ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

แก้ปัญหาไข้เลือดออก จีนปล่อย “ยุงเป็นหมัน” หวังหยุดยุงลายแพร่พันธุ์


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

2 ธ.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

แก้ปัญหาไข้เลือดออก จีนปล่อย “ยุงเป็นหมัน” หวังหยุดยุงลายแพร่พันธุ์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1983

แก้ปัญหาไข้เลือดออก จีนปล่อย “ยุงเป็นหมัน” หวังหยุดยุงลายแพร่พันธุ์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ไม่ต้องพ่นยาฆ่ายุง ! ณ นครกว่างโจว มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ประเทศจีน เมื่อ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการใช้มาตรการใหม่ในการป้องกันโรค “ไข้เลือดออก” ด้วยการปล่อย “ยุงตัวผู้” ที่เป็นหมันจำนวนหลายล้านตัว

“ยุง” ที่ใช้ในวิธีการควบคุมทางชีวภาพนี้เป็น “ยุงลายสวน” (Aedes albopictus) เพศผู้ ที่ติดเชื้อวูลบัคเคีย (Wolbachia) เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้ยุงเป็นหมัน ซึ่งถูกปล่อยระหว่างเดือนเมษายน-พฤศจิกายนทุก ๆ ปี ในหมู่บ้านเสียสือ สถานที่ทดลองแห่งแรก

อนึ่ง กว่างโจว ตั้งอยู่ในเขตกึ่งร้อนชื้นและมีอากาศร้อนชื้นเป็นเวลานาน ส่งผลให้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก โดยปีนี้กว่างโจวเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงในวันที่ 18 พ.ย. 67 ซึ่งถือเป็นการปิดฉากฤดูร้อนที่ยาวนานถึง 240 วัน

ยุงลายบ้าน

เฉียนเหว่ย นักวิจัยจากทีมวิจัยของจีนซึ่งริเริ่มการใช้ยุงดังกล่าวมาควบคุมประชากรยุง อธิบายว่าโรคไข้เลือดออกติดต่อได้จากการถูกยุงลายบ้าน (Aedes mosquito) กัดเป็นหลัก ซึ่งวิธีการฆ่าเชื้อแบบดั้งเดิมจะมุ่งเป้าไปที่ยุงตัวเต็มวัย ตัวอ่อน และดักแด้ ขณะที่ไข่ของยุงอาจสามารถคงอยู่ในสภาพเดิมในแหล่งเพาะพันธุ์ได้เป็นเวลานาน และทำให้กำจัดได้ยาก

ยุงลายสวนตัวผู้ที่มีเชื้อวูลบัคเคียและถูกทำให้เป็นหมันโดยทีมงานของเฉียนนั้นถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากและผ่านการคัดกรองในโรงงานดัดแปลงพันธุกรรมยุงในเมืองกว่างโจว และเมื่อปล่อยยุงดังกล่าวแล้ว พวกมันจะไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียในป่า ส่งผลให้ไข่ของพวกมันไม่ฟักเป็นตัว

เฉียนระบุว่าเนื่องจากยุงตัวผู้ไม่กัดหรือดูดเลือด จึงสามารถปล่อยไปได้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งวิธีดังกล่าวจะทำให้จำนวนยุงลายบ้านลดลงและป้องกันการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออกได้

ยุงลาย

จูเจี๋ยหย่ง ผู้อำนวยการคณะกรรมการหมู่บ้านเสียสือ เผยว่าหมู่บ้านดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้กับเนินเขาและแม่น้ำ ทำให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะพันธุ์ของยุง ซึ่งส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหลายสิบรายในพื้นที่ดังกล่าวทุกปีในอดีต จนในปี 2018 หมู่บ้านจึงได้เชิญทีมวิจัยของเฉียนเข้ามาทำการทดลองนี้

เฉียนกล่าวว่าทีมวิจัยได้ปล่อยยุงดังกล่าวในหมู่บ้านนี้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ครั้งละราว 1 ล้านตัว โดยทีมวิจัยได้ใช้โดรนในการปล่อยยุงเป็นหลัก พร้อมทั้งวางกับดักยุงและกับดักไข่ลูกน้ำ เพื่อพยายามทำความเข้าใจในโครงสร้างประชากรและติดตามความหนาแน่นของประชากรยุง

ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังได้ติดตามพื้นที่หมู่บ้านโดยรอบและใช้เป็นพื้นที่ควบคุมเพื่อเปรียบเทียบและวิเคราะห์ผลกระทบของการปล่อยยุงที่เป็นหมัน โดยการติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างต่อเนื่องแสดงให้เห็นว่ายุงลายบ้านลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราการควบคุมสูงสุดที่ร้อยละ 98

ยุงลาย

จูระบุว่าตั้งแต่เริ่มดำเนินการทดลอง หมู่บ้านแห่งนี้ไม่จำเป็นต้องจ้างคนมาพ่นยาฆ่าแมลง ทำให้พื้นที่อยู่อาศัยปลอดภัยยิ่งขึ้น ผู้คนมีสุขภาพที่ดีขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาในหมู่บ้านไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเลยแม้แต่รายเดียว

ปัจจุบันหมู่บ้านเสียสือมุ่งเน้นที่การเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ และลดการปล่อยยุงเพศผู้ที่เป็นหมันรายสัปดาห์ลงจากกว่าหนึ่งล้านตัวเหลือราว 3 แสนตัว ซึ่งทีมวิจัยเชื่อว่าการแทรกแซงและการป้องกันล่วงหน้าตามรูปแบบการเติบโตของยุง สามารถตัดวงจรการแพร่เชื้อของโรคไข้เลือดออกและบรรลุผลการควบคุมที่ดีในหมู่บ้านได้


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : english.news, Xinhua

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ยุงยุงลายไข้เลือดออกโรคไข้เลือดออกยุงกัดยุงตัวผู้ยุงลายสวนยุงเป็นหมันAedes albopictusยุงลายแพร่พันธุ์วิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด