รายการสถานีประชาชน ทางสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ล่าสุดได้จัดเสวนา ANTI CYBER Mission ปฏิบัติการต้านภัยไซเบอร์ ที่ได้เชิญหน่วยงานหลายหน่วยงาน ทั้ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล , กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ และ ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) มาพูดคุยถึงภัยออนไลน์หลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน ซึ่ง Thai PBS Verify ได้สรุปการเสวนาดังกล่าวมาให้ได้เข้าใจกันง่าย ๆ ดังนี้
มุมมองของมิจฉาชีพต่อเหยื่อ

พล.ต.ต. ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ออกมาระบุถึงแนวคิดของแก๊งคอลเซนเตอร์ หลังจับกุมได้ พร้อมกับนำตัวมาสอบปากคำ ซึ่งพบว่า ขบวนการเหล่านี้ไร้สำนึก ไม่คิดว่าตัวเองผิด และมองว่าตนเองไม่มาหลอก คนอื่นก็จะลงมือหลอกคนเหล่านี้อยู่ดี
กลุ่มคนเหล่านี้มองเหยื่อที่โอนเงินเป็นเพราะว่า "โง่เอง"
สาเหตุที่ประชาชนยังถูกหลอกอยู่ในปัจจุบัน

พล.ต.ต. นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) ระบุว่า สาเหตุแรกคือเรื่องของการที่ประชาชนยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้พบว่าผู้เสียหายส่วนใหญ่ยังไม่ทราบข้อมูลสายด่วน 1441 One Stop Service ของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC) หรือ ศูนย์ AOC ทำให้เห็นว่า ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารในจุดนี้มีจำกัด

ส่วนสาเหตุที่สองคือ รูปแบบที่คนร้ายใช้ในการเจาะใจเหยื่อ หลัก ๆ ยังคือเรื่องของจิตวิทยา เช่น ซื้อของราคาถูก แต่ในช่วงที่ซื้อและยังไม่ได้ของ กลับมีรางวัลที่มีมูลค่ามาล่อลวง ทำให้เหยื่อหลงเชื่อโอนเงินไปให้ และอาจถูกหลอกซ้ำว่าเงินที่โอนไปเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน โดยใช้เรื่องของความกลัวเข้ามาลวงเหยื่อ

สิ่งสำคัญที่คนร้ายใช้คือการใช้ปลาเล็กล่อปลาใหญ่ ส่วนสาเหตุที่ทำไมคนถึงได้เชื่อนั้น เพราะเมื่อโอนเงินไปแล้วได้อะไรกลับมาจริง และอีกรูปแบบคือแพลตฟอร์มปลอม ที่เมื่อเข้าไปแล้วจะเห็นตัวเลขกำไร ซึ่งทำให้เกิดความโลภ และพยายามทำให้ได้ตามเงื่อนไขด้วยการโอนเงินเข้าไปเพิ่ม โดยหลังจากถูกหลอกไปแล้ว คนร้ายก็ยังใช้การหลอกว่าจะได้เงินคืน หากติดต่อไปตามช่องทางที่โฆษณา ซึ่งถือเป็นการหลอกลวงที่ซับซ้อนและต่อเนื่อง
ผู้ที่เป็นผู้เสียหาย มักไม่เข้าใจว่าตนเองกำลังคุยกับ อวตาร ซึ่งไม่มีตัวตน และเป็นใครก็ได้
ทั้งนี้มีหลักการเดียวที่ประชาชนควรยึดถือคือ คนที่เจอในโลกออนไลน์ ห้ามมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้ามีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้ระวังไว้ว่านั่นคือมิจฉาชีพ และตัดความสัมพันธ์ทันที
จดจำคำเหล่านี้ไว้หากไม่อยากตกเป็นเหยื่อ
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จึงได้พัฒนาให้เกิดความจำในการป้องกันการตกเป็นเหยื่อด้วยการคิดคำพูด เช่น ทำอย่างไรเวลาที่คนโทรมา เราถึงจะรับมือกับมิจฉาชีพพวกนี้ได้ ด้วยการแนะนำว่า
1. หากเราไม่รู้จักไม่ต้องรับสาย โทรกลับปลอดภัยกว่า
2. ไม่รู้จักชื่ออย่ารับไลน์
3. จะโอนเงินรู้จักชื่อของผู้เป็นเจ้าของบัญชีปลายทางหรือไม่ ถ้าชื่อปลายทางไม่ตรงกันให้โทรไปติดต่อก่อนโอน
คีย์เวิร์ดเหล่านี้ถือเป็นคำง่าย ๆ ที่ประชาชนสามารถจดจำง่าย และจะช่วยแก้ปัญหาแก๊งคอลเซนเตอร์ไปได้เยอะ เพราะแก๊งคอลเซนเตอร์ก็จะไม่มีผู้รับสายไปในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นคีย์เวิร์ดหลัก ๆ เพื่อให้ประชาชนนำไปรับมือ ซึ่งจะต้องพยายามทำให้เป็นคู่มือง่าย ๆ ให้ถึงประชาชนทั่วประเทศ
เตรียมออกกม.ให้ ธนาคาร-ผู้ให้บริการมือถือ รับผิดชอบ

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดนำโมเดลของสิงคโปร์มาออกกฎหมายในอนาคตอีกด้วย
ปัจจุบันคณะกรรมาธิการได้ศึกษาเพื่อจะออกกฎหมายในการบังคับให้ค่ายมือถือและธนาคารต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น หากไม่ทำตามเงื่อนไขขั้นต่ำที่ได้กำหนดเอาไว้
รวมถึงเงินของผู้เสียหายที่ถูกอายัดไว้ในธนาคาร จะถูกนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้มีการยกร่างขึ้นมาพิจารณา และเสนอรัฐบาลเพื่อออกเป็นพระราชกำหนดฉบับที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น