“Pepper” แมว (Cat) สีดำน่ารัก สมควรได้รับรางวัลขนานใหญ่ เมื่อเจ้าตัวคาบหนูตายมาวางบริเวณเท้าของ John Lednicky ซึ่งเป็นเรา ๆ อาจจะวิ่งกรี๊ดแตกเสียงหลง แต่กลับกลายเป็นโอกาสสู่การค้นพบไวรัสชนิดใหม่ “jeilongvirus” เนื่องจากเจ้าของ Pepper สังเกตเห็นร่องรอยบริเวณผิวหนังของหนูคล้ายโดนฟันแทะ
ไม่รู้โชคชะตาหรือฟ้าลิขิตเพราะ John Lednicky เจ้าของน้องเหมียว Pepper ไม่ใช่ตาสีตาสาธรรมดาแต่เป็นศาสตราจารย์วิจัยที่มหาวิทยาลัยฟลอริดา (University of Florida) ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส เมื่อสังเกตเห็นผิวหนังของหนูคล้ายโดนฟันแทะ จึงเกิดความสงสัยก่อนได้ทำการวิจัยเพื่อสืบหาว่าสัตว์ฟันแทะเป็นพาหะของไวรัสโรคฝีดาษม้าหรือไม่ ซึ่งเป็นไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดรอยโรคบนผิวหนังที่เป็นเอกลักษณ์ในกวาง
อย่างไรก็ตาม เมื่อ Lednicky และทีมของเขาทำการทดสอบหนู กลับไม่พบไวรัสโรคฝีดาษม้าแต่อย่างใด แต่กลับพบว่าหนูตัวดังกล่าวติดเชื้อ “jeilongvirus”
ทั้งนี้ ไวรัสสกุล Jeilongvirus ไม่เคยถูกพบในสหรัฐอเมริกามาก่อน แต่เคยพบในอเมริกาใต้ ยุโรป แอฟริกา และเอเชียเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไวรัสจะแพร่เชื้อไปยังสัตว์ฟันแทะ แต่ก็สามารถแพร่เชื้อไปยังค้างคาวและแมวได้เช่นกัน (ไม่ต้องกังวลเจ้า Pepper ไม่ป่วย)
สำหรับการค้นพบครั้งนี้ ไม่เพียงแต่บรรดานักวิจัยและ Pepper จะค้นพบ Jeilongvirus เป็นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ยังเป็นครั้งแรกของโลกด้วย เนื่องจากการทดสอบทางพันธุกรรมเผยให้เห็นว่า Jeilongvirus มีความแตกต่างจาก Jeilongvirus ชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน โดย Jeilongvirus ชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “Gainesville rodent jeilong virus 1” หรือ GRJV1
Emily DeRuyter ผู้เขียนรายงานการค้นพบนี้ก่อนเผยแพร่งานวิจัยในวารสาร Pathogens กล่าวว่า การค้นพบนี้สะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักรู้ว่าไวรัสหลายชนิดที่เราไม่รู้จัก แพร่กระจายอยู่ในสัตว์ที่อาศัยอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ และแน่นอนว่าหากเราตรวจสอบ เราจะค้นพบไวรัสอีกมากมาย
สำหรับ “Jeilongvirus” จัดอยู่ในกลุ่มไวรัสที่ใหญ่กว่า “พารามิกโซไวรัส” (ไวรัสที่มีอนุภาคขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นทรงกลมหรือทรงกลมไม่สม่ำเสมอ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 150 - 300 นาโนเมตร) ซึ่งสามารถแพร่กระจายระหว่างสปีชีส์ได้ เมื่อไวรัสเคลื่อนตัวไปยังโฮสต์ใหม่ และทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจในมนุษย์ ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้นำเชื้อไวรัส GRJV1 ไปทดลองในเซลล์ของสปีชีส์ต่าง ๆ เพื่อดูว่าไวรัสดังกล่าวมีศักยภาพที่จะแพร่เชื้อแบบเดียวกันได้หรือไม่
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : mdpi, iflscience
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech