ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องน่ารู้ “ทำเนียบขาว” สำนักงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ


รอบโลก

6 พ.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

เรื่องน่ารู้ “ทำเนียบขาว” สำนักงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1853

เรื่องน่ารู้ “ทำเนียบขาว” สำนักงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

ต้อนรับประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีอิทธิพลที่สุดประเทศหนึ่งของโลก การเมืองของสหรัฐมีอิทธิพลต่อโลก ส่วนจุดเริ่มต้นทางการเมือง คงหนีไม่พ้นสถานที่ทำงานของประธานาธิบดี รวมถึงทีมที่ปรึกษา หรือที่เรียกกันว่า “ทำเนียบขาว” (The White House) 

สถานที่แห่งนี้จึงมีความสำคัญทั้งในเชิงการเมืองการปกครอง สัญลักษณ์และคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ Thai PBS ชวนทุกคนไปสำรวจ “ทำเนียบขาว” เรื่องอะไรที่คุณไม่เคยรู้บ้าง

ก่อนมีทำเนียบขาว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่ที่ไหน ?

ปัจจุบันทำเนียบขาวตั้งอยู่ที่เลขที่ 1600 ถนนเพนซิลเวเนีย วอชิงตัน ดี.ซี. แต่ในอดีต มีหลายสถานที่ที่ถูกใช้เป็นที่พำนักของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาก่อน

เริ่มจาก Samuel Osgood House และมีชื่อเรียกกันว่า Walter Franklin House ตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก โดยถือเป็นที่พำนักอย่างเป็นทางการแห่งแรกของประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ นั่นคือ จอร์จ วอชิงตัน (President George Washington)
จากนั้นจึงมีการย้ายไปอีกหลายแห่ง ก่อนจะมีการวางแผนสร้างทำเนียบขาวในปัจจุบันขึ้น โดยประธานาธิบดีคนแรกที่ได้เข้ามาทำงานในทำเนียบขาวแห่งนี้ก็คือ ประธานาธิบดี จอห์น อดัม (President John Adams) ประธานาธิบดีคนที่ 2 ของสหรัฐอเมริกานั่นเอง

ทำไมถึงชื่อ “ทำเนียบขาว (The White House)” ?

เดิมทีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการของทำเนียบขาว คือ President’s House แต่ด้วยลักษณะภายนอกที่ดูเป็นสีขาวทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่สีขาวจากการทาสี หากแต่เดิมที อาคารแห่งนี้เป็นสีของปูนขาว (lime-based whitewash) ที่นำมาใช้ทาเคลือบบนผนังหินทรายเพื่อปกป้องจากความหนาวเย็น อันเป็นเทคนิคการก่อสร้างในยุคนั้น

จึงทำให้ในเวลาต่อมา ชื่อ The White House ถูกใช้เป็นชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการจากชาวเมือง ก่อนที่จะถูกใช้เป็นครั้งคราวในหนังสือพิมพ์ กระทั่งในปี 1901 George B. Cortelyouลขาธิการของประธานาธิบดี ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (President  Theodore Roosevelt) ได้ยื่นเรื่องให้มีการเปลี่ยนให้ “The White House” กลายเป็นชื่ออย่างเป็นทางการ และถูกใช้ในเอกสารราชการจนถึงทุกวันนี้

“ทำเนียบขาว” ถูกสร้างขึ้นโดยทาสผิวสี

ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐฯ เผยว่า ทำเนียบขาวมีการก่อสร้างที่ใช้เวลายาวนานถึง 8 ปี นับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1792 - 1800 ในช่วงแรกของการก่อสร้าง มีความพยายามใช้คนงานจากยุโรป แต่กลับไม่ได้รับความสนใจมากนัก จึงได้มีการจ้างแรงงานชาวแอฟริกา-อเมริกัน ทั้งที่เป็นทาส และเป็นแรงงานอิสระ มารับผิดชอบก่อสร้างสถานที่แห่งนี้ โดยทางการสหรัฐฯ ได้จ่ายเงินให้กับเจ้าของทาสที่ให้ใช้แรงงานอีกที

ทั้งนี้ การก่อสร้างทำเนียบขาว ใช้แรงงานที่ทำงานร่วมกัน ทั้งทาสผิวสี แรงงานผิวขาวท้องถิ่น รวมถึงชาวยุโรป

ทำเนียบขาว (The White House)

“ทำเนียบขาว” มีทั้งหมดกี่ห้อง ? 

ทำเนียบขาวมีการก่อสร้างและปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยเพื่อขยับขยายหลายครั้ง จนปัจจุบันมีพื้นที่กว่า 55,000 ตารางฟุต ตัวอาคารมีทั้งหมด 6 ชั้น โดยมีจำนวนห้องทั้งหมดรวมแล้ว 132 ห้อง (มี 16 ห้องเป็นห้องพักสำหรับครอบครัวและแขกของประธานาธิบดี) ส่วนห้องครัวสามารถเสิร์ฟอาหารค่ำเต็มรูปแบบเพื่อต้อนรับแขกได้สูงสุด 140 คน

นอกจากนี้ยังมีข่าวลือถึง “ห้องลับ” ซึ่งถูกเปิดเผยในเวลาต่อมา โดยสมาคมประวัติศาสตร์ทำเนียบขาว (White House Historical Association) ที่ระบุว่า มีเพียงช่องทางลับเท่านั้นที่ใช้เพื่อเป็นทางหลบหนีในกรณีฉุกเฉิน เพื่อไปยังห้องหลบภัยทางด้านปีกตะวันออกของอาคาร

ทำเนียบขาว สัญลักษณ์แห่งสหรัฐฯ กับโลกแห่งภาพยนตร์

ที่ผ่านมา ทำเนียบขาว เคยปรากฏอยู่ในภาพยนตร์หลายต่อหลายเรื่อง ถึงตอนนี้มีจำนวนมากกว่า 84 เรื่อง ยกตัวอย่าง ฉากระเบิดทำเนียบขาว อันเป็นเอกลักษณ์ที่สุดหนึ่งในโลกภาพยนตร์ มาจากหนังเรื่อง Independence day หรือ ID4 จากปี 1996 ที่มีฉากจานบินขนาดใหญ่ของมนุษย์ต่างดาว บินมาอยู่เหนือทำเนียบขาว ก่อนจะยิงลำแสงใส่ เกิดเป็นไฟปะทุระเบิดจากหน้าต่าง โดยฉากดังกล่าวนั้นไม่ได้ใช้ CGI แต่มีเบื้องหลังคือโมเดลทำเนียบขาวขนาด 1 ต่อ 24 และสร้างระเบิดจริง ๆ พร้อมถ่ายทำด้วยกล้องสโลโมชัน

นอกจากการปรากฏภาพอยู่ในภาพยนตร์อยู่เป็นประจำ ยังเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่า ทำเนียนขาว มักกลายเป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่มีฉากแอ็คชันถูกทำลาย อยู่ในภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงสถานที่สำคัญ ๆ อย่าง เทพีเสรีภาพ (The Statue of Liberty) สะพานโกลเด้นเกจ (Golden Gate Bridge) หอนาฬิกาบิ๊กเบน (Big Ben) และหอไอเฟล (Eiffel Tower)

ไม่ว่าจะอยู่ในบริบทใด ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ทำเนียบขาว” คือสถานที่ที่ผู้คนทั่วโลกจดจำ และเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีประชาธิปไตยแห่งหนึ่งของโลก


อ้างอิง 

  • history.com
  • whitehouse.gov

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ทำเนียบขาวWhite Houseประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาประธานาธิบดีสหรัฐฯเลือกตั้งสหรัฐฯ
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด