ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนจัดในหลายภูมิภาคทั่วโลก ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทยได้แชร์คำแนะนำเท็จที่อ้างว่า การดื่มน้ำเย็นในช่วงอากาศร้อนนั้น "อาจทำให้หลอดเลือดเล็กปริหรือระเบิดได้" ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า แม้การดื่มน้ำเย็นจะส่งผลให้หลอดเลือดหดตัวจริง แต่ไม่ถึงกับทำให้หลอดเลือดระเบิดได้ พร้อมย้ำว่าการดื่มน้ำเย็นไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์
คำบรรยายของโพสต์นี้ทางเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 เขียนว่า: "หมอบอกว่า หากร้อนถึง 40 องศา ไม่ควรดื่มน้ำเย็นต่อไป เพราะหลอดเลือดเล็กอาจปริหรือระเบิดได้"
โพสต์ดังกล่าวยังระบุต่อในช่วงท้ายว่า "ในหน้าร้อนหรือยามคุณอ่อนเพลีย หลีกเลี่ยงดื่มน้ำเย็นทันที เพราะมันจะทำให้หลอดเลือดหดเล็ก แล้วเป็นสโตรก"
คำกล่าวอ้างเหล่านี้ถูกแชร์อย่างแพร่หลายในช่วงอากาศร้อนจัดในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2566 เช่น ที่นี่ และ นี่ และในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2567 ที่นี่ และ นี่
เดือนเมษายน 2567 เป็นช่วงที่ประเทศไทยเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ประชาชนทั่วประเทศเสียชีวิตจากฮีทสโตรกแล้ว 30 ราย
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวกับ AFP ว่า ผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคอ้วน ควรอยู่ในที่ร่มและดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ
นอกจากนี้ คำกล่าวอ้างว่าการดื่มน้ำเย็นช่วงอากาศร้อนจัดจะทำให้หลอดเลือดระเบิดได้นั้นเป็นเท็จ หน่วยงานสาธารณสุขและผู้เชี่ยวชาญได้ปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าว และยืนยันว่าการดื่มน้ำเย็นในช่วงอากาศร้อนจัดนั้นไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกายตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด
"ดื่มน้ำเย็นไม่อันตราย"
"การดื่มน้ำเย็นไม่ได้อันตรายอะไรแบบนั้น" รศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุกับ AFP เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567
"เวลาน้ำเย็นจัดถูกดื่มเข้าไปในร่างกาย ร่างกายคนเราก็จะปรับสภาพน้ำให้เท่ากับอุณหภูมิทันที การดื่มน้ำเย็นจัดจึงไม่สามารถส่งผลร้าย หรือทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้" ดร. เจษฎากล่าวต่อ
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแห่งประเทศไทยรายงานเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้เช่นกันเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2566 โดยระบุว่าเป็นคำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็น "ข้อมูลเท็จ" (ลิงก์บันทึก)
"โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้แจงว่า คำกล่าวอ้างดังกล่าวข้อมูลตามข้อความดังกล่าวไม่พบความสัมพันธ์ตามข้อมูลทางการแพทย์และไม่มีความเป็นจริงตามข้อมูลทางการแพทย์ หรือข้อมูลทางการแพทย์แผนปัจจุบันที่สนับสนุนตามที่ข้อความกล่าวอ้างถึงแต่อย่างใด จึงเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และเชื่อถือไม่ได้" รายงานระบุ
ดร. ริชาร์ด ซานโตส ประธานวิทยาลัยเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งฟิลิปปินส์ กล่าวว่า แม้ว่าคำกล่าวอ้างในโพสต์จะมีข้อมูลบางส่วนที่ถูกต้อง แต่ก็ทำให้เกิดการเชื่อมโยงที่ผิดพลาดระหว่างโรคหลอดเลือดสมองกับการดื่มน้ำเย็นในสภาพอากาศร้อน
"คำกล่าวอ้างบางส่วนในโพสต์นั้นถูกต้อง น้ำเย็นทำให้หลอดเลือดหดตัว ซึ่งเป็นการตอบสนองทางกายภาพเมื่อสัมผัสกับความเย็น" เขากล่าวกับ AFP
"แต่ไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ยืนยันว่า การดื่มน้ำเย็นเกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมองโดยตรง ไม่ว่าจะเกิดจากหลอดเลือดแดงอุดตันหรือหลอดเลือดแตก"
ดร. ซานโตส ยังกล่าวเสริมด้วยว่า คนเราควรดื่มน้ำเปล่าหากจำเป็นต้องสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงเป็นเวลานาน เนื่องจากเสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำได้ง่าย
"น้ำเย็นอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีอาการป่วยอยู่ก่อนหน้าแล้ว แต่เป็นกรณีที่พบได้ยากมาก ๆ และแทบเป็นไปไม่ได้ที่ร่างกายของคุณจะเกิดปฏิกิริยาเชิงลบจากการดื่มน้ำเย็น" เขากล่าว
สถาบันด้านการแพทย์จอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า การสัมผัสกับความร้อนและความชื้นที่สูงผิดปกติหรือเป็นเวลานานเกินไป "โดยไม่มีการบรรเทาหรือดื่มน้ำอย่างเพียงพอ" อาจส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนได้หลายประเภท เช่น ตะคริว อาการอ่อนเพลีย และโรคลมแดด (heat stroke) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินระดับอันตรายถึงแก่ชีวิต
ขณะที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ที่ปรึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออกมหาวิทยาลัยรังสิต อดีตศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้สัมภาษณ์ระบุว่า การดื่มน้ำเย็นไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดระเบิด ส่วนสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตจากอากาศร้อนมีเพียงอาการของ "ฮีทสโตรก" (heat stroke) เพียงเท่านั้น
ทั้งนี้ ฮีทสโตรก ก็จะมีระยะของการเกิดเช่นเดียวกัน โดยระยะของการเกิดฮีทสโตรกนั้น ร่างกายเราจะดูเหมือนเป็นคนปกติ คือมีสภาพร่างกายที่เย็น หรือผิวหนังมีสภาพเป็นปกติ แต่หากมีการดื่มน้ำเย็นในช่วงเวลาดังกล่าว อาจจะทำให้เกิดอันตราย เพราะอยู่ในระยะที่มีความร้อนในร่างกายที่สูง จนร่างกายมีการหลอกสมองที่ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ว่าอุณหภูมิ 42 องศาเซลเซียส คืออุณหภูมิปกติของร่างกาย ทั้ง ๆ ที่อุณหภูมิปกติของร่างกายควรจะเป็น 37 องศาเซลเซียส แม้ว่าผู้ที่เป็นฮีทสโตรกจะดูภายนอกแล้วปกติ เหมือนไม่มีอาการหิวน้ำ แต่หากมีการให้น้ำเย็นหรือมีการดื่มน้ำเย็น ก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่คำกล่าวที่ว่าการดื่มน้ำเย็นทำให้เส้นเลือดระเบิดนั้น ยังไม่เคยได้ยินมาก่อน และไม่พบหลักฐานของเรื่องดังกล่าวในที่อื่น ๆ แต่อย่างใด