ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เฉลยแล้ว ! คลิปวิดีโอยิงโดรนปริศนาที่แท้ตัดต่อ


Verify

6 ม.ค. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

เฉลยแล้ว ! คลิปวิดีโอยิงโดรนปริศนาที่แท้ตัดต่อ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2129

เฉลยแล้ว ! คลิปวิดีโอยิงโดรนปริศนาที่แท้ตัดต่อ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ท่ามกลางกระแสความกังวลเกี่ยวกับโดรนปริศนาในหลายพื้นที่ของสหรัฐฯ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คลิปวิดีโอฉบับหนึ่งซึ่งเผยให้เห็นคนยิงปืนใส่โดรนในช่วงเวลากลางคืน โดยอ้างว่าเป็นเหตุการณ์ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ คำกล่าวอ้างนี้เป็นเท็จ วิดีโอดังกล่าวถูกตัดต่อ โดยเจ้าของวิดีโอได้ยืนยันกับ AFP ว่าเขาเป็นคนถ่ายคลิปต้นฉบับและตัดต่อวิดีโอเอง เนื่องจากไม่พอใจที่รัฐนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

"ผู้ชายกำลังยิงที่ "DRONE" UAP JOOO ทำไมพวกเขายังไม่เปิดเผยตัวตนกับมนุษย์นี้เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง" ข้อความในวิดีโอติ๊กตอกที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ระบุ

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกภาพเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2567

วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวซึ่งมียอดรับชมมากกว่า 145,000 ครั้ง แสดงการเล็งและยิงปืนใส่โดรนที่กำลังบินอยู่ในน่านฟ้าเหนือต้นไม้ สายโทรศัพท์ และบ้านเรือนในช่วงกลางคืน

คำกล่าวอ้างคล้าย ๆ กันถูกแชร์ในโพสต์ภาษาไทย ญี่ปุ่น และอังกฤษ โดยบางโพสต์อ้างว่าเป็นวิดีโอที่ตำรวจรัฐนิวเจอร์ซีย์พยายามยิงใส่โดรน

หนังสือพิมพ์เดลีเมลเผยแพร่วิดีโอนี้ในรายงานข่าว รวมถึงโจ โรแกน นักจัดพอดแคสต์ยอดนิยมในสหรัฐฯ ก็กล่าวถึงวิดีโอนี้ในรายการเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567

"คุณเห็นวิดีโอนั้นหรือยัง ดูเหมือนตำรวจกำลังใช้ปืนยิงพวกมันในนิวเจอร์ซีย์" โรแกนถามแขกรับเชิญ ก่อนที่เขาจะตอบว่าวิดีโออาจจะเป็นของปลอม

คลิปวิดีโอนี้ถูกแชร์อย่างกว้างขวางในช่วงที่มีรายงานและวิดีโอที่แสดงวัตถุบินได้ปริศนาบินอยู่เหนือน่านฟ้านิวเจอร์ซีย์และในรัฐอื่น ๆ ซึ่งสร้างความหวาดวิตกในหมู่ประชาชน

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โยงเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นความพยายามปกปิดอะไรบางอย่างของรัฐบาล พร้อมเรียกร้องให้ยิงกำจัดโดรนทิ้ง ขณะที่ทางด้านหน่วยงานรัฐอื่น ๆ กล่าวว่าโดรนที่พบในบริเวณตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไม่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือความปลอดภัยของประชาชน

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม องค์การบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ ออกประกาศให้หลายพื้นที่สำคัญของนิวเจอร์ซีย์เป็นเขตห้ามบินโดรนชั่วคราว ยกเว้นกรณีเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ การบังคับใช้กฎหมาย และการตอบสนองต่อภัยพิบัติ

อย่างไรก็ตาม คลิปดังกล่าวเป็นคลิปที่ถูกตัดต่อ

ตัดต่อปืนและวิถีกระสุน

การค้นหาภาพย้อนหลังบนกูเกิลพบคลิปวิดีโอที่ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567 บนยูทูบและ X ซึ่งแสดงภาพของโดรนที่กำลังบินในท้องฟ้าโดยไม่มีภาพของกระสุนปืน (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)
 

วิดีโอดังกล่าวเป็นของโรเบิร์ต เอิร์ล ไวต์ ที่นิยามตัวเองว่าเป็น "นักล่าโดรน" และเป็นเจ้าของช่องยูทูบที่เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับยูเอฟโอและสิ่งมีชีวิตนอกโลก

ข้อความระบุว่าคลิปวิดีโอนี้ถูกบันทึกเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ในเมืองบริดจ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ และเป็นวิดีโอที่ได้รับ "การปรับคุณภาพ"

AFP สามารถยืนยันได้ว่าวิดีโอนี้ถูกบันทึกที่บริเวณถนนเคาน์ตี เมืองบริดจ์ตัน (ลิงก์บันทึก)

ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอต้นฉบับ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกัน (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพถ่ายหน้าจอของ Google Maps Street View (ขวา)
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอต้นฉบับ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบภาพที่สอดคล้องกัน (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพถ่ายหน้าจอของ Google Maps Street View (ขวา)

AFP ตรวจสอบชุดข้อมูลจากไฟล์ต้นฉบับของไวต์และยืนยันได้ว่าฟุตเทจนี้บันทึกในคืนของวันที่ 4 ธันวาคมจริง

นอกจากนี้ ไวต์ยังแชร์ภาพถ่ายหน้าจอและวิดีโอบันทึกหน้าจอจากไอโฟนของเขา ซึ่งยืนยันได้ว่าจุดที่เขาบันทึกวิดีโอดังกล่าวได้นั้นเป็นพื้นที่บริเวณเดียวกันกับที่ AFP ระบุพิกัดได้บนกูเกิล

ไวต์บอกกับ AFP ผ่านอีเมลว่า "วิดีโอโดรนเป็นของจริงอย่างแน่นอน" รวมถึงเขาได้ส่งวิดีโอนี้ให้กับเอฟบีไอแล้ว แต่วิดีโอที่ปรากฏภาพและเสียงของกระสุนปืนนั้นถูกตัดต่อ และคนตัดต่อวิดีโอคือตัวเขาเอง

เขาแชร์วิดีโอฉบับตัดต่อในโพสต์ X เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่า "ใช่ การยิงปืนในคลิปเป็นของปลอม แต่วิดีโอโดรนที่ผมบันทึกเองนั้นเป็นของจริงแน่นอน" (ลิงก์บันทึก)

ไวต์ระบุว่าเขาดัดแปลงวิดีโอนี้เพื่อแสดง "ตัวอย่างของสิ่งที่อาจเกิดขึ้นถ้าปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไข"

"สาเหตุที่ผมทำวิดีโอนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะกดดันให้รัฐบาลให้จัดการปัญหาก่อนมันลุกลามจนเกินการควบคุม ผมใช้เทคนิคการสร้างภาพด้วยคอมพิวเตอร์ (CGI) เพื่อแสดงให้เห็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้"  ไวต์อธิบาย

"ผมถ่ายวิดีโอโดรนด้วยตัวเอง แล้วก็ซ้อนปืน AK-47 เข้าไปในวิดีโอ รวมถึงแนววิถีกระสุนที่วางตามโดรน"

แต่คลิปของไวต์นั้นถูกนำไปแชร์อย่างกว้างขวางบนโลกออนไลน์โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นวิดีโอตัดต่อ

หลังจากที่คลิปนี้ถูกนำไปเผยแพร่ซ้ำโดยขาดบริบท ไวต์ได้โพสต์ข้อความบน X เพื่ออธิบายว่าเขาเป็นคนที่ตัดต่อใส่กระสุนปืนเข้าไปในวิดีโอเอง และขอให้ผู้ติดตามของเขาอย่ายิงปืนใส่โดรน รวมถึงเผยแพร่วิดีโออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นบนช่องยูทูบเขาด้วย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และนี่)

"มีคนขโมยวิดีโอนี้และนำไปโพสต์ต่อโดยไม่ได้ใส่บริบท" เขาบอกกับ AFP "ผมเห็นช่องต่าง ๆ หลายพันช่องขโมยวิดีโอที่ผมสร้างขึ้นไปเผยแพร่ต่ออย่างขาดบริบทโดยไม่ได้ให้เครดิตผมด้วยซ้ำ"

ไวต์กล่าวว่าโพสต์ที่พยายามชี้แจงข้อเท็จจริงของเขาไม่ได้รับความสนใจเท่ากับโพสต์เท็จต่าง ๆ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นอุทาหรณ์ว่า "ข้อมูลเท็จสามารถแพร่กระจายได้อย่างง่ายดาย" มากแค่ไหน

ไม่พบรายงานการยิงโดรน

การยิงกระสุนใส่โดรนนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระดับสหพันธรัฐซึ่งระบุไว้ว่า ผู้ใดก็ตามที่ "กระทำการยิง ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้เสื่อมสภาพ ทำให้สูญเสียสมรรถนะในการบิน หรือทุบทำลายอากาศยานประเภทใดก็ตาม" ในน่านฟ้าของสหรัฐฯ นั้นอาจต้องโทษปรับและจำคุกสูงสุดถึง 20 ปี

ไมเคิล ไกมารี หัวหน้าหน่วยงานตำรวจเมืองบริดจ์ตัน บอกกับ AFP ผ่านอีเมลเมื่อวันที่ 18 ธันวาคมว่า ทีมของเขาไม่ได้รับรายงานเกี่ยวกับการยิงโดรนตามที่ปรากฏในวิดีโอของไวต์หรือการยิงอากาศยานใด ๆ และไม่พบรายงานว่าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในเมืองจริง อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าพื้นที่ห่างไกลบางส่วนของเมืองบริดจ์ตันอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของตำรวจรัฐนิวเจอร์ซีย์ (ลิงก์บันทึก)

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม สำนักงานเอฟบีไอในเมืองนิวอาร์กและตำรวจรัฐนิวเจอร์ซีย์ได้เผยแพร่แถลงการณ์ร่วม ที่เตือนให้ประชาชนห้ามยิงเลเซอร์หรือ "ใช้อาวุธยิงใส่" อากาศยานที่อาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นโดรน (ลิงก์บันทึก)

AFP ได้ติดต่อสำนักงานตำรวจแห่งรัฐนิวเจอร์ซีย์เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม โดยมอบให้สำนักงานของผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์เป็นหน่วยงานที่ให้ข้อมูล อย่างไรก็ตามคำถามดังกล่าวไม่ได้รับการตอบกลับ

ฟิล เมอร์ฟีย์ ผู้ว่าการรัฐนิวเจอร์ซีย์ ขอประชาชนที่กังวลเรื่องโดรนในน่านฟ้าให้ "ใจเย็นลง" พร้อมกล่าวว่า "ไม่มีหลักฐานว่าเกิดเรื่องร้ายอะไร"

ข้อมูลจาก : AFP

นักวิชาการชี้ ยังไม่ชัดเป็น UAP จริงหรือไม่ ?

รศ.ดร.สิขรินทร์ อยู่คง รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน มหาวิทยาลัยเนศวร ให้ความคิดเห็นถึงคลิปดังกล่าวว่า สำหรับเหตุการณ์ที่ปรากฏในข่าวนั้น พบว่ามีการตัดต่อวิดีโอตอนที่ยิงโดรนเข้าไป อันนี้ยืนยันจากผู้ที่ทำการอัปโหลดคลิป

แต่เจ้าของคลิปนั้นยืนยันว่า เขาเป็นคนถ่ายคลิปนี้ไว้เองจริง ๆ หลังจากนั้นจึงนำมาตัดต่อ คำถามคือ เขาทำไปเพื่ออะไร จากการที่ไปดูประวัติของเขา คุณ White เราจะพบว่า เขาเป็นหนึ่งในคนที่ขับเคลื่อนเรื่องของ UFO และ UAP อย่างต่อเนื่อง (เขามีช่อง Youtube ชื่อว่า Robert Earl White/ Order of light)

สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือ ถึงแม้เขาจะบอกว่า วิดีโอที่ถ่ายโดรนนั้นเป็นของจริง แต่มันไม่ได้มีหลักฐานอะไรยืนยันว่า เจ้าโดรนนั้นจะเป็น UFO หรือ UAP

ด้วยเทคโนโลยีที่เรามีในปัจจุบันนั้น มันไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะสร้างโดรนในลักษณะออกมาดังคลิปวิดีโอ

UAP คืออะไร ?

UAP (Unidentified Aerial Phenomena) หรือในภาษาไทยแปลว่า "ปรากฏการณ์ทางอากาศที่ไม่สามารถระบุได้" เป็นคำศัพท์ที่ใช้ในการอ้างถึงสิ่งที่ถูกพบเห็นในท้องฟ้าหรืออวกาศ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นอะไรอย่างชัดเจน คำนี้เป็นคำที่ใช้แทนคำว่า UFO (Unidentified Flying Object) ในวงการวิทยาศาสตร์และหน่วยงานของรัฐ เพื่อเน้นความเป็นกลางและหลีกเลี่ยงการเชื่อมโยงกับเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาวโดยตรง

UAP มีความหมายครอบคลุมมากกว่า UFO เพราะไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะวัตถุที่บินได้เท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงปรากฏการณ์แปลก ๆ อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศหรืออวกาศ เช่น แสงที่เคลื่อนที่ผิดปกติ , วัตถุที่เรดาร์จับได้แต่ไม่มีคำอธิบาย , หรือแม้แต่คลื่นพลังงานที่ไม่ทราบที่มา

สาเหตุที่นำคำว่า UAP มาใช้

1. ความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น: คำว่า UFO มักถูกเชื่อมโยงกับนิยายวิทยาศาสตร์หรือทฤษฎีสมคบคิด ทำให้ UAP ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยลดอคติและทำให้การศึกษาปรากฏการณ์เหล่านี้ดูจริงจังและน่าเชื่อถือขึ้น

2. การเปิดเผยข้อมูล: หน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Pentagon) ได้เริ่มเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ UAP เพื่อยืนยันว่าปรากฏการณ์เหล่านี้มีอยู่จริง และสมควรถูกศึกษาในเชิงวิทยาศาสตร์

ความสำคัญของการศึกษา UAP

• เพื่อเข้าใจและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์หรือเทคโนโลยีที่อาจเกี่ยวข้อง
• เพื่อประเมินภัยคุกคามต่อความมั่นคงในกรณีที่ UAP เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจากประเทศอื่น
• เพื่อสำรวจโอกาสที่ปรากฏการณ์เหล่านี้อาจมาจากแหล่งกำเนิดที่ไม่ธรรมดา เช่น อารยธรรมจากนอกโลก (หากมีหลักฐานที่เพียงพอ)

ดังนั้น UAP ไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาวเสมอไป แต่เป็นคำที่ใช้เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ที่ยังไม่มีคำอธิบายอย่างรอบคอบและเป็นระบบ

จากนิยามข้างต้น ผมให้ความเห็นว่า “โดรน” ในคลิปดังกล่าวนั้นน่าไม่ใช่ UAP หรือ UFO แต่น่าจะเป็น โดรน ที่ถูกตกแต่งขึ้นมามากกว่า

ปรากฏการณ์ UAP ในต่างประเทศและไทย

ทั้งนี้มีปรากฏการณ์ที่อ้างว่าเป็น UAP คล้าย ๆ กัน แต่ต่างประเทศจะพบเยอะกว่า สำหรับประเทศไทยที่เป็นข่าวล่าสุดนั้น น่าจะเป็นเรื่องแสงประหลาดเหนือท้องฟ้าภาคเหนือ ที่เป็นดวงไฟเรียงเป็นแถว ซึ่งปรากฏว่าเป็นกลุ่มของดาวเทียม starlink เป็นฝูงดาวเทียมเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตของ SpaceX เป็นต้น

แต่หากจะพูดเจาะลงไปว่า เจอ UFO เลยมั้ย คือ ในต่างประเทศและประเทศไทยก็มีรายงานว่า มีวัตถุประหลาดที่มีความสามารถบินด้วยความเร็วสูง หรือ อย่างกรณีที่ดังมากคือ เหตุการณ์ Roswell (1947) รายงานระบุว่ามีวัตถุที่คล้าย "จานบิน" ตกลงในเมืองโรสเวลล์ รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐฯ หน่วยงานทหารในตอนนั้นกล่าวว่า เป็นบอลลูนตรวจอากาศ แต่ความคลุมเครือของเหตุการณ์ทำให้ยังเป็นที่ถกเถียงจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ประเทศไทย ยังไม่มีรายงานว่ามีจานบินตกที่ไหน แต่มีการรายงานว่า มีการพบเจอ โดยเฉพาะที่ "เขากะลา" แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่า วัตถุประหลาดเหล่านั้นเป็น UFO จริง ๆ

แผนที่เขากะลา

แท็กที่เกี่ยวข้อง

มนุษย์ต่างดาวยูเอฟโอยูเอพีUFOUAPจานบินคลิปตัดต่อ
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด