text to Speech) สำหรับให้บริการ “อ่านข่าวให้ฟัง” ของทาง Thai PBS เป็นต้น

จุดเริ่มต้น “วันเทคโนโลยีของไทย”

เหตุผลที่กำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย” เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2515 หรือเมื่อ 51 ปีที่แล้ว ด้วยพระปรีชาสามารถในการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนหวังผล ให้ตกในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศสิงคโปร์ที่กำลังประสบภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงเช่นเดียวกับสภาวะแห้งแล้งในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ในขณะนั้น ขอส่งนักวิทยาศาสตร์มาสังเกตการณ์และขอรับถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญใน การปฏิบัติการทำฝนหวังผลในประเทศไทย ในการนี้ทรงพระกรุณารับบัญชาการปฏิบัติการสาธิตด้วยพระองค์เอง ทรงกำหนดให้อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ผิวน้ำเพียง 46.5 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,162.5 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมายหวังผลในการปฏิบัติการทำฝนสาธิตครั้งนี้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยปฏิบัติการค้นคว้าทดลองและปฏิบัติการทำฝนหวังผลที่ผ่านมา

โดยทรงปฏิบัติการฯ สาธิต ในวันที่ 19 ตุลาคม 2515 ณ ศูนย์บัญชาการฯ สันเขื่อนแก่งกระจาน ทรงสามารถบังคับหรือชักนำฝนให้ตกลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจานอย่างแม่นยำภายในเวลาประมาณ 5 ชั่วโมงนับจากเริ่มปฏิบัติการ เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตานักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์

สำหรับการ “สาธิตฝนเทียม” ครั้งดังกล่าว ถือเป็น “ต้นกำเนิดเทคโนโลยีฝนหลวง” ที่พัฒนาเป็นการทำฝนเทียมมาถึงปัจจุบัน และเพื่อจารึกไว้เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย ในวันที่ 12 ธันวาคม 2543 คณะรัฐบาลจึงมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็น “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันเทคโนโลยีของไทย”

เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด โดยได้ทรงศึกษาค้นคว้าวิจัย และทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ตลอดจนเป็นการแสดงเทคโนโลยีที่คิดค้นประดิษฐ์และพัฒนาโดยคนไทย และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้สาธารณชนเกิดความเชื่อมั่นและเข้าร่วมพัฒนาเทคโนโลยีของไทย

พระปรีชาของพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย

โดยนอกจาก “โครงการฝนหลวง” แล้ว พระองค์ยังทรงเป็นนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ ดังจะเห็นได้จากโครงการในพระราชดำริ และที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ หลายด้าน อาทิ

     - กังหันน้ำชัยพัฒนา : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงประดิษฐ์คิดค้น “เครื่องกลเติมอากาศที่ผิวน้ำหมุนช้าแบบทุ่นลอย” หรือ “กังหันชัยพัฒนา” เพื่อทำหน้าที่เติมออกซิเจนลงไปในน้ำ เป็นการลดมลภาวะทางน้ำ ถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการออกสิทธิบัตรแก่สิ่งประดิษฐ์ของไทย

     - การออกแบบสายอากาศ (Antenna) : ใช้กับวิทยุสื่อสารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

     - ทฤษฎีใหม่ : เป็นการบริหารจัดการที่ดินเพื่อเกษตรกร ให้มีสภาพการใช้งานที่สร้างความยั่งยืนมากกว่าการทำการเกษตร โดยไม่มีการแบ่งส่วนของที่ดิน เพื่อใช้ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำ และเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ควบคู่ไปกับการเพาะปลูก เป็นต้น ฯลฯ

     - โครงการแกล้งดิน : ดินพรุเป็นดินเปรี้ยวจัด ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ จึงมีพระราชดำริว่า ควรแกล้งทำให้ดินเปรี้ยวจนถึงที่สุด แล้วทำ “วิศวกรรมย้อนรอย” หาทางปรับปรุงดินที่เปรี้ยวนั้น เพื่อจะได้รู้วิธีแก้ไข และป้องกันไม่ให้เกิดสภาพเปรี้ยวแบบที่เคยเป็น จากนั้นจึงมีการปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีการต่าง ๆ จนทำให้พื้นดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถทำอะไรได้ กลับฟื้นคืนสภาพที่สามารถทำการเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง

จากความสำคัญของ “วันเทคโนโลยีของไทย” สู่ความสำคัญของ “เทคโนโลยี”

สำหรับคำว่า “เทคโนโลยี” (Technology) คือสิ่งที่มนุษย์พัฒนาขึ้น เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ เช่น อุปกรณ์, เครื่องมือ, เครื่องจักร, วัสดุ หรือแม้กระทั่งที่ไม่ได้เป็นสิ่งของที่จับต้องได้ เช่น กระบวนการต่าง ๆ เทคโนโลยี ซึ่งเป็นการประยุกต์นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ และก่อให้เกิดประโยชน์ ในทางปฏิบัติแก่มวลมนุษย์ กล่าวคือ “เทคโนโลยี” เป็นการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยข้อแตกต่างอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์ก็คือ เทคโนโลยีจะขึ้นอยู่กับปัจจัย ทางเศรษฐกิจเป็นสินค้ามีการซื้อขาย ส่วนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เป็นสมบัติส่วนรวมของมนุษยชาติมีการเผยแพร่โดยไม่มีการซื้อขายแต่อย่างใด สรุปโดยง่ายก็คือ “เทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดขึ้นโดยมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นฐานรองรับ”

ปัจจุบันทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เข้ามามีเข้ามามีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมามากมาย ทั้งเพื่อการเรียนรู้, ผลิต ตลอดจนการใช้ประโยชน์จากไอเดียใหม่ ๆ ทำให้เกิดผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ, สังคม, การเมือง, สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยการเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้สังคมมนุษย์เติบโตเป็นสังคมที่ดำรงชีวิตอย่างสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยพรมแดนไม่สามารถขวางกั้นเทคโนโลยีในการเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลกได้

📌อ่าน รู้ไหม ? “นวัตกรรม” กับ “เทคโนโลยี” แตกต่างกันอย่างไร 

ประโยชน์ของ “เทคโนโลยี”

จากความจำเป็นของมนุษย์ในยุคแรกทำให้เกิดเทคโนโลยี เมื่อเวลาผ่านไปเทคโนโลยีได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต จนกระทั่งปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความสะดวกและสนองความต้องการของมนุษย์มากขึ้น ดังสรุปได้ดังนี้

     1. ช่วยในการแก้ไขปัญหาหรือสนองความต้องการของมนุษย์ เช่น การนำสิ่งของกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) หรือแปรรูปแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) เช่น การนำ “เทคโนโลยีฝนหลวง” มาช่วยแก้ปัญหาภัยแล้ง การใช้ “กังหันชัยพัฒนา” แก้ปัญหาน้ำเสีย เป็นต้น

     2. ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานของมนุษย์ช่วยให้มนุษย์ทำงานได้เร็วขึ้น (better) รวดเร็วขึ้น (faster) และมีค่าใช้จ่ายถูกลง (cheaper) เช่น การใช้เครื่องคิดเลข การใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษาสิ่งมีชีวิต เล็ก ๆ เป็นต้น

Text to speech.png

“ไทยพีบีเอส” นำเทคโนโลยีเพิ่มขีดความสามารถการทำงาน ด้วยบริการ “Text to Speech”

ในปัจจุบันมีหลายองค์กรได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ อย่างเช่น องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย “ส.ส.ท.” หรือ Thai PBS ได้มีการเปิดตัวบริการ “อ่านข่าวให้ฟัง” ผ่านช่องทางเว็บไซต์ www.thaipbs.or.th ด้วยการนำ “เทคโนโลยีสังเคราะห์เสียงจากข้อความ” (Text to Speech) มาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีด้านการประมวลผลภาษาขั้นสูง (Language Processing Technology)

โดย “เทคโนโลยีสังเคราะห์เสียงจากข้อความ” (Text to Speech) เป็นการสร้างเสียงจากข้อความได้ตามความต้องการ จึงสามารถช่วยประชาสัมพันธ์และการกระจายข่าวสารได้อย่างรวดเร็วผ่านเสียง สามารถทลายขีดจำกัดการเข้าถึงข่าวสารผ่านหน้าจอหรือวิดีโอได้ และเมื่อนำมารวมกับเทคโนโลยีด้านการประมวลผลภาษาขั้นสูง (Language Processing Technology) ที่สามารถทำให้เสียงพูดมีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มากที่สุด นอกจากนั้นยังเสริมอัตลักษณ์ของบริการนี้ด้วยการนำเสียงของคุณณัฏฐา โกมลวาทิน และคุณเจษฎา จี้สละ ผู้ประกาศข่าวทางหน้าจอโทรทัศน์มาใช้ เพื่อสร้างอรรถรสให้ผู้ฟังได้รับความคุ้นชิน เสมือนกับการฟังข่าวจากโทรทัศน์

Text to Speech คือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้การรับข่าวสารแก่สาธารณชนไม่จำกัดแค่เพียงการใช้สายตาในการอ่านหรือชมวิดีโอ แต่ยังสามารถรับรู้ด้วยการฟัง เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคของการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และเพื่ออำนวยความสะดวก สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงกลุ่มเปราะบางในสังคม เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส

และในอนาคตสามารถพัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารผ่านเสียงไปยังสถานีวิทยุเครือข่าย เช่น วิทยุท้องถิ่น เพื่อนำข้อความเสียงสังเคราะห์นี้ไปเผยแพร่ได้เอง การจัดหน้าเพลย์ลิสต์เพื่อให้ทันกระแส ณ เวลานั้น ๆ รวมไปถึงการเพิ่มเสียงของบริการ “อ่านข่าวให้ฟัง” ด้วยเสียงของผู้ประกาศข่าวท่านอื่น ๆ  เพื่อให้เกิดความหลายหลายและเพิ่มอรรถรสในการรับฟังข่าวในแต่ละหัวข้อบริการ “อ่านข่าวให้ฟัง” สามารถรับฟังได้ผ่านทาง www.thaipbs.or.th ทั้งทางเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน Thai PBS ที่รองรับทั้งระบบ iOS และ Android รวมไปถึงอุปกรณ์สมาร์ทโฮมอัจฉริยะ Alexa

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS 

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, มูลนิธิชัยพัฒนา, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันเทคโนโลยีของไทยพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทยเทคโนโลยีTechnologyฝนหลวงโครงการฝนหลวงฝนเทียมThai PBSThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech วันสำคัญThai PBS On This Day
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด