ฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังสร้างผลกระทบให้กับคนไทยในขณะนี้ หนึ่งในสาเหตุก็คือการเผาตอซังและฟางข้าวของชาวนา เพื่อสร้างความเข้าใจแล้วช่วยกันจัดการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำคอนเทนต์นี้มาให้ได้ทราบกัน
สำหรับเรื่องนี้ ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความรู้ผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ด้วย 5 ข้อดังนี้
1. ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ที่ทำนาข้าวประมาณ 72.5 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 20 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนล่าง และภาคกลาง สามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 22 - 24 ล้านตันต่อปี มีฟางข้าวเฉลี่ยประมาณปีละ 25.45 ล้านตัน และมีปริมาณตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าว 16.9 ล้านตันต่อปี ชาวนาส่วนใหญ่ทำการเผาเกิดฝุ่นควันและปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีโครงการรณรงค์ให้เกษตรกรทำการไถ กลบตอซังฟางลงในดินที่เตรียมเพาะปลูกใหม่แทนการเผาซึ่งจะเกิดการย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช แต่ก็ไม่ค่อยได้ผล
2. ช่วงเวลาที่เกษตรกรเผาฟางข้าวจะเริ่ม หลังจากทำการเก็บเกี่ยวข้าวคือช่วงกลางถึงปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไปและเริ่มการไถพรวนดินในเดือนเมษายน ต่อจากนั้นจะหว่านข้าวก่อนสงกรานต์ เมื่อเข้าสู่ฤดูทำให้ต้นข้าวงอกใหม่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปและจะเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนธันวาคมไปจนถึงต้นเดือนมกราคม
3. ทำไมชาวนาจึงเผาตอซังและฟางข้าว ?
3.1. ชาวนา 80% ไม่ได้มีนาเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่เช่าที่ดินเพื่อทำนาชาวนาในพื้นที่ชนบทยากจนมากจึงไม่มีเงินพอที่จะจ้างรถไถกลบ การเผาจะประหยัดกว่าการจ้างรถไถมาไถกลบหรือทำการไถกลบเอง
3.2. ความเห็นของชาวนาคือ
- หากเป็นนาหว่าน ต้นข้าวจะหนามากและมีหญ้าขึ้นจำนวนมาก การไถตอซังข้าวและหญ้าจะทำได้ช้าและจะกำจัดซากวัชพืชได้ไม่ค่อยหมด
- หากเป็นการทำนาปรังซึ่งเป็นการปลูกข้าวต่อเนื่องกัน เช่น 3 ครั้งต่อปี จะทำให้ไม่มีเวลาที่จะให้ตอซังข้าวย่อยสลายได้เอง จึงมีความจำเป็นต้องเผา
- หากเป็นการทำนาแบบนาปี ซึ่งเป็นการทำนาโดยปล่อยน้ำเข้านาจะไม่มีการเผา
- หากเป็นนาหยอดและหญ้าหนาจริง ๆ ก็ต้องเผาเหมือนกันไม่เช่นนั้น เวลาที่หยอดเมล็ดลงไปในหลุมจะเกาะกับดินเป็นก้อน
4. ตั้งแต่ปี 2550 เริ่มมีการเผาตอซังและฟางข้าวจำนวนมาก จนก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันปกคลุมไปทั่วภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ ในปีนี้การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเกิดขึ้นค่อนข้างมาก การทำงานของภาครัฐที่ผ่านมาทำเพียงแค่จัดโครงการรณรงค์ขอความร่วมมือไม่ให้ชาวนาเผาเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 แต่ยังเข้าไม่ถึง ว่าทำไมชาวนาต้องเผา
5. รัฐบาลควรลงไปดูที่ต้นตอของปัญหา รับฟังเสียงและช่วยเหลือชาวนา จัดการแก้ปัญหาในแต่ละกรณีอย่างเป็นรูปธรรม เช่นให้คำแนะนำในการทำนาแบบไม่ต้องเผาในแต่ละรูปแบบของการทำนาโดยที่ชาวนาเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง รวมทั้งมีแนวทางการจัดหารถไถตอซังฟางข้าวให้เช่าในราคาถูกหรือซื้อได้ในราคาถูกจะช่วยได้มากหรือสร้างแรงจูงใจจากภาครัฐหากไม่เผาเช่นจ่ายเงินชดเชยให้ หากภาครัฐไม่ได้รับฟังเสียงจากชาวนาแต่คิดแผนจัดการกันเองและทำเพียงแค่รณรงค์รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น ยิ่งทำให้เกิดการลักลอบเผาโดยที่จับใครไม่ได้ เช่นปัจจุบัน
เปิดเหตุผล ทำไม ? ชาวนาควรไถกลบตอซังและฟางข้าว แทนการเผา
การไถกลบตอซัง คือการไถกลบตอซังข้าวหรือพืชไร่ที่มีอยู่ในไร่นาภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วลงไปในดินระหว่างการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกขณะที่ดินมีความชื้น และปล่อยทิ้งไว้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายในดินซึ่งจะกลายเป็นแหล่งของอินทรียวัตถุและธาตุอาหารพืช แล้วจึงปลูกพืชหลักตามที่ต้องการต่อไป
โดยตอซังข้าวหรือฟางข้าวเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย มีค่าอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนเฉลี่ย 99:1 มีปริมาณธาตุอาหารหลักของพืชได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมเฉลี่ย 0.51, 0.14 และ 1.55 เปอร์เซ็นต์ มีปริมาณธาตุอาหารรองของพืชได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์เฉลี่ย 0.47, 0.25 และ 0.17 เปอร์เซ็นต์
ประโยชน์จากการไถกลบตอซังข้าว
1. ปรับปรุงสมบัติทางกายภาพของดิน
1.1 ทำให้ดินโปร่ง ร่วนซุย ง่ายต่อการเตรียมดิน การปักดำกล้า และทำให้ระบบรากพืชสามารถแพร่กระจายในดินได้มากขึ้น
1.2 การระบายอากาศของดินเพิ่มมากขึ้น
1.3 เพิ่มการซึมผ่านของน้ำ และการอุ้มน้ำของดินให้ดีขึ้น
2. ปรับปรุงสมบัติทางเคมีของดิน
2.1 เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินโดยตรง ถึงแม้ปริมาณธาตุอาหารจะไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี แต่จะมีธาตุอาหารครบถ้วนตามที่พืชต้องการทั้งธาตุอาหารหลัก (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม) ธาตุอาหารรอง (แคลเซียม แมกนีเซียม และกำมะถัน) และจุลธาตุ (เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โบรอน โมลิบดินัม และคลอรีน) และจะค่อย ๆ ปลดปล่อยให้เป็นประโยชน์ต่อพืชในระยะยาว
2.2 ช่วยดูดยึดธาตุอาหารจากการใส่ปุ๋ยเคมีไม่ให้สูญเสียไปจากดินซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี
2.3 ช่วยเพิ่มความต้านทานการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดเป็นด่างของดินทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่รวดเร็วจนเป็นอันตรายต่อพืช
2.4 ช่วยลดความเป็นพิษของเหล็กและแมงกานีสในดิน
2.5 ช่วยลดความเป็นพิษจากดินเค็ม
3. ปรับปรุงสมบัติทางชีวภาพของดิน
3.1 อินทรียวัตถุเป็นแหล่งอาหารและแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ดินมีผลทำให้ปริมาณและกิจกรรมของจุลินทรีย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงธาตุอาหารในดินให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช
3.2 การเพิ่มปริมาณหรือจำนวนของจุลินทรีย์ดินมีผลช่วยลดปริมาณเชื้อสาเหตุโรคพืชบางชนิดในดินลดน้อยลง
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ดร.สนธิ คชวัฒน์, กลุ่มระบบงานวิจัย กองแผนงาน กองแผนงาน ร่วมกับกลุ่มวิจัยและพัฒนาอินทรียวัตถุเพื่อการเกษตรสำนักวิจัยและพัฒนาการจัดการที่ดิน
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech