ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยาน Parker Solar Probe ทำสถิติเข้าใกล้ “ดวงอาทิตย์” มากสุด


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

6 ม.ค. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ยาน Parker Solar Probe ทำสถิติเข้าใกล้ “ดวงอาทิตย์” มากสุด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2126

ยาน Parker Solar Probe ทำสถิติเข้าใกล้ “ดวงอาทิตย์” มากสุด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อวันคริสต์มาสอีฟที่ผ่านมา (24 ธันวาคม ค.ศ. 2024) ยาน “พาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ” (Parker Solar Probe) ยานสำรวจดวงอาทิตย์ของนาซา(NASA) ได้ทำสถิติเป็นยานอวกาศที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในประวัติศาสตร์ และได้ฝ่าชั้น “โคโรนา” บรรยากาศที่ร้อนที่สุดของดวงอาทิตย์ออกมาได้สำเร็จ ซึ่งข้อมูลที่ได้จะช่วยให้นักดาราศาสตร์ เข้าใจคุณสมบัติของชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ได้มากยิ่งขึ้น

การเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ของยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบครั้งนี้ เป็นการเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งที่ 22 ของยานลำนี้ โดยเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 2024 เวลา 18.53 น. (ตามเวลาประเทศไทย) ที่ระยะห่าง 6.1 ล้านกิโลเมตร และจะเฉียดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์อีก 2 ครั้งในเดือนมีนาคม และมิถุนายน ค.ศ. 2025

สำหรับการเฉียดเข้าใกล้ครั้งที่ผ่านมานี้ ซึ่งเป็นครั้งที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด สัญญาณติดต่อจากยานได้มีช่วงที่ขาดหายไป ก่อนที่ตัวยานจะติดต่อกลับมายังศูนย์ควบคุมบนโลกได้อีกครั้ง ในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 2024 ยืนยันว่าตัวยานอยู่รอดและสามารถกลับมาปฏิบัติภารกิจต่อ

ยาน Parker Solar Probe เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ภาพจาก NASA

นอกจากสถิติที่ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดแล้ว ยานลำนี้ยังครองสถิติเป็นสิ่งประดิษฐ์โดยมนุษย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้เร็วที่สุด อัตราเร็วสูงสุดครั้งก่อนหน้านี้อยู่ที่ 635,266 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ณ วันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 2023 ก่อนที่ยานจะทำลายสถิติตัวเองด้วยอัตราเร็ว 692,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระหว่างการเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์ในวันคริสต์มาสอีฟที่ผ่านมานี้ ซึ่งเร็วกว่าเครื่องบินรบบนโลกถึง 300 เท่า

อัตราเร็วของยานที่สูงระดับนี้ เป็นผลมาจากการที่ยานเฉียดเข้าใกล้ดาวศุกร์ และอาศัยความโน้มถ่วงของดาวศุกร์ช่วงเร่งอัตราเร็ว ที่ผ่านมายานพาร์เกอร์ โซลาร์ โพรบ เฉียดใกล้ดาวศุกร์ถึง 7 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2024

การทำลายสถิติเหล่านี้เป็นเพียงผลพลอยได้จากภารกิจหลักของยานเท่านั้น นั่นคือ การศึกษาชั้นโคโรนาดวงอาทิตย์อย่างละเอียดในแบบที่ไม่เคยมียานลำใดทำได้มาก่อน ซึ่งในขณะที่ยานเก็บข้อมูลนั้น ยานจะต้องเผชิญกับความร้อนสูงถึง 980 องศาเซลเซียส

นักวิทยาศาสตร์ต่างคาดหวังว่า ข้อมูลจากยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจกลไกที่เกิดขึ้นในชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะปริศนาที่เป็นที่ถกเถียงกันมานานในวงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ด้านดวงอาทิตย์ นั่นคือ เหตุใดชั้นโคโรนาซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นนอกสุด แต่กลับร้อนกว่าบรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์ (Photosphere) ที่เป็นเสมือนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ ซึ่งขัดแย้งกับแบบจำลองมาตรฐานของดาวฤกษ์ที่บ่งชี้ว่า ยิ่งเข้าใกล้ใจกลางดาวฤกษ์มากเท่าไหร่ อุณหภูมิก็จะยิ่งสูงขึ้นมากเท่านั้น

ชั้นต่าง ๆ ในโครงสร้างของดวงอาทิตย์ต่างมีลักษณะเป็นไปตามกฎเกณฑ์นี้ ยกเว้นชั้นโคโรนา ที่พบว่าสามารถมีอุณหภูมิได้สูงมากถึง 1.1 ล้านองศาเซลเซียส ในขณะที่บรรยากาศชั้นโฟโตสเฟียร์ ที่เป็นเสมือนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ มีอุณหภูมิอยู่ที่ราว 5,500 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์จึงคาดว่าน่าจะมี “กลไกพิเศษ” บางอย่างที่ทำให้ชั้นโคโรนาร้อนขึ้นได้มากขนาดนี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างคาดหวังว่า ยานพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบ อาจช่วยไขปริศนานี้ได้ในไม่ช้า


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : space, NASA ,พิสิฏฐ นิธิยานันท์ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Parker Solar Probeพาร์กเกอร์ โซลาร์ โพรบดวงอาทิตย์ยานสำรวจดวงอาทิตย์สำรวจดวงอาทิตย์เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ยานอวกาศองค์การนาซานาซาNASAอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด