วันนี้ (21 เม.ย.2568) นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึง สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยช่วงไตรมาสแรก 2568 มีปริมาณ 2.1 ล้านตันข้าวสาร ลดลงประมาณ30% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดย ข้าวขาว15% ลดลงถึง 53% ผลจากอินเดียกลับมาส่งออกอีกครั้ง รวมถึงประเทศนำเข้าหลักอย่าง ฟิลิปปินส์ยังไม่ได้นำเข้าจากที่ปี2567นำเข้าถึง 4 ล้านตัน คาดว่าปีนี้จะเหลือ 1 ล้านตัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
นอกจากนี้ไทยยังต้องแข่งขันกับอินเดียและเวียดนาม ที่มีราคาต่ำกว่าไทยด้วย โดยเฉพาะราคาข้าวอินเดียถูกกว่าไทยกว่า 40 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่งผลให้ให้หลายประเทศสนใจหันไปซื้อแทนไทย ไม่ว่าจะเป็น แอฟริกาใต้ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า แม้ราคาข้าวไทยจูงใจประเทศนำเข้าซื้อเพิ่มก็ตาม แต่อินเดียกับเวียดนามก็ส่งออกได้มากกว่าไทย ปัจจุบันไทยส่งออกได้ 2.1 ล้านตัน อินเดียส่งออกแล้ว 2.4 ล้านตัน คาดว่าปีนี้อินเดียจะส่งได้เกิน 20 ล้านตัน
ส่วน เวียดนามส่งออกแล้ว 2.3 ล้านตัน ดังนั้นมีโอกาสสูงที่ปีนี้เวียดนามจะแซงขึ้นเป็นอันดับสองประเทศผู้ส่งออกข้าวโลก แทนไทยที่อาจตกไปเป็นอันดับสาม

ทิศทางส่งออกข้าวไทยในไตรมาส2/2568 โดยรวมยังเงียบและคาดว่าตัวเลขส่งออกใกล้เคียงไตรมาสแรก สมาคมฯยังคงเป้าหมายส่งออกข้าวทั้งปีนี้ไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ซึ่งจะทบทวนอีกครั้ง ช่วงกลางปี
สำหรับปัจจัยที่ต้องจับตาและมีผลต่อการส่งออกข้าวจากนี้ ได้แก่ 1. สถานการณ์นโยบายปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐ และเงื่อนไขต่างๆที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ 2. ตลาดจีน หลังราคาข้าวขาวไทยลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 400 เหรียญสหรัฐต่อตัน เทียบราคาข้าวในจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 500 เหรียญสหรัฐ เริ่มทำให้จีนเพิ่มนำเข้ามากขึ้น ก็จะทดแทนปริมาณข้าวที่ลดลงได้ แต่ไทยยังต้องแข่งขันด้านราคากับเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน

3. ตลาดสหรัฐฯ ตอนนี้ตื่นตัวเพิ่มนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทย เพื่อซื้อเป็นสต๊อก ตุนไว้ก่อน หลังทรัมป์เลื่อนเก็บภาษีนำเข้าจากไทยอัตราต่างตอบแทนที่ 36 % ไป 90 วัน ซึ่งตอนนี้ไทยถูกเก็บ 10% จึงเป็นสิ่งจูงใจให้ซื้อเพิ่มไว้ก่อน ซึ่งหลังสงกรานต์จะรู้ว่าสหรัฐเพิ่มสั่งซื้ออีกเท่าไหร่ เพราะต้องใช้เวลาเดินทางไปถึงสหรัฐภายใน 1 เดือน
จากที่พูดคุยผู้ส่งออกไปสหรัฐ บอกได้ว่าผู้นำเข้าตอบถามราคามาตลอด 1-2 สัปดาห์นี้จะชัดเจนว่าสหรัฐนำเข้าเพิ่มอีกเท่าไหร่ ซึ่งสหรัฐฯนำเข้าข้าวหอมจากทั่วโลกปีหนึ่งประมาณ 1.3 ล้านตัน ในจำนวนนี้นำเข้าจากไทย 6.3 แสนตัน
นายชูเกียรติ กล่าวอีกว่า ในช่วง 3 เดือนแรกไทยส่งออกไปแล้วกว่า 2 แสนตัน ราคาเฉลี่ย 1,000เหรียญสหรัฐต่อตัน รวมข้าวชนิดอื่นสหรัฐจะนำเข้าจากไทย 8.3 แสนตัน แต่สิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลคือ หากสหรัฐปรับภาษีนำเข้าข้าวไทยเป็น 20-25 % หรือ 36 % ราคาข้าวหอมจะพุ่งถึง 1,200-1,300 เหรียญสหรัฐต่อตัน แข่งขันก็จะยากขึ้น

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ส่งออกไม่ได้กังวลแค่ อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจกาไทยไปสหรัฐเท่านั้น แต่มีประเด็นต้นทุนด้านขนส่งไปสหรัฐ จากกรณีที่ทรัมป์ประกาศจะขึ้นภาษีสินค้าที่ขนส่งทางเรือที่เป็นเรือสร้างในจีนด้วย ที่จะมีผลในเดือนต.ค.นี้ และกระทบไปทั่วโลก เพราะจีนถือเป็นแหล่งต่อเรือขนส่งรายใหญ่มีสัดส่วนถึง 80%
หากมีการบังคับใช้จริงจะมีต้นทุนขนส่งที่เพิ่มขึ้นอีกตันละ 6 เหรียญ ตอนนี้ข้าวหอมมะลิไทยไปสหรัฐ เก็บ 10% ยังขายในราคา 1,000 เหรียญสหรัฐและถ้าบวกขนส่งก็จะเป็น 1,006 เหรียญ หากภาษีนำเข้าเพิ่มอีก ราคาข้าวหอมมะลิไทยจะแพงมาก แข่งขันยาก ซึ่งทรัมป์2.0 การค้าและการส่งออกทั่วโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอีกมาก เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมรับมือ ทั้งรัฐบาลและเอกชน
อ่านข่าว:
พิษ “ภาษีทรัมป์” สะเทือนส่งมอบสินค้าสะดุด บิ๊กเอกชน ชี้ ฉุดส่งออกไทย 2 เดือนชะลอ
"สงครามการค้า" ทรัมป์ ขยี้ตลาดเงิน-ทองคำ-หุ้น สะเทือนลงทุนโลก
ส่งออก "ข้าวหอมมะลิไทย" สะเทือน สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 37%