ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

คลิปเก่า...พบโพสต์อ้างคลิปฝูงบินของอิสราเอลหลังโจมตีอิหร่าน


Verify

14 พ.ย. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

คลิปเก่า...พบโพสต์อ้างคลิปฝูงบินของอิสราเอลหลังโจมตีอิหร่าน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1890

คลิปเก่า...พบโพสต์อ้างคลิปฝูงบินของอิสราเอลหลังโจมตีอิหร่าน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หลังกองทัพอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายทางทหารในประเทศอิหร่านเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2567 ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้แชร์คลิปวิดีโอฉบับหนึ่ง พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพฝูงบินของอิสราเอลเดินทางกลับหลังสิ้นสุดภารกิจ แต่ที่จริงแล้ว วิดีโอดังกล่าวถูกบันทึกได้ในประเทศอียิปต์ราวสามสัปดาห์ก่อนอิหร่านจะโจมตีอิสราเอล

"ฝูงบินขับไล่ของ #อิสราเอล กำลังเดินทางกลับจาก#อิหร่าน หลังจากทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศและฐานทัพหลายแห่ง" โพสต์ X เขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ในวันถัดมาหลังอิสราเอลปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถล่มฐานทัพหลายแห่งในอิหร่าน ซึ่งอาจยกระดับสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง หลังสงครามฉนวนกาซายืดเยื้อมานานกว่าหนึ่งปี และเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนมาแล้วหนึ่งเดือน (ลิงก์บันทึก)

อิสราเอลโจมตีตอบโต้อิหร่าน หลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธใส่อิสราเอลเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 เพื่อแก้แค้นที่อิสราเอลสังหารผู้นำทางทหารและผู้บัญชาการของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติที่อิหร่านสนับสนุน

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์ X ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

คลิปวิดีโอในโพสต์เท็จแสดงภาพเครื่องบินหลายลำบินเรียงเป็นแถวรูปตัววี (V) และถูกเผยแพร่พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จลักษณะเดียวกันในภาษาต่าง ๆ รวมถึงภาษาอาหรับ  อินโดนีเซีย และอังกฤษ

แม้กระทั่งเดวิด เอ็ม. ฟรีด์แมน อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอล ก็ได้แชร์คลิปและคำกล่าวอ้างเท็จนี้ในบัญชี X ของเขาด้วย

ขบวนพาเหรดของกองทัพอียิปต์

การค้นหาภาพย้อนหลังทางกูเกิล พบว่าวิดีโอดังกล่าวถูกเผยแพร่ในติ๊กตอกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ซึ่งเป็นระยะเวลาสามสัปดาห์ก่อนที่อิสราเอลจะโจมตีอิหร่าน (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายภาษาอาหรับในวิดีโอแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า "กองทัพอียิปต์"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 (ขวา):
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในโพสต์เท็จ (ซ้าย) และวิดีโอในโพสต์ติ๊กตอกเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 (ขวา)

ผู้ใช้งานติ๊กตอกที่แชร์วิดีโอดังกล่าวยืนยันกับ AFP ว่า เขาเป็นคนถ่ายคลิปดังกล่าวในเมืองอัลโชรุก ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของกรุงไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ ในระหว่างพิธีสำเร็จการศึกษาของโรงเรียนนายร้อยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567

สำนักงานข่าวสารของอียิปต์ระบุตรงกันว่า โรงเรียนนายร้อยในกรุงไคโรได้จัดพิธีสำเร็จการศึกษาในวันดังกล่าว (ลิงก์บันทึก)

"มีการแสดงบินแปรขบวนอันน่าประทับใจในพิธีดังกล่าว โดยมีเฮลิคอปเตอร์ติดธงชาติอียิปต์และตราสัญลักษณ์ทางทหาร รวมถึงโชว์ของฝูงบินจำนวน 19 ลำ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้สำเร็จการศึกษารุ่นที่ 118" คำแถลงในเว็บไซต์ระบุ

ผู้สื่อข่าวภาษาอาหรับของ AFP ได้ดูวิดีโอดังกล่าวและยืนยันว่า ได้ยินเสียงชายคนหนึ่งตะโกนเป็นภาษาอาหรับด้วยสำเนียงอียิปต์ว่า "ขอพระเจ้าอวยพร" ในขณะที่เครื่องบินบินผ่านไป

และคาดว่าชายคนเดียวกันพูดต่อว่า "อินทรีผงาดฟ้า"

นอกจากนี้ ในคลิปวิดีโอยังสามารถสังเกตุเห็นป้ายทะเบียนรถยนต์คันหนึ่งซึ่งมีลักษณะตรงกับป้ายทะเบียนรถในประเทศอียิปต์ อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ worldlicenseplates.com (ลิงก์บันทึก)

ภาพถ่ายหน้าจอของคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นป้ายทะเบียนรถคันหนึ่ง (ซ้าย) และป้ายทะเบียนรถในประเทศอียิปต์ที่มีลักษณะสอดคล้องกัน (ขวา)

AFP ไม่พบรายงานอย่างเป็นทางการว่ากองกำลังอิสราเอลบินผ่านน่านฟ้าของอียิปต์หลังจากโจมตีอิหร่าน

อิรักซึ่งมีพรมแดนติดกับอิหร่าน ได้ออกมาประณามกองทัพอิสราเอลที่บินผ่านน่านฟ้าของอิรักในปฏิบัติการโจมตีอิหร่าน โดยทางการอิรักระบุว่าได้ส่งจดหมายประท้วงการกระทำดังกล่าวถึงอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ รวมถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ลิงก์บันทึก)

ข้อมูลจาก AFP

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เครื่องบินรบเครื่องบินขับไล่เครื่องบินอิสราเอลข่าวปลอมหลอกลวงอียิปต์
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด